Quick MBA for SMEs จุฬาฯ แนะทางรอดธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 รวบรัดและได้ผลจริง

สำเร็จด้วยดีกับ Quick MBA for SMEs โครงการสร้างสรรค์เพื่อสังคมจากจุฬาฯ เสิร์ฟความรู้ถึงบ้านให้ผู้ประกอบการSMEs 4 ประเภทธุรกิจ “อาหาร โรงแรมและที่พัก สุขภาพ และแฟชั่น” ปรับตัวและอยู่รอดในวิกฤตโรคโควิด-19  รับชมรับฟังย้อนหลังเพื่อเสริมพลังธุรกิจได้แล้ววันนี้

วิกฤตโรคโควิด-19 ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจ เช่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีมากกว่า 90% ของธุรกิจ   ในบ้านเราได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง หลายรายต้องปิดตัวลงเนื่องจากประสบภาวะขาดทุน  ไม่อาจแบกรับค่าใช้จ่ายได้

แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส เจ้าของธุรกิจจำนวนไม่น้อยเริ่มปรับตัวและประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด และอยู่ดี ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์ ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการเหล่านี้ได้มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังหาทางออกให้กับธุรกิจใน Quick MBA for SMEs โครงการอบรมความรู้ทางธุรกิจฟรี!! ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จัดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

Quick MBA for SMEs เสริมความรู้สู่ทางรอดจากโควิด-19

โครงการอบรม Quick MBA for SMEs จัดขึ้นจากดำริของศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ตามวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม (Innovations for Society)

“เมื่อใดที่สังคมและประเทศชาติมีปัญหา จุฬาฯ มีหน้าที่หาคำตอบ เช่นในเวลานี้ที่คนไทยกำลังเผชิญปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนถูกเลิกจ้าง ธุรกิจไม่มีลูกค้า โครงการนี้จึงหวังจะมีส่วนช่วยเสริมความรู้เพื่อช่วยแก้จนให้ภาคธุรกิจ SMEs”  ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

โครงการ Quick MBA for SMEs ในปีนี้เป็นการสานต่อความสำเร็จของโครงการอบรมความรู้ด้านบริหารธุรกิจ Quick MBA from Home ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ริเริ่มขึ้นครั้งแรก            ในปี 2563 เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก คราวนั้น โครงการได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย   ชั้นนำระดับโลก 4 แห่งคือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สแตมฟอร์ด เคมบริดจ์ และออกซ์ฟอร์ด ส่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและบริหารธุรกิจมาเป็นวิทยากร โครงการอบรมครั้งแรกได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้เข้ารับชมทาง Facebook กว่า 4 แสนครั้ง และมีการแชร์ออกไปมากกว่า 4,000 แชร์

รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ผู้ริเริ่มโครงการ Quick MBA for SMEs กล่าวถึงการอบรมในปีนี้ว่า “สถานการณ์โควิด-19 ปีนี้รุนแรงกว่าเดิม การอบรมให้ความรู้ทางด้านธุรกิจที่สั้น กระชับและได้ผลจึงยิ่งจำเป็น โครงการอบรม Quick MBA for SMEs : WeToWe Market จุฬาฯ แก้วิกฤตพิชิต COVID-19 เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 เราเน้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ได้แนวคิดเกี่ยวกับกลยุทธ์การบริหารธุรกิจใหม่ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สร้างความอยู่รอดภายใต้ภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์     ไม่ปกติ”

ความรู้ 4 ธุรกิจ SMEs โดยวิทยากรแถวหน้า

Quick MBA for SMEs จัดขึ้นสัปดาห์ละครั้ง ทุกวันจันทร์ เวลา 18.00 – 20.00 น. โดยจัดต่อเนื่อง       4 สัปดาห์ ทุกวันจันทร์ ตั้งแต่ 26 กรกฎาคม –16 สิงหาคม 2564ทางZoom และสดทางเพจ Facebook :     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายพันธมิตร โดยมีวิทยากรที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบการจากธุรกิจ SMEs    4 ประเภทคือ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ธุรกิจสุขภาพ และธุรกิจแฟชั่น มาเล่าสู่กันฟังถึง  แนวทางการแก้ปัญหาและหาทางรอดของธุรกิจในสถานการณ์โควิด-19 ขมวดปมด้วยแนวคิดเชิงวิชาการโดย รศ.ดร.วิเลิศ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ

วิทยากรรับเชิญ อาทิ คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงศ์ CEO เบทาโกร (นิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ) ดร.ลักขณา ลีลายุทธโยธิน กรรมการและอดีต CEO เซเรบอส แปซิฟิค (นิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ) คุณปิลันธนี สุวรรณบุบผา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย (นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย ฯลฯ

“วิทยากรแต่ละท่านมาจากหลากหลายธุรกิจแต่ทุกคนมีมุมมองที่ตรงกัน แม้วิกฤตครั้งนี้จะทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แต่มันคือโอกาสที่ธุรกิจ SMEs จะได้ลดต้นทุนในการทำงานหรือลดตำแหน่งงานบางตำแหน่งที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่เราไม่เคยมองมาก่อน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ งานด้านสื่อสารองค์กร บริหารแบรนด์และนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาฯ ผู้รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการโครงการอบรม Quick MBS for SMEs กล่าว

SMEs ควรใช้ความเล็กของธุรกิจให้เป็นประโยชน์ ผศ.ดร.เอกก์ กล่าวเสริม “ให้ทดลองทำธุรกิจใหม่ๆ ที่ลงทุนไม่มากหากล้มจะได้ไม่เจ็บมาก ข้อดีของ SMEs คือปรับตัวได้เร็ว อย่าเสียเวลาวางแผน ขอให้ใช้ความเร็วให้เป็นประโยชน์ ลองทำในสิ่งที่อยู่นอกกรอบโดยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญ อย่าจับลูกค้ากลุ่มใหญ่ ให้จับกลุ่มลูกค้ากลุ่มเล็กๆ”

แม้โครงการอบรม Quick MBA for SMEs แต่ละครั้งจะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง แต่ก็อัดแน่นไปด้วยความรู้และหลักการที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งยังเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังฟรีและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากรรับเชิญโดยตรง Quick MBA for SMEs ทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมาจึงประสบความสำเร็จอย่างดีด้วยยอดผู้ชมกว่า1 แสนวิว และมีการแชร์มากกว่า 1,000 ครั้ง

“ดีใจที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากนิสิตเก่าจุฬาฯ และผู้ประกอบการในภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก นำเสนอความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ผ่านแพลตฟอร์มที่จุฬาฯ จัดขึ้น   ทำให้ทุกคนได้มาร่วมมือกันแก้จนให้กับธุรกิจ SMEs” ผศ.ดร.เอกก์กล่าวด้วยความปลื้มใจ

โครงการอบรม Quick MBA โดยจุฬาฯ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะคงยังมีต่อไปเพื่อช่วยภาคธุรกิจและสังคมฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน ส่วนประเด็นหัวข้อในปีหน้าจะเป็นเรื่องใด รศ.ดร.    วิเลิศ กล่าวให้ความหวังว่าน่าจะเป็นเรื่องการฟื้นฟูกิจการให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

ผู้ที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตทางด้านธุรกิจและจิตใจ ต้องการแรงบันดาลใจและพลังสมองเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19  สามารถติดตามรับชมรับฟังโครงการ Quick MBA for SMEs ย้อนหลังได้ทาง Facebook: Chulalongkorn University และทางเพจ Facebook ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย: ทปอ / CBSChula / CBS Academy / จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส / Brand Buffet

Quick MBA for SMEs ทางรอดธุรกิจอาหาร 

https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity/videos/352907972968958/

Quick MBA for SMEs ทางรอดธุรกิจโรงแรมและที่พัก

https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity/videos/879719802675510/

Quick MBA for SMEs ทางรอดธุรกิจสุขภาพ 

https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity/videos/633332701389296/

Quick MBA for SMEs ทางรอดธุรกิจแฟชั่น 

https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity/videos/1222280298195824/

………………………..

ที่มา-ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ

สุรเดช พันธุ์ลี  ผู้ส่งข่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *