รมว.ศธ. ย้ำปรับแก้โครงสร้าง ศธ.ให้น้อยที่สุด

ล่าสุด เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ  เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้แต่งตั้งตนเป็นประธานคณะทำงานพิจารณากฎหมายลำดับรองที่สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..นั้น เมื่อเร็วๆนี้ คณะทำงานฯ ได้พิจารณากฎหมายลำดับรอง ที่เป็นกฎหมายหลัก 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา

ซึ่งก่อนหน้านี้ อดีต รมว.ศธ.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้แต่ตั้งคณะทำงานศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ไว้จำนวน 10 คณะ โดยในส่วนการปรับปรุง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นเจ้าภาพหลัก นั้น ได้มีการพิจารณาร่างแก้ไขในเบื้องต้นไปบ้างแล้ว โดยคณะทำงานฯ ได้ตั้งข้อสังเกตให้ไปปรับปรุงในเรื่องขององค์คณะบุคคล และอำนาจการบริหารงานบุคคลบางประการมาอีกครั้ง

เลขาธิการ สกศ. กล่าวอีกว่า ในส่วนของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้มอบหมายให้ ปลัด ศธ. ดร.สุภัทร จำปาทอง และกรรมการอีกชุดหนึ่ง ไปดูเรื่องโครงสร้างของ ศธ. ซึ่งรมว.ศธ.ได้มอบนโยบายเป็นหลักการไว้ว่า ในส่วนของโครงสร้างศธ. ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงมาก เพื่อให้กระทบน้อยที่สุด หรือไม่กระทบได้ยิ่งดี เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจะกระทบกับบุคลากรจำนวนมาก และจะส่งผลต่อกระบวนการจัดการศึกษา

โดย รมว.ศธ. มีนโยบายการจัดการศึกษาที่เน้นไปที่คุณภาพของผู้เรียน ดูเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนของครูในโรงเรียน การดูแลความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ การปรับปรุงเรื่องหลักสูตร ดูแลเรื่องพัฒนาการอาชีวศึกษา การศึกษานอกโรงเรียนของผู้สูงวัย การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาของเอกชน และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้ จะทำให้การเรียนออนไลน์มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เป็นต้น

ดร.อำนาจ กล่าวต่อว่า คณะทำงานฯ ยังได้หารือถึงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของ รมว.ศธ. มีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ไม่เป็นส่วนราชการ ซึ่งในมาตรา 105 ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ระบุว่า ในวาระเริ่มแรกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ใช้บังคับ ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาหลักสูตรในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ดังนั้น คณะทำงานฯ จะประสานงานกับ สสวท.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก่อนหารือ รมว.ศธ.ว่าอาจจะออกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ซึ่งจะมีการหารือในเร็วๆ นี้

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

– https://www.facebook.com/AtHearNews/?_rdc=1&_rdr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *