สรุปความเห็น ประเด็น “วิชาพระพุทธศาสนา”

กลายเป็นประเด็นที่ชาวโซเชียลออกมาเพื่อแสดงความคิดเห็น กับรายวิชาพระพุทธศาสนา หนึ่งในหมวดวิชาสังคมศาสตร์ ที่ เฟซบุ๊ค Eduzones และ Wiriyah Eduzone ได้เปิดพื้นที่ตั้งโพสต์คำถามว่า วิชาพระพุทธศาสนา ควรไปต่อ หรือ พอแค่นี้ ซึ่งบางส่วนยังมองว่า ควรไปต่อ เพราะวิชาพระพุทธศาสนาถือเป็นรากฐานของการทำความดี และเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เด็กไทยได้ศึกษา แต่บางส่วนกลับมองว่าเป็นการบังคับหรือยัดเยียดให้เด็กเชื่อในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เลือก อีกทั้งยังเห็นว่า บ้านคือแหล่งสอนศาสนาไม่ใช่ที่โรงเรียน เราจึงได้รวบรวมและจัดอันดับความเห็นจากการแสดงความคิดเห็นของโพสต์คำถามไว้ดังนี้

อันดับ 1 ไปต่อได้แต่ควรปรับหลักสูตร

วิชาพระพุทธศาสนายังถือเป็นแก่นสำคัญของการนำมาใช้เพื่อการดำรงชีวิต หากเราไม่สอนในสิ่งที่ใช้สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ เวลาเราเจอความทุกข์ เจอปัญหาในชีวิต เราอาจจะหาทางออกจากปัญหานั้นได้ยาก และอาจใช้ทางออกในทางที่ผิด เราจึงควรปรับปรุงหลักสูตรเนื้อหา ไม่จำเป็นต้องมีการตัดเกรด การสอบวัดระดับความรู้ ควรเรียนสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ของทุกศาสนาหลัก เพื่อให้เข้าใจมุมมองของกันและกัน โดยไม่ต้องลงลึกศาสนาใดเป็นพิเศษและควรเปลี่ยนไปเป็นกิจกรรมรายสัปดาห์แทน ให้สิทธิในการเลือกว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ มีกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจแก่นักเรียน เช่น คำสอนที่อาจคล้ายคลึงกับปรัชญา ให้นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ เน้นการฝึกจิต สมาธิ ปฏิบัติ ภาวนา ก็จะช่วยให้มีแนวทางในการดำเนินชีวิต แม้จะเจออุปสรรคที่มีทุกข์ คราใด ก็สามารถก้าวผ่านมันไป

อันดับ 2 พอแค่นี้

ศาสนา ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล การสอนศาสนาจึงควรเป็นเรื่องของที่บ้านไม่ใช่โรงเรียน ในโรงเรียนควรเป็นการสอนหน้าที่ความเป็นพลเมือง ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือหากสอนศาสนาก็ควรสอนศาสนาเชิงเปรียบเทียบ ไม่ควรเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาบังคับให้คนต่างศาสนาเรียนด้วย ถ้าจะบอกว่าประเทศไทยมีชาวพุทธมากที่สุด จึงต้องสอน ก็เท่ากับเราไม่เคารพสิทธิการนับถือศาสนาของคนอื่น แต่ความรู้พื้นฐานและความเชื่อของ”ทุกศาสนา”ยังจำเป็นและควรมีให้นักเรียนได้ศึกษาความรู้ในวิชาสังคมศึกษา เหตุผลเพราะ ศาสนาทุกศาสนาไม่เคยเข้าไปในหัวใจของมนุษย์จากหนังสือ แต่ศาสนาจะเข้าไปในหัวใจมนุษย์ ก็ต่อเมื่อถึงช่วงเวลาที่มนุษย์ต้องการคำตอบของชีวิต เมื่อนั้นพวกเขาจึงจะตามหาศาสนาที่ให้คำตอบพวกเขาเอง การเจาะจงให้เด็กศึกษาศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง มีนัยยะทางการปกครองเชิงรัฐศาสนาอยู่ ซึ่งเราไม่ใช่ ถึงจะเป็นการเจาะจง หรือ ยัดเยียดอย่างไร ก็จะไม่ทำให้เกิดประโยชน์

อันดับ 3 ไปต่อ

วิชาพุทธศาสนาให้แนวคิดและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญาเพราะ.ให้หลักความจริงแห่งชีวิต นับเปีนวิทยาศาสตร์ทางจิตและวิญญาณ ที่ว่าด้วยความทุกข์และการดับทุกข์ ที่พิสูจน์และให้ผลได้ไม่จำกัดกาลหรือยุคสมัย ยิ่งปัจจุบันยิ่งจำเป็นมากขึ้น เพราะชีวิตมีความเครียดและความทุกข์มากขึ้น แต่จุดอ่อนในการเรียนพุทธศาสนา คือการจัดทำหลักสูตรที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็น และความสัมพันธ์กับชีวิตจริง ๆ ตลอดทั้งวิธีสอนและสี่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ การเลิกสอนสิ่งที่ดีมีคุณค่าแห่งชีวิต เท่ากับการจัดการศึกษาที่ขาดแก่น ซึ่งที่ผ่านมาทั้งเรียนทั้งอบรมบ่มเพาะเพื่อหวังให้เป็นคนดีแต่ยังมีคนที่คดโกง ลักขโมย หากเอาวิชาเหล่านี้ออก หรือลดบทบาทความสำคัญ เด็ก ๆ จะเติบโตไปในทิศทางใด เราจึงควรต้องรักษาเอาไว้อย่างยิ่งและเพิ่มการปฏิบัติเข้ามาด้วย

อันดับ 4 ไปต่อได้แต่ควรให้เลือกอย่างเสรี

ในยุคปัจจุบันการเลือกนับถือศาสนา หรือไม่นับถือศาสนาเป็นสิ่งที่เปิดกว้าง เด็กที่จะเข้าไปสู่สถานศึกษา หรือระบบการศึกษา ไม่ได้มีแค่เด็กพุทธ จึงควรเปิดกว้างให้เป็นวิชาทางเลือก หรือให้เป็นวิชาศาสนาและปรัชญา  เพื่อฝึกให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ และเลือกที่จะยึดถือปฏิบัติ ตามความเชื่อของเด็กเอง ทุกศาสนา จะช่วยจรรโลงจิตใจมนุษย์ จึงควรค่าแก่การศึกษา นอกจากนี้การเรียนศาสนาเป็นหลัก โดยไม่มีปรัชญามาประกอบ จะทำให้เด็กมีความคิดที่ถูกปิด มองอะไรเป็นขาวดำ อาจก่อให้เป็นปัญหา เราจึงควรปรับเป็นปรัชญา เพื่อสอนให้คิด มองเห็นความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเข้าใจ ที่มา และตรรกะต่าง ๆ โดยระดับแรกควรให้เรียนรู้ว่าโลกใบนี้มีศาสนาอะไร ระดับต่อไป ให้เลือกเรียนตามความสนใจโดยตัวครูเป็นหลัก อาจจะเชิญพระมาเทศน์ ครูสอนศาสนาอิสลามมาบรรยาย นักบวชมาเป็นวิทยากรพิเศษ ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนมีทางเลือก นักเรียนอาจจะศึกษาหลายๆความเชื่อ ศาสนาที่หลากหลาย เพราะศาสนาเป็นปรัชญาที่เริ่มจากคำถามเบื้องต้นของชีวิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *