สรุปความเห็น ประเด็น “วิชาลูกเสือ-เนตรนารี”

ถือเป็นประเด็นการศึกษาที่น่าสนใจ เมื่อ เฟซบุ๊ค Eduzones และ Wiriyah Eduzone ได้เปิดพื้นที่ตั้งโพสต์ด้วยคำถามว่า วิชาลูกเสือ-เนตรนารี ควรไปต่อ หรือ พอแค่นี้ ซึ่งบางส่วนมองว่า ควรไปต่อ เพราะกระบวนการเรียนการสอนของ ลูกเสือ-เนตรนารี เป็นการฝึกระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา และการช่วยเหลือผู้อื่น แต่บางส่วนกลับมองว่า หลักสูตรและการแต่งกายนั้นล้าสมัย เรียนไปเอาไปใช้อะไรไม่ได้ ควรเหลือไว้ให้เป็นเพียงวิชาชุมนุมก็พอ เราจึงได้รวบรวมและจัดอันดับความเห็นจากการแสดงความคิดเห็นของโพสต์คำถามไว้ดังนี้

อันดับ 1 ไปต่อได้แต่ควรปรับหลักสูตร-เครื่องแต่งกาย

วิชาลูกเสือ-เนตรนารี หากศึกษาให้ถึงแก่นจริงของเนื้อหาแล้วคือการสอนทักษะการเอาตัวรอด การใช้ชีวิต หากปราศจากซึ่งเทคโนโลยี วัตถุประสงค์ของวิชานี้จะช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคสมัยนี้ของเด็ก ๆ ซึ่งจะต้องช่วยเหลือตนเองในภาวะเงินเฟ้อ ไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดี ควรปรับการเรียนการสอนให้มีในเรื่องของการเงิน การลงทุน เข้ามาเสริม และควรปรับเนื้อหาตามยุคสมัย เพราะหลักสูตรปกติตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งผ่านมาแล้ว 14 ปี เนื้อหายังคงล้าสมัย แต่ยังต้องเรียนตามหลักสูตร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าห้าปีที่ผ่านมาโลกหมุนเร็วมาก มีอะไรต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ควรพัฒนาหลักสูตรให้นำไปใช้ได้ในชีวิตจริง เช่น เรื่องปั๊มหัวใจ ผายปอด ปฐมพยาบาล รู้จักเอาตัวรอดเบื้องต้นจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้แล้วยังควรฝึกทักษะ ความสามัคคี ระเบียบวินัย บำเพ็ญประโยชน์ ฝึกความเสียสละ เข้มแข็งอดทน ให้เด็กรู้จักใช้ และควรลดค่าใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็นลง อย่าง เครื่องแบบ เครื่องแต่งกาย ควรสวมใส่เพียง หมวก ผ้าพันคอ และชุดกีฬา เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองลงแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เด็กสะดวกสบายต่อการทำกิจกรรม กระฉับกระเฉง ถนัด และคล่องแคล่ว มากกว่าการสวมใส่กระโปรงหรือชุดที่เครื่องแบบเต็มยศในลักษณะแบบเดิม ๆ

อันดับ 2 ไปต่อได้แต่ควรให้เลือกอย่างเสรี

วิชาลูกเสือควรจัดให้เป็นวิชาเลือกเสรีให้กับเด็ก ๆ ให้เลือกเรียนตามสิ่งที่ชอบและถนัดหรือแม้แต่ไม่ควรจะต้องมาบังคับว่าครูทุกคนต้องสอนวิชาลูกเสือ โดยสามารถจัดเป็นกิจกรรมชมรมเฉพาะกลุ่มสำหรับคนที่สนใจ ยกตัวอย่างหลักสูตรของต่างประเทศ นานาชาติที่ยังมีกิจกรรมลูกเสืออยู่ และมีงานชุมนุมลูกเสือโลกจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี World Scout Jamboree ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานชุมนุมแต่ละครั้งหลายหมื่นคน ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 20 ในปี ค.ศ. 2002 – 2003 จัดขึ้นที่ หาดยาว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยส่งเสริมมิตรภาพระหว่างเยาวชนลูกเสือให้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกผิวพรรณ เชื้อชาติและศาสนา นับว่าเป็นกิจกรรมที่ยังคงมีประโยชน์และมีความสำคัญด้วยประการทั้งปวง เหตุนี้จึงควรมีต่อไป เพราะเนื้อหาความรู้ที่เด็ก ๆ จะได้จากวิชาลูกเสือ-เนตรนารี ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่หลักสูตรการเรียนการสอน และ mindset ของผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับวิชานี้ต้องปรับทัศนคติใหม่ และควรปล่อยให้วิชานี้ เป็นทางเลือกแบบอิสระของเด็กจริง ๆ กระทรวงต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุม ไม่ให้ผู้มีอำนาจในโรงเรียน สามารถบังคับเด็กได้ ปล่อยให้เป็นวิชาเลือกอิสระ เหมือนเป็นกิจกรรมชมรมของเด็ก ช่วงในบ่ายวันศุกร์ เช่น ใครชอบเตะบอลให้ไปเตะบอล ใครชอบวาดรูปก็ไปฝึกวาดรูป ใครชอบเล่นดนตรีก็ไป ส่วนคนที่ชอบฝึกทักษะแบบลุยๆ หรือ อยากได้รับรู้สึกดี ๆ จากการได้ช่วยเหลือผู้อื่น ก็มาเรียนลูกเสือจะก่อให้เกิดประโยชน์และเกิดความสนุกต่อตัวเด็ก ๆ เอง

อันดับ 3 ไปต่อ

ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ถือเป็นกิจกรรมที่เน้นทักษะชีวิต ไม่ได้มีแต่นันทนาการกันอย่างที่เข้าใจกัน การจัดอบรมสัมมนาต่าง ๆ คนที่จัดใช้กิจกรรมลูกเสือมาจัด แม้นแต่กู้ภัย ที่เอาตัวรอดในเหตุการณ์ ก็สามารถนำทักษะในส่วนนี้มาใช้ได้หรือแม้นแต่การไปเข้าแคมป์ปิ้ง นอนเต้นท์ ประกอบอาหารก็ใช้ทักษะตรงนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมช่วยผ่อนคลาย อย่างรอบกองไฟ ประยุกนันทนาการ เพื่อให้เด็กไม่เครียด ละลายพฤติกรรมไปในตัว ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ฝึกฝนและเข้าสังคมได้ อยู่ในโลกของความเป็นจริง ฝึกใช้ชีวิตในโลกภายนอก มีประสบการณ์ชีวิตตามช่วงอายุแต่ละวัย ว่าผ่านแบบนี้มา มันมีประโยชน์อย่างไร หากเรานำเอาจากที่เราได้เรียนรู้มาใช้ประโยชน์ เช่นการมัดเชือก แบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน การหุงอาหารแบบบ้าน เอาตัวรอด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์ แต่ควรปรับที่ตัวครูผู้สอนให้เห็นความสำคัญและปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ เพราะภาพที่เด็กเห็นคือการรวมกลุ่มดื่มกินที่ไม่มีสาระประโยชน์ จึงทำให้กิจกรรมที่ดีดูด้อยค่า หลักการและวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมวิชาลูกเสือ/เนตรนารีจึงไม่มีข้อใดที่ควรถูกยกเลิก อยู่ที่การปฏิบัติของครูผู้สอนที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

อันดับ 4 พอแค่นี้

วิชาลูกเสือ-เนตรนารี ควรถูกยกเลิกไป เนื่องจากในบางครั้งตัวครูผู้สอนยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์และการฝึกสอน ทำให้ไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อการเรียน ซึ่งวิชานี้สามารถบูรณาการรวมกับหน้าที่พลเมือง สุขศึกษาและวิชาอื่น ๆ ได้ ควรเน้นวิชาที่เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพเพื่อความอยู่รอดในอนาคต เช่น วิชาภาษี การเงิน การวางแผนจัดการเงินแทน เพราะโตมาทุกคนต้องจ่ายภาษี ไม่ใช่ทุกคนจะต้องเข้าป่า หรือเต้นรอบกองไฟ ควรเอาวิชาที่มีประโยชน์จริง ๆ มาให้ได้ศึกษา ญี่ปุ่น คนมีวินัยมาก แต่ไม่ได้มีการบังคับให้เรียนวิชาลูกเสือ หลายประเทศไม่ได้มีการบังคับ อย่าง สวิตเซอร์แลนด์ คนมีวินัย ไม่ทิ้งขยะลงที่สาธารณะ อาชญากรรมน้อย ในขนะที่ไทยมีวิชาลูกเสือมาหลายสิบปี แต่ประชากรยังขาดวินัย แซงคิว ทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะ มักง่าย เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ มีการก่ออาชญากรรม วิชาลูกเสือไม่ได้เป็นวิชาที่ไม่ดี แต่การปลูกฝังวินัยให้คน ไม่จำเป็นต้องสอนว่าเป็นลูกเสือแล้วต้องมีวินัย แต่สอนเพราะ เขาเป็นมนุษย์ การเป็นมนุษย์จึงต้องมีวินัยตลอดทุกขณะจิต ไม่ใช่มีเฉพาะตอนที่ใส่ชุดไปเรียนวิชาลูกเสือเพียงเท่านั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *