หลักสูตรฐานสมรรถนะคืออะไร ?


ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดแผนปฏิบัติการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับแผนปฏิบัติการที่ได้ปรับปรุงใหม่ มีสาระสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง วางแผนนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ในกรอบเวลา 3 ปี คือ ปีการศึกษา 2565 ให้เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อม จากนั้นปีการศึกษา 2566 ให้ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อม และทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษา และในปีการศึกษา 2567 ให้ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนทุกโรง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิ่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะอนุกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) จึงได้จัดเวทีระดมสมองเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน “หลักสูตรฐานสมรรถนะ ตอบโจทย์อนาคตเด็กไทยอย่างไร” เพื่อให้เห็นแนวทางและเปิดรับฟังความคิดเห็นที่มีหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยทาง eduzones ได้ทำการสรุปจากการเวทีแรก (คลิป) เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรนี้มากขึ้นอีกทั้งจะได้ว่าถ้ามีการเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
.

หลักสูตรฐานสมรรถนะคืออะไร 

สมรรถนะ คือภาพรวมของ 3 สิ่ง ได้แก่ ความรู้ ทักษะ และเจตคติ ซึ่งเชื่อมโยงสอดคล้องกันและแยกจากกันไม่ได้ ทั้ง 3 อย่างมีความหมายดั้งนี้

  • ความรู้ คือ สิ่งที่ได้จากวิชานั้น ๆ มีการกระตุ้นความคิด
  • ทักษะ คือ สิ่งที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
  • เจตคติ คือ การเปิดใจให้ผู้คนรอบข้าง การใฝ่หาความจริง การเข้าเคารพตนเองและผู้อื่น มีความอยากรู้อยากเห็นสิ่งใหม่ และมีความสร้างสรรค์

แต่เดิมหลักสูตรปัจจุบันเน้นไปเพียงแค่ตัวเดียวคือ ความรู้ ไม่ได้รวมถึง ทักษะ และเจตคติที่มากพอ จึงทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถทำงานได้ดีเมื่อจบการศึกษาออกมาแล้ว

หลักสูตรฐานสมรรถนะ จะกำหนดมาตรฐานสมรรถนะ (Competency Standards) ขึ้นเป็นสมรรถนะเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยทั่วไปมี 2 ลักษณะ คือ

  • สมรรถนะหลัก (Core Competency) มีลักษณะเป็นสมรรถนะข้ามวิชาหรือคร่อมวิชา คือเป็นสมรรถนะที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้สาระต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
  • สมรรถนะเฉพาะ (Specific Competency) เป็นสมรรถนะเฉพาะวิชา / สาขาวิชาที่จำเป็นสำหรับวิชานั้น ๆ ซึ่งสมรรถนะทั้ง 2 ประเภทนั้น ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะหลัก หรือสมรรถนะเฉพาะ ต่างก็มีระดับตั้งแต่ง่ายไปยาก ซึ่งหลักสูตรจะกำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบไต่ระดับ ไปตามระดับความสามารถของตน

หลักสูตรฐานสมรรถนะจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

  • มีการปลดล็อกตัวชี้วัด เด็กเรียน 7 สาระการเรียนรู้ แทน 8 สาระการเรียนรู้
  • ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ปีที่ 3 เวลาเรียนลดลงจาก 1000 ชั่วโมงเป็น 800 ชั่วโมง
  • สอนอ้างอิงสมรรถนะมากกว่าอิงเนื้อหา
  • เน้นกิจกรรมการเรียนรู้ เน้นปฏิบัติ โดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
  • มีการบูรณาการข้ามศาสตร์มากยิ่งขึ้น
  • สอนอิงสมรรถ ประเมินอิงสมรรถนะ
  • หลักสูตรมีความยืดหยุ่นขึ้น
  • ให้ความสำคัญกับบริบทสิ่งแวดล้อม ให้นักเรียนได้มีการพัฒนาศักยภาพของตนเองหลายบุคคล

เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนหลักสูตร

เนื่องจากโลกในปัจจุบัน เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และไม่มีความแน่นอนอยู่ตลอดเวลา เมื่อเด็กนักเรียนที่จบมาก็เกิดว่างงานเป็นจำนวนมาก เด็กที่จบมาทำงานไม่เป็น สิ่งที่จะแก้ปัญหาคือให้เด็กได้มีเครื่องมือติดตัว โดยเน้นสอนให้เด็กทำเป็น มีพฤติกรรมทางอารมณ์และทักษะที่เหมาะสมมากกว่าที่ให้เรียนแต่เนื้อหาความรู้ ถ้าเน้นสอนสิ่งเหล่านี้ เด็กก็จะสามารถนำไปปรับใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางไหน

หลักสูตรฐานสมรรถนะเน้นอะไรบ้าง

  • ยึดให้เด็กเป็นศูนย์กลางในด้าน ความถนัด ศักยภาพ และความสนใจ
  • เน้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง
  • 3 เรื่องที่ครูสอนต่อเนื่อง ได้แก่ สอนความรู้ ฝึกทักษะให้เด็กปฏิบัติ พัฒนาทัศนคติอารมณ์และอุปนิสัย
  • มีการกำหนดบูรณาการข้ามศาสตร์ ด้วยความร่วมมือจากคุณครูในโรงเรียน
  • ประเมินผลที่สมรรถนะของเด็ก

การประเมินผล

  • เน้นการรวบรวมหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการเรียนแบบให้เด็กแข่งขันทำข้อสอบ
  • เน้นการประเมินเพื่อพัฒนา ประเมินเพื่อสรุปผลด้วยวิธีการหลากหลายสอดคล้องกับช่วงวัย
  • เน้นประเมินที่ดูจากการพัฒนาของเด็กมากกว่าประเมินในกระดาษที่ให้คุณครูกรอกเอกสาร

การตัดสินผลการเรียน 

  • ตามผลลัพท์การเรียนรู้โดยกำหนดเป็นระดับผลการเรียนซึ่งสะท้อน ถึงความก้าวหน้า ของผู้เรียน เช่น กำหนดเป็นระบบสัญลักษณ์ ระบบตัวอักษร ฯลฯ
  • จากการพัฒนาสมรรถนะหลักของผู้เรียน เป็นไปตามระดับความสามารถ (ระดับต้น กำลังพัฒนา สามารถและเหนือความคาดหวัง)

 

โครงสร้างเวลาเรียน(ร่าง)ช่วงชั้นที่ 1 (ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 3)

 

โครงสร้างเวลาเรียน(ร่าง)ช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6)

 

คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กไทยในโลกปัจจุบัน จากเดิมที่มีสมรรถนะ 5 ด้าน ได้ปรับให้เป็นสมรรถนะ 6 ด้าน

  1. การจัดการตนเอง
  2. การคิดขั้นสูง
  3. การสื่อสาร
  4. การรวมพลังทำงานเป็นทีม
  5. การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
  6. การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน

ซึ่งการเพิ่มสมรรถนะ “การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน” มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไทยมีสมรรถนะทั้งด้านวิทยาศาสตร์ รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

หลักสูตรฐานสมรรถนะถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงหลักสูตรที่เหมาะกับนักเรียนจริง ๆ และได้ความรู้ ทักษะ เพื่อนำไปปรับใช้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และให้นักเรียนได้พัฒนาสมรรถนะที่เหมาะสมกับตนเอง โดยในวันที่ 11 ตุลาคม ทางรัฐมนตรีวา่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการประกาศความพร้อมของการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะในช่วงชั้นต้นไปใช้ในโรงเรียนนำร่อง 265 โรง เพื่อทำการวิจัยเพื่อนำผลการวิจัยมาสรุปรวมกับผมการรับฟังความคิดเห็นและจากการรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม (คลิก) จากข้อมูล 3ทางนี้ จะมีคุณค่าและประโยชน์ในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลและความก้าวหน้าการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะได้ที่เพจ >> CBE Thailand
ทุกท่านสามารถแจ้งข้อเสนอแนะจากทุกท่าน เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรต่อไปได้ที่ >> (คลิก
“ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเด็กไทย”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *