กสศ.วางใจ มอบมทร.ธัญบุรี คัดนักศึกษารับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า จากการที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ดำเนินโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2563 ให้กับสถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ซึ่งจะให้สถานศึกษาสายอาชีพทุกสังกัด คัดเลือกนักเรียนในพื้นที่ที่มีความยากจน ขาดโอกาสเข้าร่วมโครงการนั้น ล่าสุด กสศ.ได้มอบหมายให้ มทร.ธัญบุรีดำเนินโครงการดังกล่าวต่อเนื่องใน ปีการศึกษา 2563 โดย มทร.ธัญบุรีได้รับงบประมาณจาก กสศ.ในการดำเนินงาน จำนวน 15 ล้านบาท ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 8 เดือน ดูแลสถานศึกษาทั้งสิ้น 60 แห่ง ทั้งระดับชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 จำนวนกว่า 4,700 ทุน

“มทร.ธัญบุรี จะมีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการช่วยเหลือสถานศึกษาใหม่ที่ขอทุน ทั้งการประชาสัมพันธ์คัดเลือกนักศึกษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ กสศ. ซึ่งในส่วนนี้ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้นักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก และได้เข้าเรียนตามระบบ มทร.ธัญบุรีจะต้องติดตามด้านการเรียนการสอนและการดูแลนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รวมถึงต้องเป็นที่ปรึกษาให้สถานศึกษาวางแผนร่วมมือกับสถานประกอบการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกงาน เพื่อให้มีงานทำหลังจากสำเร็จการศึกษา” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว

ด้าน ผศ.อานนท์ นิยมผล คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า การทำงานในครั้งนี้ มทร.ธัญบุรีเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงให้กับสถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่เปิดการเรียนการสอนในระดับ ปวช. ปวส. ทำให้สถานศึกษาเห็นภาพการทำงานในลักษณะเชิงรุก การแนะแนวประชาสัมพันธ์ เกิดกระบวนการใหม่แทนที่สถานศึกษาจะเป็นฝ่ายตั้งรับให้นักศึกษาสมัครเข้าเรียนเอง แต่สถานศึกษาจะต้องเข้าถึงชุมชน เพื่อค้นหาช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีความประสงค์ที่จะเรียนต่อ เพื่อเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษา ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ กสศ. ส่วนด้านวิชาการนั้น อยากให้มุมมองใหม่กับอาชีวศึกษา หรือสถานศึกษาที่เข้ารับทุน ให้มีการทำงานร่วมกับสถานประกอบการที่เป็นการฝึกงานหรือทวิภาคี ทั้งในภาคอุตสาหกรรม หรือภาคการเกษตรมากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม มีความชัดเจนในเรื่องของสมรรถนะวิชาชีพ และเชื่อมโยงการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้นักศึกษามีทักษะตรงกับอาชีพที่ได้เลือกสมัครงานเมื่อสำเร็จการศึกษา เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงานให้กับเยาวชนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *