การศึกษาไทยกำลังสิ้นหวัง ครูได้เงินเพิ่ม แต่PISA-โอเน็ต ‘ต่ำ’

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า จากผลคะแนนสอบPISA และผลคะแนนสอบโอเน็ต ที่ร่วงเป็นราวหรือไม่เกิน 50% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการเรียนรู้เราไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ซึ่งสวนทางกับเรื่องที่ครูได้รับเงินที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน ค่าตำแหน่ง วิทยฐานะที่สูงขึ้นตามลำดับ แต่คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไม่ดีขึ้น ร่วงเป็นราว และร่วงติดต่อกันยาวนาน มองว่านโยบายเรียนดีมีความสุขของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น ขณะนี้ประชาชนทุกข์ทั้งแผ่นดินแล้ว

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า เมื่อเห็นคะแนนแล้วเกิดคำถามว่าทำไมไม่จัดการให้ดี หรือมีคุณภาพขึ้น มองว่า ตอนนี้มีการจัดการปัญหาเฉพาะบางด้านเท่านั้น เช่น เรื่องครูที่ไม่ต้องเข้าเวร ลดการทำเอกสาร การจ้างภารโรง เป็นต้น ซึ่งตนมีคำถามว่า เมื่อลดภาระงานครูแล้ว ครูมีเวลาทำอะไร เพราะในแง่ของคุณภาพการเรียนรู้ไม่ดีขึ้น มองว่าโจทย์ใหญ่สำคัญในขณะนี้ คือ การเลื่อนตำแหน่งและวิทยฐานะของครูทำไมไม่สัมพันธ์และสอดคล้องกับคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำลงตามลำดับ นี่คือโจทย์ใหญ่มากๆ

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า การเลื่อนวิทยฐานะของครูนั้น ไม่ตรงจุด ไม่แก้ปัญหา และไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะค่าวิทยฐานะของครูเพิ่มขึ้น ในขณะที่คะแนนเด็กนั้นดิ่งหัวลงๆ ไม่มีกระเตื้องขึ้นเลย แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการปรับปรุงคะแนน PISA ขึ้น แต่การตั้งกรรมการนั้นแก้ไขปัญหาอะไร จะเกิดวัฒนธรรมติวเด็กหรือไม่ เพราะปัจจุบันการสอบโอเน็ตยังมีการติวอยู่เลย และเมื่อเอาคะแนนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการยื่นวิทยฐานะ ตนมองว่าผิดทิศผิดทาง และไม่ใช่คำตอบของระบบการศึกษาแล้ว ถ้ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ใจถึง ต้องเค้นเอาความจริง ข้อเท็จจริง ว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นวิธีการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า และเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการปรับเปลี่ยนแล้ว คงจะเอาใจใส่คุณภาพการศึกษาของเด็ก นโยบายด้านการศึกษาของเรา ตีปี๊บกันมากในเรื่องของครู แต่เรื่องเด็กนั้นแผ่วมาก หรือเด็กไม่มีอิทธิพลและอำนาจทางการเมือง เราจึงไม่เอาใจใส่เขาเท่าที่ควร อีกทั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ก็พูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ เรียนทุกที่ทุกเวลา การอัปสกิล รีสกิล เวลาผ่านไป 7-8 เดือนแล้ว นโยบายที่แถลงไว้ที่สภา ก้าวหน้า หรือย่ำกับที่เหมือนคะแนนโอเน็ต

ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์ไว้หลายหนแล้วว่า การสอบโอเน็ตและ PISA นั้น เน้นที่การคิดวิเคราะห์ การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เน้นสมรรถนะในเรื่องการคิดคำนวณ ซึ่งเรายังไม่ทำ ไม่ปฏิรูประบบหลักสูตร การงัดและประเมินผล เรายังเน้นการสอนตาม 8 กลุ่มสาระ เน้นการสอนวัดผลแบบด้านเดียว ซึ่งมองว่ายังอยู่กับทักษะและผลการเรียนรู้ที่ล้าหลังในแบบเดิมๆ และเรายังตะบี้ตะบันใช้หลักสูตรเดิม 8 กลุ่มสาระเดิม สอนแบบท่องจำ สอนแบบไม่ให้คิด สอนแบบสอบ ทำไมเราไม่เตรียมการหลักสูตรฐานสมรรถนะอาชีพ กระบวนการเรียนรู้เรื่องตั้งคำถาม การคิดวิเคราะห์

“โลกมันไปถึงไหนแล้ว แต่เรายังติดหล่มกับ 8 กลุ่มสาระที่ใช้กันตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน แต่โลกไปถึงไหนแล้ว เด็กของเราเรียนอยู่กับเนื้อหาวิชาการที่โบราณ คร่ำครึ และไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย เราจะย่ำอยู่กับอดีตหรือ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้คือ ต้องกล้าตัดสินใจ กล้าเปลี่ยนแปลงกฎหมายการศึกษา กล้าใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ตอนนี้เขาใช้กันหมดทั่วโลกแล้ว แต่เรายังใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานอยู่ ทำไมการตัดสินใจทางการเมืองเรื่องการศึกษาเต็มไปด้วยความล่าช้า

ทำไมเรื่องอื่น เช่น การยกเลิกเวร ถึงตัดสินใจเร็วมาก การศึกษาคือรากฐานสำคัญของประเทศ และเรายังอยู่กับระบบการศึกษาแบบถูลู่ถูกัง คือ ลากกันไปบนโครงสร้าง และระบบที่มันด้อยประสิทธิภาพ คร่ำครึ รวมศูนย์ ใช้งบประมาณมาก ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์เด็ก ซึ่งเราใช้ระบบนี้ปีแล้วปีเล่า และหวังว่ามันจะดีขึ้น ซึ่งไม่มีทาง แม้จะบอกว่าลดภาระครู ลดหนี้ครู แต่โครงสร้างระบบที่ใหญ่โต เทอะทะ รวมศูนย์ และใช้งบประมาณมากแบบนี้ แต่ผลสัมฤทธิ์ยังต่ำ รัฐบาลยังตัดสินใจจากระบบและโครงสร้างแบบนี้ต่อไปจริงๆ หรือ มองว่ารัฐบาลรู้ปัญหา แล้วทำไมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ตัดสินใจ ไม่ทำให้มันดีขึ้น“ นายสมพงษ์กล่าว

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า เราไม่อยากให้คนในประเทศเราไม่ฉลาด ไม่พ้นกับดักความยากจนหรือ คนในกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยไม่เดือดร้อนกับปัญหาเหล่านี้หรือ ซึ่งอยากจะถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่าเราจะซอยเท้า ย่ำเท้า และใช้ระบบที่ไม่มีทางดีขึ้นแล้วต่อไปหรือ

สิ่งที่รัฐบาลบอกว่าต้องการบุคลากรที่แข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่ในเมื่อโครงสร้างระบบยังไม่มีใครกล้าทำ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย มีการเปลี่ยนเฉพาะสิ่งที่โยงกับคะแนนเสียงทางการเมืองเท่านั้น ตนมองว่าเรากำลังจะสิ้นหวังกับระบบการศึกษาไทยในที่สุด

… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/education/news_4563727

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *