บอร์ด กพฐ.ยกเครื่องหลักสูตรใหญ่ ผุด กก.วิเคราะห์เนื้อหา-มุ่งสมรรถนะเด็ก เล็งทดลองปี’63 ก่อนใช้จริงทั่ว ปท.

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพฐ.เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติตั้งคณะกรรมการวิเคราะห์พัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้น เนื่องจากเห็นว่าหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 มีปัญหา เพราะถูกใช้มากว่า 10 ปีแล้ว บางหลักสูตรมีเนื้อหามากเกินไป และเนื้อหาบางอย่าง ไม่ได้เป็นเนื้อหาที่เน้นการพัฒนาเด็กในเชิงสมรรถนะ อีกทั้ง ปัญหาที่พบในขณะนี้คือ ครูยังทำการสอน และออกข้อสอบที่เน้นเนื้อหามากเกินไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติของสถานศึกษา และครูผู้สอน ว่าครูต้องเน้นสอนเชิงสมรรถนะมากขึ้น ทั้งนี้ ยังพบตัวอย่างจากประเทศที่ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น มาเลเซีย ที่ประกาศว่าจะไม่มีการสอบกลางภาค และปลายภาค เป็นต้น ซึ่งตนเห็นว่าการสอบนั้น เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ปลายทางว่านักเรียนสามารถทำข้อสอบได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ระหว่างการเรียนการสอนได้ตลอดเวลา การสอบกลางภาค และปลายภาค ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผล โดนเน้นสมรรถนะของเด็กให้มีความรู้ และสามารถใช้ความรู้ที่ได้มาได้

นายเอกชัยกล่าวอีกว่า หน้าที่ของคณะกรรมการวิเคราะห์ฯ คือวิเคราะห์หลักสูตรใหม่ว่าควรจะเป็นลักษณะไหน รวมทั้ง พัฒนาโครงสร้างหลักสูตรให้ตรงกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ที่สำคัญต้องสร้างหลักสูตรอย่างกว้างๆ ยืดหยุ่นได้ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรได้เอง และเหมาะกับบริบทของท้องที่ของตน เพราะในแต่ละพื้นที่มีจุดเน้น และความต้องการพัฒนาเด็กที่ไม่เหมือนกัน และต้องไม่มีตัวชี้วัดจำนวนมากเหมือนที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 เคยกำหนดไว้ ควรจะเน้นสมรรถนะตามที่เด็กทำได้ และวัดตามผลตามสมรรถนะที่เด็กมี ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน เช่น ตัวแทนจากโรงเรียนเอกชน ตัวแทนจากโรงเรียนนานาชาติ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นต้น เมื่อได้โครงสร้างหลักสูตรแล้ว สพฐ.จะรับส่วนนี้ไปพัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับสถานศึกษาในสังกัด

“ภายใน 3 เดือน คณะกรรมการวิเคราะห์ฯ ต้องมีโครงสร้าง และทิศทางการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างคร่าวๆ เพื่อให้ สพฐ.รับโครงสร้างนี้ไปวิเคราะห์ ตกแต่งเพิ่มเติม คาดว่าภายในปีการศึกษา 2563 โรงเรียนใดที่มีความพร้อม สามารถนำหลักสูตรนี้ไปใช้ได้ทันที เพราะท้ายสุดแล้วหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมาแทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถือเป็นการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่” นายเอกชัย กล่าว

ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาการเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า สพฐ.จะต้องเอาแนวคิดจากการพัฒนาหลักสูตรจากที่ประชุม กพฐ.มาสู่กระบวนการการจัดทำหลักสูตรของ สพฐ.เอง โดยตนวางแผนกระบวนการทำงานไว้ว่า ต้องทดลองใช้หลักสูตร สร้างความเข้าใจ และวิธีการประเมินให้ครบถ้วน โดย สพฐ.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่ง เพื่อทำงานร่วมกับคณะกรรมการวิเคราะห์นของ กพฐ.เมื่อได้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว จะนำมาทดลองในปีการศึกษา 2563 แต่ยังไม่กำหนดว่าจะเริ่มใช้ในปีการศึกษาใด และในปีการศึกษา 2564 จะนำหลักสูตรดังกล่าวให้โรงเรียนที่มีความพร้อม และสมัครใจ นำร่องใช้ก่อน แต่ตนมีแนวคิดว่าในปีการศึกษา 2565 สถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ จะเริ่มใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องหารือกับที่ประชุม กพฐ.และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อีกครั้งหนึ่ง

ที่มา https://www.matichon.co.th/education/news_1729175

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *