การประชุมเวทีนโยบายระดับสูง ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของไทย

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุม World Ballroom โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มีการจัดประชุมครั้งใหญ่ เพื่ออภิปรายแนวทางต่างๆ ที่ทางรัฐบาลและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤติด้านทักษะ และนำเสนอผลการสำรวจวิจัยจากรายงานการสำรวจโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และธนาคารโลก ในหัวข้อ “การส่งเสริมทักษะทุนชีวิตในประเทศไทย”

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวเปิดการประชุมโดยเน้นการนำเสนอรายงานการวิจัยชิ้นนี้ของ กสศ. ร่วมกับธนาคารโลก พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายหลากหลายหน่วยงาน เพื่อนำข้อค้นพบ การทบทวนสถานการณ์ การสรุปงานในช่วง 2 ปี ของการทำงาน ก่อนการนำเสนอที่จะนำมาต่อยอดในเชิงนโยบาย ลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติจริง เพื่อให้ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ ระบุว่า การสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย พ.ศ. 2565 เป็นการประเมินขีดความสามารถของเยาวชนและประชากรแรงงานไทยมากกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศเป็นครั้งแรก เสมือนการประเมิน ‘PISA วัยแรงงาน’ โดยความร่วมมือกับธนาคารโลก เพื่อสร้างมาตรฐานการประเมินระดับสากล รวบรวมประเด็นปัญหาให้ตรงจุด เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหรือส่วนต่าง ๆ จะได้นำไปปรับใช้ในเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาทุนมนุษย์ เพิ่มรายได้และหลุดออกจากกับดักความยากจนอย่างยั่งยืน

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุม พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ว่า เราเห็นสัญญาณของปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำมาเป็นเวลานาน ทั้งจากการวัดผลด้านทักษะระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ความแตกต่างระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ด้อยโอกาส มีช่วงห่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจ

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีความมุ่งมั่น และมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้แก่ เด็ก เยาวชนและประชาชน ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อสร้างโอกาสและเส้นทางสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ที่ดีขึ้น เช่น นโยบาย “Thailand Zero Dropout” หรือ “Learn to Earn” สำหรับทุกช่วงวัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในการประกอบอาชีพ รวมถึงการที่รัฐบาลพยายามเชิญชวนภาคธุรกิจเอกชนจากทั่วโลก ที่มีจุดแข็ง ที่หลากหลาย เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือ ความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ สนับสนุนการเรียนรู้ และการฝึกอบรมทักษะที่ต้องมีในตลาดแรงงาน สำหรับคนไทยทุกช่วงวัย” ความพยายามทั้งหมดนี้ คือ “สัญญาประชาคม สู่สังคมแห่งการเรียนรู้” ที่รัฐบาลมีต่อคนไทยทุกคน เพื่อให้เยาวชนและคนไทยทุกคนมีโอกาสที่จะเรียน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะที่เปราะบางเพียงใด เพราะเราเชื่อว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือสังคม

คุณโคจิ มิยาโมโต (Mr.Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก (World Bank) นำเสนอผลสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT  ซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อวัดทักษะรากฐาน (Foundational Skills)  ของเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี ประกอบด้วย ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทิล  และทักษะทางอารมณ์และสังคม  ครอบคลุม 6 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ EEC  โดยออกแบบเพื่อสร้างตัวชี้วัดที่สามารถเป็นตันแทนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ของคนไทยราว 50 ล้านคน  และเน้นยํ้าถึงความสำคัญของทักษะทุนชีวิตว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ เปรียบเสมือนการสร้างทรัพยากรมนุษย์ เหมือนรากฐานตึกที่มั่นคงแข็งแรง ซึ่งทักษะทุนชีวิตไม่เพียงนำไปสู่การเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ แต่ยังรวมถึงการมีวุฒิภาวะของประชากรด้วย

ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

นางสาวมาเรีย วิกตอเรีย แองกูโล (Ms.Maria Victoria Angulo) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการการศึกษาเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย กล่าวว่า โคลอมเบียในอดีตที่ผ่านมาประสบปัญหาวิกฤตประชากรขาดทักษะทุนชีวิตไม่แตกต่างจากประเทศไทยนัก จนกระทั่งได้ร่วมมือกับทางธนาคารโลกเพื่อหาข้อค้นพบและนำข้อมูลทั้งหมดมาปฏิบัติผ่านนโยบายด้านการศึกษา ในการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเสริมสร้างทักษะทุนชีวิตนี้ คือ การกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่ท้องถิ่น และท้องถิ่นเป็นหมุดหมายแรกของการขับเคลื่อนในครั้งนี้ ก่อนกระจายตัวออกไปในระดับชาติ ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างแท้จริง มีการติดตามข้อมูล ออกแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ผู้เรียนและสร้างทักษะใหม่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้นคือ การให้ ‘ครอบครัว’ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเสริมสร้างทักษะทุนชีวิตในประชากร ส่งผลให้โคลอมเบียสามารถพัฒนาทักษะทุนชีวิตได้ภายในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวปิดการประชุมเวทีนโยบายระดับสูงว่า การจัดงานในครั้งนี้ช่วยให้ภาคีที่เกี่ยวข้องมองเห็นกรอบแนวคิดและวิธีการมากกว่าทฤษฎี เกิดการรวบยอดทางความคิดเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในทางปฏิบัติได้ หากประเทศไทยต้องการให้เด็กทุกคนมีความเสมอภาคทางการศึกษา คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการพัฒนาประเทศ ส่งเสริม ‘ทุน’ ที่ทุกคนต้องมีเพื่อการพัฒนาที่ดีกว่าเดิม พร้อมขอบคุณความอนุเคราะห์จากภาคส่วนต่าง ๆ หากมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอ หรือแนวทางใด ๆ ในการปฎิบัติให้เกิดผลจริง ทาง กสศ. พร้อมรับและสนับสนุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป


 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *