บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย ศิลป์ พีระศรี

สวัสดีค่ะวันนี้พี่จะพามาทำความรู้จักกับ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี บุรุษผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทยและเป็นบิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย มีผลงานที่โดดเด่นหลายด้านที่น่าจดจำ

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี (15 กันยายน พ.ศ. 2435 — 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย เป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์คนแรกมีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน

เขายังเป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการที่ได้พร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถในวิชาศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง มีจุดประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเอง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินของตน และถึงแม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันเขาได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้ จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด

ด้วยคุณูปการนี้เขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากมายที่สร้างไว้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมไปถึง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ศิลป จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และเป็น ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในวันที่ 15 กันยายน ของทุกปีจะถือเป็นวันศิลป พีระศรี ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทยนานัปการ

ประวัติ

วัยหนุ่มและชีวิตที่ฟลอเรนซ์ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี มีนามเดิมว่าคอร์ราโด เฟโรชี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของนายอาตูโด เฟโรชีและนางซานตินา เฟโรชี ซึ่งประกอบธุรกิจการค้า และเนื่องจากเกิดและอาศัยอยู่ ณ เมืองฟลอเรนซ์ นครแห่งการกำเนิดศิลปะเรอเนซองส์ชื่อก้องของอิตาลี คอร์ราโดจึงมีความสนใจในวิชาศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็ก คอร์ราโดนั้นมีความสนใจและชื่นชอบในผลงานประติมากรรมของมิเกลันเจโลและโลเรนโซ กีแบร์ตีในมหาวิหารฟลอเรนซ์เป็นอย่างมาก จึงได้สมัครเป็นลูกมือช่วยงานศิลปินที่มีชื่อเสียงตามสตูดิโอต่างๆของเมืองฟลอเรนซ์ เขามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะศึกษาวิชาศิลปะและเป็นศิลปินให้ได้ อย่างไรก็ตามบิดามารดาของคอร์ราโดกลับไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขาเพราะต้องการให้มาสืบทอดธุรกิจของครอบครัวต่อไปมากกว่า แต่คอร์ราโดมีความตั้งใจที่จะศึกษาศิลปะอย่างแรงกล้า จึงได้เก็บสะสมเงินและเข้าศึกษาในสถาบันศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti di Firenze) หลักสูตร 7 ปี ในปีพ.ศ. 2451 และจบการศึกษาในปีพ.ศ. 2458 ในขณะที่มีอายุ 23 ปีด้วยเกียรตินิยมอันดับที่หนึ่ง และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ต่อมาได้สอบคัดเลือกและได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำราชวิทยาลัย ศาสตราจารย์คอร์ราโดมีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นอย่างสูง ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายและได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์จากรัฐบาลหลายครั้ง อาทิเช่น ผลงานอนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเกาะเอลบา เป็นต้น

ศาสตราจารย์ “ศิลป์ พีระศรี” เป็นชาวอิตาเลียนที่ได้รับสัญชาติไทยในภายหลัง เป็นผู้มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ วิจารณ์ศิลป์ ปรัชญา และความสามารถด้านประติมากรรมและจิตรกรรม ได้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมสำคัญไว้มากมาย ท่านเป็นคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร และลูกศิษย์ของท่านเป็นศิลปินแห่งชาติหลายคน ประวัติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เรียงตามไทม์ไลน์โดยย่อ ดังนี้

2435 – Corrado Feroci เกิดที่ประเทศอิตาลี ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2535

2451 – Corrado Feroci ได้เข้ารับการศึกษาในราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)

2458 – Corrado Feroci สำเร็จการศึกษา ได้รับประกาศนียบัตรช่างเขียนในวัย 23 ปี และสอบคัดเลือกได้เป็นศาสตราจารย์ เกียรตินิยมอันดับ 1

2466 – ศาสตราจารย์ Corrado Feroci เดินทางมายังประเทศไทยพร้อมภรรยา นาง Fanni Viviani และบุตรสาว Isabella เพื่อเข้ารับราชการ ตำแหน่งช่างปั้นกรมศิลปากร กระทรวงวัง ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466

2469 – ศาสตราจารย์ Corrado Feroci รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์สอนวิชาประติมากรรม ตำแหน่งอาจารย์ช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งชาติราชบัณฑิตยสภา

2485 – ศาสตราจารย์ Corrado Feroci ถูกควบคุมตัวเพราะเป็นชาวอิตาเลียน เนื่องจากอิตาลียอมแพ้สงครามแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ฯพณฯ หลวงวิจิตรวาทการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้เจรจาให้รัฐบาลญี่ปุ่นปล่อยตัวและโอนสัญชาติเป็นไทย ศาสตราจารย์ Corrado Feroci จึงใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ศิลป์ พีระศรี” เป็นต้นมา

2486 – โรงเรียนศิลปากรถูกแต่งตั้งเป็นมหาวิยาลัยศิลปากร โดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดีคนแรก ภายหลังในภาวะสงครามเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี จึงขายทรัพย์สินและเดินทางกลับอิตาลี

2492 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เดินทางกลับมาประเทศไทย เนื่องจากความรักในประเทศไทยและงานที่ยังคั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก แต่การกลับมาครั้งนี้ ภรรยาและบุตรไม่ได้ติดตามมาด้วย

2502 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี สมรสครั้งใหม่กับนางสาวมาลินี เคนนี่ (ไม่มีบุตรด้วยกัน)

2505 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากหัวใจล้มเหลวหลังจากผ่าตัดมะเร็งลำไส้ ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช รวมอายุได้ 69 ปี 8 เดือน 19 วัน

ตัวอย่างผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477 เป็นอนุสาวรีย์ของวีรสตรีไทยที่มีความงดงามและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวโคราช

รูปปั้นหล่อประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485 ศาสตรจารย์ศิลป พีระศรี ปั้นและควบคุมการหล่อประติมากรรมบุคคลทั้งห้าและควบคุมการสร้างอนุสาวรีย์

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484 มีขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง แรกเริ่มออกแบบให้ทรงถือพระมาลา ก่อนจะเปลี่ยนให้สวมพระมาลาในภายหลัง

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2493 ตั้งออยู่ที่วงเวียนใหญ่ มีความโดดเด่นด้วยลักษณะประติมากรรมที่งดงาม มีเอกลักษณ์และสมจริงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะประติมากรรมม้าที่อยู่ในท่ายืนพร้อมวิ่งและถูกสัดส่วนกายวิภาค

9 คติพจน์สุดคลาสสิคจาก ศิลป์ พีระศรี

พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน ” แล้วจึงเรียนศิลปะ ”

ชาวนาปลูกข้าวให้เรากินทำแผ่นดินให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไฉนเล่าเราจึงจะไม่เนรมิตสิ่งซึ่งยกจิตใจให้สูงสมกับที่เราเกิดมาแล้ว ” โดยไม่เปลืองเนื้อที่ของแผ่นดิน ”

ในบรรดาศิลปะด้วยกัน ดนตรีเป็นสิ่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้มากที่สุด เมื่อเรามีนักดนตรีที่มีความสามารถสูงมาบรรเลงในบ้านเรา เราก็ใคร่จะให้ญาติสนิทมิตรสหายได้มาร่วมเสพสุนทรียรสกับเราด้วย

ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบ แม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุดก็อาจจะมีความงามที่แอบซ่อนอยู่อาจจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือฟัน หรือแม้แต่จิตใจที่งดงามก็ตามนายต้องค้นให้พบ

อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมากฉันเองก็ยังศึกษาความรู้อยู่ตลอดเวลา

นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร

ศิลปะ ไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็นแต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต

ศิลปะยืนยาวชีวิตสั้น

พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *