นอนตอนว่างทำให้โง่หรือไม่ นอนหลับอย่างไรให้เกิดประโยชน์

จากกระแสดราม่าการวิพากษ์วิจารณ์ ‘หนังสือแบบเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาพาที ชั้น ป.5’ เนื้อหาบรรยายการกินของเด็กในบ้านของข้าวปุ้น ที่มีอาหารเป็นผัดผักบุ้งและไข่ต้มครึ่งซีก ทำให้ข้าวปุ้นรู้สึกว่าความสุขอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ ถือเป็นความพอเพียง เห็นคุณค่าของชีวิต จนในโลกโซเชียลมองว่า เด็กจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการของเด็ก

 

หลังจากนั้นมีเผยแพร่เนื้อหาอื่นจากหนังสือภาษาพาทีอีกเป็นจำนวนมาก โดยมาเจอถึงเรื่องราวในบทที่ 3 แพนกับเจี๊ยบคุยกันในเรื่องความหมายของคนเจริญกับคนโง่ว่า การใช้เวลาว่างในการนอนหลับไม่เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์เป็นสิ่งที่คนโง่ทำ?

“… คนเจริญย่อมใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์หมั่นหาความรู้ใส่ตน แต่คนโง่ใช้เวลาว่างด้วยการนอนหลับ …”

ภาพจาก หนังสือแบบเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาพาที ชั้น ป.5
ภาพจาก หนังสือแบบเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาพาที ชั้น ป.5

การนอนนั้นทำให้โง่จริงหรือไม่ Eduzones ได้รวบรวมประโยน์ของการนอนมาสรุปให้ได้อ่านกัน

 

การนอน ทำให้สมองเรียบเรียงข้อมูลช่วยให้เรียนรู้ได้ดี

ข้อมูลจาก VOA ได้สัมภาษณ์ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่าการนอนหลับช่วยให้สมองของคนเราทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากการนอนจะช่วยลดขนาดของจุดประสานประสาทหรือไซแนปส์ให้เล็กลง ซึ่งไซแนปส์เป็นช่องว่างพิเศษระหว่างเซลล์ประสาทในสมองที่ช่วยในการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท เริ่มศึกษาด้วยการวัดขนาดของจุดประสานประสาทในสมอง โดยในสมองคนเรามีจุดประสานประสาทหนึ่งแสนล้านจุด จุดประสานประสาทที่มีความเเข็งแรงยังเป็นจุดที่มีขนาดใหญ่

 

ผลการวิเคราะห์พบว่า การนอนหลับเพียงไม่กี่ชั่วโมงช่วยลดขนาดของจุดประสานประสาทนี้ลงโดยเฉลี่ย 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเเสดงว่าการนอนหลับมีผลช่วยลดขนาดของจุดประสานประสาทให้เล็กลงและมีความเเข็งแรงขึ้นด้วย

ภาพจาก Wisconsin Center for Sleep and Consciousness
ภาพจาก Wisconsin Center for Sleep and Consciousness

การค้นคว้าถึงผลกระทบจากการไม่ได้นอนหลับต่อจุดประสานประสาท ข้อมูลการวิจัยเบื้องต้นที่มีอยู่พบว่าการไม่ได้นอนหลับจะทำให้จุดประสานประสาทจะไม่เล็กลง และเกิดความกังวลว่าเมื่อจุดประสานประสาทขยายขนาดใหญ่ตลอดเวลาจนรวมเข้าด้วยกัน ทำให้เซลล์ประสาทซึ่งใช้จุดประสานประสาทในการสื่อสารระหว่างกันจะเริ่มตอบสนองต่อกันและกันบ่อยเกินไปและมากเกินไปและยังตอบสนองต่อสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่ไม่ควรตอบสนองอีกด้วย หรือกล่าวคือ ถ้าไม่ได้นอนจะเกิดสัญญาณรบกวนมากขึ้นในสมอง ทำให้บกพร่องในการแปรสัญญาณสมองที่สำคัญ การนอนหลับเป็นเรื่องจำเป็นเพราะช่วยให้สมองสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อตื่นนอน

 

การนอนเพียงพอ ทำให้ Growth hormones ทำงาน สร้างประโยชน์ต่อการทำงานและทำให้อายุยืน

นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ผู้อำนวยการศูนย์ Bangkok Royal Life Anti-Aging ได้อธิบายกับกรุงเทพธุรกิจไว้ว่า การนอนมีอยู่สองช่วงคือ ช่วงหลับลึกกับช่วงหลับตื้น ระยะเวลาในการนอนมากหรือน้อยไม่สำคัญเท่าเราหลับลึกหรือเปล่า บางคนทำงานหนักทั้งวัน มีความเครียดเยอะ แต่หลับยังไงก็ไม่อิ่ม นอนหลับไป 10 ชั่วโมง ตื่นเช้ามาก็ยังง่วงอยู่ การนอนที่มีคุณภาพจะทำให้ร่างกายมนุษย์เกิดกระบวนการซ่อมแซมตัวเอง การที่อดหลับอดนอน ร่างกายก็จะไม่มีช่วงเวลาที่จะซ่อมแซมตัวเอง ส่งผลให้แก่ไว

 

การหลับที่หลับลึก จะมีฮอร์โมนชื่อว่า Growth Hormone เป็นฮอร์โมนชะลอความแก่ ที่หลั่งออกมาซ่อมแซมร่างกายในช่วงเวลาเที่ยงคืนจนถึงตีหนึ่งครึ่งของแต่ละวันเท่านั้น

 

คนที่หลับแล้วยังฝันอยู่เรียกว่าหลับตื้น แต่การหลับลึกจะเกิดขึ้นหลังจากหลับไปแล้วชั่วโมงหนึ่ง การนอนหลังเที่ยงคืนจะไม่ได้โกรทฮอร์โมนไปซ่อมแซมความแก่ จะทำให้แก่เร็ว, ผมหงอก, ผิวเหี่ยว, กระดูกพรุน, หน้าไม่ดี, ร่างกายไม่ดี, ตัวเตี้ยลง ร่างกายเสื่อมลง

การนอนให้มีคุณภาพ การหลับลึก หลับตื้น ก็มีผลต่อร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน การหลับลึกจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด

การนอนช่วยให้คิดสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น

Matthew Walker ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา และผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการด้านการนอนหลับ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ อธิบายในหนังสือ Why we sleep การหลับอย่างมีคุณภาพว่า เวลานอนคือเวลาที่ร่างกายใช้พักและรักษาตัวเอง การนอนหลับนั้นดีต่อสมองอย่างมาก ช่วยให้สมองปลดปล่อยตัวเองจากข้อมูลที่ไม่ต้องการระหว่างวัน เราจะกำจัดข้อมูลส่วนเกินหลายอย่างออกจากสมองโดยที่เราไม่รู้ตัว เป็นผลดีต่อการเรียนรู้อย่างมาก มันจะช่วยพัฒนาความชำนาญจากทักษะที่ได้รับ และยังเพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

 

การนอนหลับเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับด้วยกันคือ

ระดับ NREM (Non-Rapid Eye Movement Sleep) การนอนหลับที่มีคลื่นสมองยาว ช้า และคงที่ และมีลักษณะเป็นสภาวะที่ไม่มีสติ มีการเคลื่อนไหวของดวงตาที่ไม่เร็ว

ระดับ REM (Rapid Eye Movement Sleep) สภาวะที่มีสติสัมปชัญญะแต่ยังไม่ตื่น ซึ่งมีลักษณะเป็นคลื่นสมองที่แหลมคมและไม่แน่นอน มีการเคลื่อนไหวดวงตาที่รวดเร็ว

 

กลุ่มที่มีการนอนหลับ REM มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่ากลุ่มที่มีการนอนหลับแบบ NREM พวกเขากระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหามากกว่า และพวกเขาทำงานโดยมีความเครียดเพียงเล็กน้อย ในขณะเดียวกันกลุ่ม NREM กลับมีความคิดในการทำงานที่ค่อนข้างแบน ขาดมิติในการทำงาน และไม่มีแรงบันดาลใจมากพอจะสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ออกมาได้

 

การงีบหลับกลางวัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนและทำงาน

กาย เมโดวส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนและผู้ก่อตั้ง Sleep School ซึ่งให้คำแนะนำด้านการนอน บอกว่า ประโยชน์หลักของการงีบคือการโต้กลับการเปลี่ยนแปลงของระบบร่างกายหลังจากคนเราตื่นนอน หลังตื่นนอน สารเคมี อะดีโนซีน (adenosine) ในสมองจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย จึงทำให้เรารู้สึกง่วง เมื่อเรางีบ ปริมาณของอะดีโนซีนก็จะลดลง ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวและมีเรี่ยวแรงมากกว่าเดิม ทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น และลดโอกาสที่จะทำอะไรผิดพลาด ทำให้เรามีสมาธิที่จะทำอะไรมากขึ้นในตอนบ่าย ในการนอนเพียง 10 ถึง 20 นาที หรือคือการงีบเอาแรงแบบสั้น ๆ (power nap)

 

ซารา เมดนิก เจ้าของหนังสือ Take a Nap! Change Your Life บอกว่า หากเราอยากจะเพิ่มความสามารถในการจดจำ ความคิดสร้างสรรค์ และกระบวนการในการรับรู้ ต้องงีบแบบยาว 60-90 นาที ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะการนอนระดับ REM ซึ่งเป็นการหลับลึกเหมือนตอนกลางคืน

ข้อมูลจาก

นักวิจัยช่วยไขปริศนา “นอนหลับ = ฉลาด” จริงหรือไม่? และ ‘จุดประสานประสาท’ คืออะไร?

เคล็ดลับ การนอนที่มีคุณภาพ ช่วย”ชะลอวัย”

การนอนหลับ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดสุขภาพร่างกายของเรา

การงีบหลับยามบ่ายมีประโยชน์อย่างไร

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *