สมศ. จับมือ 32 มหาวิทยาลัย เปิดโครงการการนำผลประเมินไปใช้ฯ ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” ให้กับศูนย์พัฒนาเด็ก – โรงเรียนนำผลประเมินไปใช้ เพื่อยกระดับสถานศึกษากว่า 120 แห่งทั่วประเทศ

ดร. นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)  กล่าวว่า สมศ. ยังคงเดินหน้าประเมินคุณภาพภายนอกและสนับสนุนให้สถานศึกษานำผลประเมินไปใช้ จึงได้จัดทำ โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาหลังจากเข้ารับการประเมินภายนอก ได้ทราบหลักการ แนวทางที่จะนำผลการประเมินและข้อเสนอแนะที่ได้รับไปปรับใช้อย่างมีระบบและเป็นรูปธรรม โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สมศ. และหน่วยงานต้นสังกัด ทุกสังกัด ได้ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ และกิจกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งเครื่องมือการดำเนินงาน เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริมคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา พร้อมกันนี้ สมศ. ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษา 32 แห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ฯลฯ ในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานขับเคลื่อนโครงการฯ อย่างครบวงจร พร้อมกับจัดหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษา สนับสนุน และติดตามผลดําเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ในเบื้องต้นมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 121 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งเป็นสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) 111 แห่ง และสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นฐาน 10 แห่ง โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนา และต่อยอดศักยภาพการศึกษาไทย ภายใต้แนวคิด ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา

“สมศ. พยายามมุ่งเน้นให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ ผ่านโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดย สมศ. ได้เริ่มนำร่องโครงการฯ ให้กับสถานศึกษาจำนวน 12 แห่ง โดยพบว่าสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ และมีความเชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับวิเคราะห์หาจุดเด่นที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นและจุดที่ควรปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์ ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษานั้นๆ”  ดร. นันทา กล่าวเสริม

ผศ.ดร. กรุณา แดงสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และผู้เชี่ยวชาญศูนย์ประสานงาน กล่าวว่า จากการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้ร่วมนำร่องโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ให้กับสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการศึกษาปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจากมหาวิทยาลัยทักษิณจึงได้ให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาว่าควรปรับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด ด้วยการนำวิธีการเรียนรู้โดยใช้บ้านเป็นฐาน หรือ Home based Learning มาปรับใช้ให้เหมาะสม ด้วยการทำให้บ้านเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้หลักของผู้เรียน พร้อมกับร่วมคิดวิธีการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ และสถานศึกษา พร้อมกับได้เสนอแนะให้สถานศึกษานำผู้ปกครอง และผู้นำในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืน ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ และเป็นการส่งเสริมการประเมินที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง

นายบรรหาญ จิตรหวัง หวัง ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญโรงเรียนเทศบาล 1 (คลองแหอัจฉริยะ) กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา เป็นการรวบรวมสถานศึกษา ต้นสังกัด และถาบันอุดมศึกษา มาวางแผนในการพัฒนาและยกระดับสถานศึกษาร่วมกันถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมามีศูนย์พัฒนาเด็กในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้แล้วพบว่าผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาสถานศึกษา ที่ทุกสถานศึกษาจะต้องมีการทำแผนพัฒนาสถานศึกษาเป็นรายปี และราย 3 ปี อยู่แล้ว ดังนั้นการได้สถาบันอุดมศึกษาที่มีความชำนาญด้านการจัดการศึกษาเข้ามาสนับสนุนก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับสถานศึกษาอย่างมาก

ด้าน นายปรีชา เริงสมุทร์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า การเข้าร่วมประเมินภายนอกกับ สมศ. เป็นเสมือนกระจกสะท้อนทำให้สถานศึกษาได้มองเห็นจุดเด่นและจุดที่ควรปรับปรุง และเมื่อเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาช่วยสะท้อนให้สถานศึกษาได้เห็นภาพที่ต้องพัฒนาอย่างชัดเจน 3 เรื่อง คือ 1) การดึงอัตลักษณ์และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการปรับวิธีการสอนศาสนาที่ไม่ใช่แค่สอนเพียงอย่างเดียว แต่ดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม และสถานศึกษาต้องสามารถตอบโจทย์ของชุมชนได้ว่าหลักสูตรในการจัดการเรียนของสถานศึกษาจะสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างไร 2) การพัฒนาผู้เรียน โดยการส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ของการผลิตคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ  3) การส่งเสริมสถานศึกษา ด้วยการให้ไปเป็นสถานศึกษาคู่เทียบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กับสถานศึกษาชั้นนำระดับประเทศ เพื่อให้ได้ทราบแนวทางและแผนในอีก 3 – 5 ปี ว่าควรปรับ และเตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องมือ อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างไรในการก้าวสู่การเป็นสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *