คณะบริหารธุรกิจ ม.หอการค้าไทยหนุนนักศึกษาสร้างรายได้ระหว่างเรียน พาสินค้าสู่ตลาดโลก

ประเทศไทยเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยวัตถุดิบทางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปแปรรูปสินค้าทางธรรมชาติส่วนใหญ่สามารถช่วยสร้างรายได้หลักให้กับประชาชนแต่ละครัวเรือน ที่สำคัญเป็นที่นิยมชื่นชอบอย่างมากในตลาดต่างประเทศ กระจูดซึ่งมีอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่นภาคใต้มาตั้งแต่ดั่งเดิม จัดอยู่ในพืชตระกูลเดียวกับกก เป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตเป็นกลุ่มใหญ่ในแหล่งน้ําธรรมชาติ แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วในประเทศไทยพบมากแถบภาคตะวันออกและภาคใต้ นิยมนำต้นกระจูดมาตากแห้งสำหรับใช้จักสานเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ได้แก่ กระเป๋า กระบุง ตะกร้า กระสอบ หมวก แฟ้มเอกสาร และที่รองแก้ว โดยรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ค่านิยม และวัตถุประสงค์การใช้สอยต่างๆ

อาจารย์ ดร. อนุฉัตร ช่ำชอง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “กิจกรรมการทำกระจูดและออกแบบตกแต่งวันนี้ ทางคณะมีความมุ่งหวังให้นักศึกษาทั้ง 8 สาขา ที่ชื่นชอบหลงไหลธุรกิจเครื่องจักรสานเข้าร่วมเรียนรู้กับผู้ประกอบการโดยตรง มีการสอนสานผลิตภัณฑ์กระจูดนิยมสานลวดลายมาตรฐาน ได้แก่ ลายขัด ลายสอง ลายสาม เพราะใช้เวลาในการสานไม่นาน และเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้า ยังได้รับความรู้ช่องทางการขายตลาดออนไลน์ขยายสู่ตลาดโลก เช่น Shopee , lazada , Alibaba ฯลฯ โดยสามารถนำเทคนิคและความรู้ต่างๆไปต่อยอดการทำธุรกิจได้จริง ที่สำคัญอยากส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาสามารถสร้างธุรกิจหารายได้ระหว่างเรียนได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยให้สามารถถ่ายทอดไปสู่ชาวต่างชาติได้อย่างงดงาม โดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เน้นการเรียนการสอนเชิงประยุกต์จากงานวิจัยและประสบการณ์ การปฏิบัติเพื่อสร้างผู้นำธุรกิจที่มีความเป็นผู้ประกอบการและมีความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านบริหารธุรกิจจากงานวิจัยและบริการวิชาการด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *