ร่างเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะครูมุ่งแนวใหม่เลิกทำรูปเล่มเอกสารเสนอ ให้ยื่นผ่านออนไลน์แทน ทราบผลภายใน 2-3 เดือน

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนประจำกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ถึงความคืบหน้าการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแนวใหม่ ตามนโยบายนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาครูและยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างแท้จริงว่า คณะทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครู ได้วางกรอบแนวทางการประเมินโดยยึดหลักการลดความยุ่งยาก

  1. ลดความซ้ำซ้อน โดยจะมีการประเมินวิทยฐานะของครูไปพร้อมกับเงินเดือน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement) หรือ PA
  2. จะประเมินผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยไม่มีการยื่นเอกสารการประเมินอีกต่อไป ซึ่งในขั้นตอนการยื่นประเมิน สถานศึกษาจะทำหน้าที่เป็นหน่วยวิเคราะห์โดยผู้บริหารสถานศึกษา จะมีวงรอบการประเมินตามเงินเดือนระหว่างเดือนเมษายนและตุลาคม
  3. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยต้องเห็นผลการปฎิบัติงานของครูในห้องเรียน
  4. จะต้องเชื่อมโยงว่าครูสามารถยกระดับทักษะผู้เรียนได้สอดคล้องตามสภาพการเรียนรู้ในโลกศตวรรษที่ 21

 

ส่วนการคงวิทยฐานะของครูจะคงไว้ 5 ปี ถ้าครูต้องการทำผลงานเสนอเพื่อเลื่อนวิทยฐานะจากชำนาญการเป็นชำนาญการพิเศษ จะมีการพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ คลิปการสอนของครูในห้องเรียน แผนการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน

 

“ดังนั้น ในการประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของครูแนวใหม่นี้ จะไม่ใช้วิธีนำผลงานต่าง ๆ ของครูที่สะสมแล้วมาทำเป็นรูปเล่มรายงานส่งประเมิน แต่จะให้ยื่นผ่านระบบออนไลน์แทน จากนั้นภายใน 2-3 เดือน จะทราบผลว่าผ่านหรือไม่ผ่านการประเมิน”

 

รักษาการเลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวด้วยว่า กรอบแนวทางการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูผู้สอนแนวใหม่ดังกล่าว มีทีมวิจัยจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มาร่วมกันคิด โดยอิงรูปแบบผลการประเมินและพัฒนาครูในต่างประเทศด้วย ซึ่งมีการประเมินตามสภาพจริงที่สะท้อนถึงพัฒนาการของผู้เรียนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม จะนำกรอบแนวทางดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนด้วย ก่อนที่จะนำมาประมวลและสรุปอีกครั้ง คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปีการศึกษา 2564 ที่จะถึง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ edunewssiam.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *