ประเทศไทยต้องก้าวไปข้างหน้า! พาทัวร์อังกฤษ ผ่าน 3 ประสบการณ์การเรียนรู้ในต่างแดน กับโปรไฟล์ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นที่หอบความรู้มาพัฒนาประเทศ

 

  • บริติช เคานซิล ร่วมกับ สถานทูตฯอังกฤษ มอบรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นปี 2020 ด้านผู้ประกอบการ ผู้ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพ และผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม

ในยุคที่การแข่งขันในโลกการทำงานสูง ใคร ๆ ต่างก็แสวงหาโอกาสในการอัพดีกรีการศึกษาของตัวเองให้มีความโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาโอกาสศึกษาในระดับสูง ในสถาบันที่มีชื่อเสียง รวมถึงการเรียนต่อต่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเพิ่มโอกาสในการทำงานดี ๆ ให้กับตัวเองได้ และมากไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายคนที่ยังสามารถใช้โอกาสทางการศึกษาที่ได้รับ เพื่ออัพดีกรีให้กับสังคมและประเทศไทยอีกด้วย

บทความนี้จะพาไปเปิดมุมมองของผู้ที่ได้รับรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นแห่งปี 2563 ใน 3 สาขา ได้แก่ ดร.ธีระพงศ์ ยะทา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ศิษย์เก่าฯ ดีเด่นสาขาผู้ประกอบการ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศิษย์เก่าฯดีเด่นสาขาผู้ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพ และ นางสาวศิรษา บุญมา ผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม Hear and Found ศิษย์เก่าฯดีเด่น สาขาผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม โดยรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น เป็นรางวัลที่บริติช เคานซิล และสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย มอบให้กับศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรที่นำความรู้ความสามารถจากการศึกษาที่สหราชอาณาจักรมาพัฒนาสายอาชีพ ตลอดจนอุทิศคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ ซึ่งผู้ได้รับรางวัลทั้ง 3 ท่านจะมาเล่าถึงมุมมองความคาดหวังหลังจากสำเร็จการศึกษาที่สหราชอาณาจักร กับความเปลี่ยนแปลงที่ได้สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาสังคมด้วยความรู้จากสาขาวิชาที่ได้เรียนมา

 

  • ดิสรัปต์วงการเกษตร – ประมงไทย! กับวัคซีนป้องกันโรคสำหรับปลาแบบแช่ ผลงาน ดร.ธีรพงศ์ ยะทา

 

 

ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นสาขาผู้ประกอบการ กล่าวว่า ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชันเช่นทุกวันนี้ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรู้จักนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานในทุกศาสตร์ สำหรับประเทศไทยซึ่งประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ถือว่ายังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการคิดค้น และนำเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรมาใช้ เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตนในฐานะผู้ที่ทำงานในวงการวิทยาศาสตร์ จึงมีความตั้งใจที่จะต่อยอดองค์ความรู้ที่ตนมีความเชี่ยวชาญ จากการได้รับโอกาสศึกษาที่สหราชอาณาจักร ผ่านทุนรัฐบาล ในระดับปริญญาโท สาขา Molecular Medicine และระดับปริญญาเอก สาขา Clinical Medicine Research คณะแพทยศาสตร์ อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตบุคลากรวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีความสามารถในการพัฒนาผลงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ

 

    ดร.ธีรพงศ์ เล่าต่อว่า การเรียนที่อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน เน้นการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง (Project-based learning) การเรียนด้วยวิธีนี้ทำให้เราสามารถนำกระบวนการคิดมาประยุกต์ใช้กับโจทย์ใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปได้ ซึ่งเมื่อกลับมาทำงานที่ไทย ตนได้นำวิธีการเรียนรู้ดังกล่าว มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาการเกษตรและประมงในไทย เกิดเป็นผลงาน “ระบบนําส่งด้วยเทคโนโลยีระดับนาโน” หรือวัคซีนแบบแช่ ที่สามารถใช้กับปลาทุกขนาด ทีละจำนวนมาก ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถลดกระบวนการฉีดวัคซีนให้ปลาด้วยเข็มทีละตัว อีกทั้งมีต้นทุนที่ต่ำลง ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ที่ดิสรัปต์วงการเกษตรและประมงของไทย นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังถูกนำมาต่อยอด พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ยาและวัคซีน สําหรับป้องกันและรักษาโรคในคน และสัตว์ ซึ่งได้รับการยอมรับในวงการวิชาการ อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการจำนวนมาก

 

  “ในฐานะนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากความคาดหวังให้ผลงานวิจัยของเราได้ถูกเผยแพร่ ตีพิมพ์จำนวนมากแล้ว เราอยากให้ผลงานวิจัยของเราไม่ขึ้นหิ้ง แต่ถูกนำไปใช้ และช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้จริง ตลอดจนได้เผยแพร่ไปสู่สากลในนามผลงานของคนไทยดร.ธีรพงศ์ กล่าว

 

 

  • เปิดโมเดลระบบบริการสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก กับไอเดีย ‘คลินิกหมอครอบครัว’ ของ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี หวังคนไทยเข้าถึงสิทธิการรักษาพื้นฐานถ้วนหน้า

 

 

ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นสาขาผู้ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพ กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้รับทุนรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มหาวิทยาลัยยอร์ก ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขระดับโลก และปริญญาเอกในสาขานโยบายและสาธารณสุข จากสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนในสหราชอาณาจักร ตนมีความตั้งใจนำความรู้จากการศึกษาระบบการบริหารจัดการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพของอังกฤษ กลับมาปฏิรูประบบสาธารณสุขของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้ากำจัดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการสาธารณสุขของประเทศไทยให้หมดไป ผ่านการริเริ่มโครงการต่างๆ อาทิ โครงการปฏิรูปบริการสุขภาพ (Health care reform project) กองทุนคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ (State-race minority) จัดทำเเผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ตลอดจนการผลักดันนโยบายการเข้าถึงยารักษาโรคที่มีราคาแพง เช่น ยาจิตเวช ยามะเร็ง เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้ยาที่มีคุณภาพได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการยกระดับระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยให้ดีขึ้น และสามารถลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานได้มาก

 

นพ.พงศธร เล่าเพิ่มว่า ระบบบริการสุขภาพของสหราชอาณาจักร ได้รับการยกย่องว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพอันดับต้น ๆ ของโลก ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ส่วนสำคัญมาจากสหราชอาณาจักรมีระบบ “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” (General Practitioner: GP) หรือการที่ในแต่ละพื้นที่มีคลินิกหมอครอบครัว (Primary care cluster) ซึ่งทีมหมอครอบครัวหนึ่งทีมจะต้องดูแลประชาชน 10,000 คนในพื้นที่ที่รับผิดชอบชัดเจน นั่นหมายถึงทุกครอบครัวจะมีสิทธิรักษาโดยแพทย์ประจำพื้นที่นั้น ๆ ระบบดังกล่าวช่วยให้ประชาชนได้รับการรักษา ตลอดจนได้รับความรู้เรื่องการส่งเสริมด้านสุขภาพ และป้องกันโรคอย่างใกล้ชิด ซึ่งทำให้บริการสุขภาพของประเทศไทยได้รับการปฏิรูปอย่างยั่งยืนทั้งระบบ ตนจึงมีความตั้งใจผลักดันระบบดังกล่าวให้ถูกใช้งานทั่วประเทศไทย นอกเหนือจากเป้าหมายในการผลักดันระบบสาธารณสุขจากองค์ความรู้ที่ได้เรียนมาแล้ว ปัจจุบันตนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบายด้านผู้สูงอายุ การนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในระบบสาธารณสุข และการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้เท่าทันกับความต้องการในอนาคต

 

“ผมเรียนรู้ว่า ชีวิตคนเราแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงที่หนึ่งคือการเรียนรู้ ช่วงที่สองคือการนำไปใช้ และช่วงที่สามคือการนำไปถ่ายทอด เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สานต่อ และผลักดันบ้านเมืองของเราเจริญก้าวหน้าต่อๆ ไป การไปเรียนต่อต่างประเทศ การอยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม และนำมาถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ เป็นการใช้ชีวิตตาม 3 ช่วงที่ผมกล่าวถึง” นพ.พงศธร กล่าว

 

 

  • คุยกับ ผู้ก่อตั้ง ‘Hear and Found’ ธุรกิจเพื่อสังคมมาแรงแห่งปี กับคอนเซปต์ลบความแบ่งแยกคนเมือง – ชนเผ่า ผ่านโลกแห่งดนตรี

 

ปิดท้ายที่ นางสาวศิรษา บุญมา ผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม Hear and Found ศิษย์เก่าฯดีเด่น สาขาผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม เล่าว่า ตนและเพื่อนได้ก่อตั้ง “Hear and Found” คอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงกิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างคนชนเผ่ากับคนเมือง เพื่อลบทัศนคติความแบ่งแยกทางสังคมระหว่างคนสองกลุ่ม โดยการทำกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจร่วมกัน ผ่านการนำเสนอวัฒนธรรมที่น่าสนใจของชนเผ่าที่คนเมืองไม่มีโอกาสได้สัมผัส ด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่พวกเขามีอยู่ อาทิ วัฒนธรรมการเล่นดนตรี การทำอาหารพื้นเมือง โดยในปีที่ผ่านมา Hear and Found ได้จัด World Music Series หรือการดึงเอาชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ปกาเกอญอ ไทยทรงดำ ภูไท มาแสดงดนตรีให้คนเมืองทั้งชาวไทย และต่างชาติได้รับชม ซึ่งตนมองว่าการแสดงดนตรีเป็นอะไรที่มากกว่าการมอบความบันเทิงให้ผู้ชม แต่มันคือการเล่าเรื่องราวความเชื่อ วิถีชีวิตที่คนทั่วไปยังไม่รู้จักพวกเขา ผ่านการเล่นดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละชนเผ่า โดยในปีที่ผ่านมาได้จัด World Music Series ขึ้นทั้งหมด 9 ครั้ง แต่ละครั้งเป็นการเวียนจัดที่โฮสเทลบริเวณกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งกิจกรรมดังกล่าวยังทำให้คนเมืองได้รู้จักวัฒนธรรมของคนชนเผ่ามากขึ้น และเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนชนเผ่าว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นอื่น ซึ่งตรงจุดนี้ตนถือว่าบรรลุเป้าหมายของการก่อตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมา

 

นางสาวศิรษา เล่าเพิ่มว่า แรงบันดาลใจของการก่อตั้ง Hear and Found เกิดจากความสนใจทำงานในด้านศิลปะ ดนตรีสร้างสรรค์ของตน และความตั้งใจอยากมีธุรกิจที่ได้ทำเพื่อสังคม ตนจึงตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาผู้ประกอบการสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ที่โกลด์สมิธ มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร เพราะนอกจากสาขาวิชาดังกล่าวจะตอบโจทย์จุดมุ่งหมายในการประกอบอาชีพของตนแล้ว ตนยังมองว่าลอนดอนเป็นเมืองต้นแบบแห่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative industry) เห็นได้จากตัวอย่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม (Cultural asset) ได้อย่างประสบความสำเร็จ ตลอดจนวัฒนธรรมการยอมรับซึ่งกันและกัน ในหมู่คนหลากหลายชนชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ตนเชื่อว่า ความพยายามในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม และสร้างการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันด้วยวัฒนธรรม จะสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันในประเทศไทย และในอนาคตชนกลุ่มน้อยรุ่นใหม่ในไทยจะสามารถอยู่ในสังคมเมืองได้อย่างภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเองเช่นเดียวกับที่สหราชอาณาจักรทำได้

 

 

การได้ไปเรียนและใช้ชีวิตที่สหราชอาณาจักร เมืองต้นแบบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำให้เราถูกปลูกฝังว่าการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป และทุกอย่างที่เราตั้งใจสามารถเกิดขึ้นและเป็นไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า possibilities that has no end’ นางสาวศิรษา กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ งานประกาศรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น ประจำปี 2563 (UK Alumni Awards 2020) เป็นกิจกรรมที่ บริติช เคานซิล องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อเชิดชูความสำเร็จของศิษย์เก่าสหราชอาณาจักร ที่นำความรู้ความสามารถจากการศึกษาที่สหราชอาณาจักรมาพัฒนาสายอาชีพ ตลอดจนอุทิศคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ ซึ่งบริติช เคานซิล ยังคงมุ่งหวังให้การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และวัฒนธรรมผ่านการศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร ถูกนำกลับมาถ่ายทอด และยกระดับสังคมอย่างไม่รู้จบ เช่นเดียวกับที่ผู้ได้รับรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นทั้ง 3 คน ได้นำความรู้และประสบการณ์การศึกษาที่สหราชอาณาจักรของตน กลับมาอัพดีกรีสังคมไทยในรูปแบบของตัวเอง

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

บริติช เคานซิล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *