ข้อสอบ GED คืออะไร? สอบผ่านแล้วเข้ามหาวิทยาลัยได้เลยจริงหรือ?

สำหรับการเรียนการสอนในปัจจุบันเรามีทางเลือกในการเรียนหรือการศึกษาต่อกันมากขึ้น หลายคนเลือกที่จะไม่เรียนในระบบปกติ หลายคนเลือกที่จะเรียนในสิ่งที่ชอบได้มากขึ้น รวมไปถึงหลายคนเลือกที่จะเรียนต่อแบบไม่ต้องรอให้จบตามชั้นปี อย่างเช่นการสอบ GED ที่สามารถทำให้เรายื่นเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้แม้ยังเรียนไม่จบชั้นมัธยมปลายนั่นเอง และสำหรับคนที่กำลังสนใจแต่สงสัยว่าจริงๆ แล้วการ GED คืออะไร แล้วที่บอกว่าสอบผ่านแล้วเข้ามหาวิทยาลัยได้เลยนั้นจริงหรือไม่ วันนี้เราก็มีข้อมูลที่จะมาช่วยไขข้อข้องใจให้กับน้องๆ ทุกคนกันค่ะ

 

 

GED คืออะไร?

GED หรือชื่อเต็ม คือ General Educational Development เป็นวุฒิการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยได้รับรองวุฒิการศึกษานี้ให้เทียบเท่าได้กับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของประเทศไทย อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2558

GED จึงเป็นการเรียนเพื่อสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ตามหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ที่ไม่ได้จบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบปกติ หรือสายสามัญ นอกจากนี้การสอบ GED ยังสามารถใช้ประกาศนียบัตรสมัครเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ ทั้งในอเมริกา และต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) ที่รับรองหลักสูตรนี้ได้อีกด้วย ทำให้GED นั้นอาจจะเรียกได้ว่าคล้ายกับการเรียน กศน. ของไทยเลยก็ว่าได้ และสำหรับผู้ที่มีสิทธิสอบ GED จะสามารถสอบได้เมื่อมีอายุ 16 ปีขึ้นไป และต้องมีจดหมายยินยอมจากผู้ปกครอง (Consent Form) เท่านั้น

 

โดยการสอบ GED จะแบ่งออกเป็น 4 รายวิชา ได้แก่ Reasoning Through Language Arts (RLA), Social Studies, Mathematical Reasoning, และ Science คะแนนเต็มของแต่ละวิชาคือ 200 คะแนน รวมทั้งหมดเป็น 800 คะแนน ซึ่งผู้สอบต้องสอบให้ได้อย่างต่ำ 145 คะแนนต่อหนึ่งวิชาถึงจะผ่าน โดยจะมีคะแนนรวมของทั้ง 4 วิชารวมกันไม่น้อยกว่า 580 คะแนนจึงจะถือว่าสอบผ่าน สำหรับโครงสร้างการสอบของแต่ละวิชา มีดังนี้

 

  1. Reasoning Through Language Arts (RLA) วิชาภาษาอังกฤษประกอบไปด้วยข้อสอบแบบ multiple choices, drag and drop, select and area, and drop down วัดทักษะการอ่าน ไวยากรณ์พื้นฐาน และการเขียนเรียงความแบบ argumentative โดยการสอบ ใช้เวลารวม 150 นาที แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนของการอ่าน และ ไวยากรณ์พื้นฐาน จำนวนคำถามโดยประมาณ 45 ข้อ และส่วนเป็นการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษนั่นเอง
  2. Social Studies วิชาสังคม ประกอบไปด้วยคำถาม 30 ข้อ ใช้เวลาทั้งหมด 70 นาที ทักษะที่เน้นในวิชานี้คือการอ่านวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และการเมืองการปกครอง รวมถึงการอ่านตัวเลข กราฟ ตาราง และแผนที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมศึกษา
  3. Mathematical Reasoning ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ ประกอบไปด้วยคำถามจำนวน 46 ข้อ ใช้เวลาทั้งหมด 115 นาที
  4. Science วิชาวิทยาศาสตร์ ประกอบไปด้วยคำถามจำนวน 34 ข้อ ใช้เวลาทั้งหมด 90 นาที

โดยหลังจากสอบผ่านทั้ง 4 วิชาแล้วนั้น ผู้สอบก็จะสามารถดำเนินการขอวุฒิการศึกษา (diploma) และใบคะแนนผลการศึกษา (transcript) เพื่อนำไปยื่นต่อมหาวิทยาลัยที่รองรับวุฒิการศึกษาดังกล่าว c]tเมื่อสอบผ่านแล้ว ผู้เข้าสอบต้องรอประมาณ 2 อาทิตย์ หรือน้อยกว่านั้นจะได้รับอีเมลจาก E-Diploma และ E-Transcript จาก GED Testing Service

 

 

สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนของ GED คือ

Below Passing: 100-144

GED®Passing Score: 145-164

GED®College Ready: 165-174

GED®College Ready + Credit: 175-200

 

และการสอบ GED นั้น ในกรณีสอบ GED ไม่ผ่านสามารถสอบซ่อมเพื่อให้ได้คะแนนเพิ่มโดยสามารถเลือกสอบซ่อมเฉพาะวิชาที่ได้คะแนนน้อยหรือสอบซ่อมทุกวิชาก็ได้ โดยในการสอบจะคิดจากค่าธรรมเนียมในการสอบวิชาละ 50 ดอลล่าร์สหรัฐ ค่าประกาศนียบัตร(diploma)15 ดอลล่าร์ และค่าใบแสดงผล (transcript) อีก15ดอลล่าร์ ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบจะอยู่ที่ 9000-11000บาท ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในขณะนั้นด้วย

 

  

 

สอบผ่านแล้วเข้ามหาวิทยาลัยได้เลยนั้นจริงหรือ?

เมื่อสอบผ่านและได้รับ GED Diploma แล้วเราสามารถใช้ GED Diploma ในการสมัครสอบได้ในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เปิดรับ ส่วนมหาวิทยาลัยในไทยที่เปิดรับจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการสอนหลักสูตรอินเตอร์ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นต้น

 

สำหรับการสอบ GED นั้นจะทำให้เราสามารถเรียนในสิ่งที่เราอยากเรียนแต่ไม่มีในหลักสูตรมัธยมได้เร็วยิ่งขึ้น แต่การสอบแบบ GED นี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับข้อดีของ GED ได้แก่

-เด็กอายุ 16 ปีบริบูรณ์เข้าสอบได้ (กรณีที่ผู้ปกครองอนุญาต)

-สอบแค่ 4 วิชาเท่านั้น และข้อสอบก็เป็นแบบ Multiple choices เป็นส่วนใหญ่

-มีวันสอบทุกสัปดาห์ วันจันทร์ถึงวันศุกร์

-ได้วุฒิเทียบเท่า ม.6 ภายในระยะเวลาไม่นาน

-มีหนังสือเตรียมสอบ และสื่อการเรียนในรูปแบบอื่นๆ มากมาย

-กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศรับรองวุฒิ GED

 

 

ข้อเสียของ GED?

GED เป็นการศึกษานอกระบบ ซึ่งเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่ไม่สามารถเข้าเรียนภาคปกติได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อนักเรียนที่เรียนอยู่ในระบบปกติให้ความสนใจมาสอบ GED จึงมีอเสียเปรียบ เช่น

-ความรู้ด้านวิชาการไม่แน่นเท่าการเรียนตามหลักสูตรมัธยมปลาย 3 ปี จะมีความลำบากในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

-ข้อสอบวิชา Language Arts, Reading และ Social Studies ผู้เข้าสอบต้องมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ และทักษะการคิด วิเคราะห์ข้อมูล

-ผู้ที่มีความสามารถภาษาอังกฤษไม่ดี จะต้องใช้เวลาเรียนค่อนข้างนาน

 

 

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครสอบนั้นศูนย์สอบ GED ในประเทศไทยมีดังนี้

-Paradigm Language Institute เพลินจิต

-Pearson Professional Centers: BB Building อโศก

ส่วนในต่างจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก และภูเก็ต

 

การสอบ GED สามารถยื่นคะแนนสำหรับเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ทั้งต่างประเทศและประเทศไทย โดยเฉพาะหลักสูตรอินเตอร์ ซึ่งหากใครสนใจอยากเรียนต่อในหลักสูตรอินเตอร์แต่ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์ก็สามารถเข้าไปติดตามกันได้ที่ >>> อยากเรียนต่ออินเตอร์ ต้องเตรียมตัว(สอบ)อะไรบ้าง?

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: https://www.ignitebyondemand.com/study-ged-test/

: https://www.imeducation.net/2018/12/15/ged/

: https://theplannereducation.com

: https://www.aims.co.th/

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *