รู้จักกับ PERMA จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน

“จิตวิทยาเชิงบวก เป็นแนวทางจิตวิทยาสมัยใหม่ที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ที่เกิดจากอารมณ์เชิงบวก ที่ทำให้คนมีความสุข และพร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้”

 

ปัจจุบันแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพราะวิธีการศึกษาจิตวิทยาแบบดั้งเดิมมีความโน้มเอียงไปทางจิตพยาธิวิทยาและการบำบัดรักษาความผิดปกติทางจิต มากกว่าการสร้างความเข้มแข็งทางจิต แต่จิตวิทยาเชิงบวกนั้นส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมีหลักการให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน มีอารมณ์ด้านบวก ทำให้เรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน จนลืมเวลา เกิดความไหลลื่นในการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยในการเรียนรู้นั้นผู้เรียนจะมีแรงจูงใจ มีส่วนร่วมเกิดความสัมพันธ์ มีความผูกพันทั้งระหว่างผู้เรียนด้วยกันและผู้สอน และนำมาเชื่อมโยงกับชีวิตจริง เกิดความสำเร็จในตนเอง นำไปใช้ได้ในอนาคต

 

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ sad student

 

 

จิตวิทยาในแนวทางเดิม (traditional psychology) เป็นการศึกษาอารมณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สบาย เช่น เครียด กังวล  ซึมเศร้า การเรียนรู้ที่ผ่านมาได้ใช้แนวทางด้านลบมาเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเชื่อว่าถ้าหลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบ จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความรู้สึกด้านลบ การลงโทษ การเปรียบเทียบ การตำหนิ  กดดัน จะทำให้เกิดการเรียนรู้ เช่น

-ถ้าไม่เรียนจะโดนลงโทษ

-ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะโง่

-ถ้าไม่อ่านหนังสือจะสอบตก จะอับอาย และชีวิตจะล้มเหลว

-ถ้าคะแนนต่ำจะสู้หรือแข่งกับใครไม่ได้ และเป็นผู้แพ้

หรือเรียนไม่ดี ชีวิตจะล้มเหลว เป็นต้น

 

การเรียนรู้ในแนวทางนี้จิตวิทยาแบบดั้งเดิมอย่างเดียวนั้น จะทำให้ผู้เรียนมีชีวิตที่กังวลและซึมเศร้าได้ง่าย ชีวิตเต็มไปด้วยความกังวล และความกลัว โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหา หรือความล้มเหลว จะเครียดและซึมเศร้าได้ง่าย เพราะถูกฝึกมาให้ชีวิตต้องป้องกันความผิดพลาดตลอดเวลา  การเรียนรู้ในแนวทางนี้ผู้สอนจึงควรระมัดระวังทัศนคติเชิงลบเหล่านี้ เพราะถ้าใช้มากๆ โดยไม่มีด้านบวก จะเกิดปัญหาในบุคลิกภาพ ในตัวเด็กได้

 

ผู้สอนจึงควรหาทางใช้แนวคิดของ Positive Psychology เพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายในได้ และช่วยให้ผู้เรียนมีความสุขมีพลังต่อสู้ได้กับความล้มเหลว ไม่ติดอยู่กับความสำเร็จแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับจิตวิทยาในแนวทางเดิม  โดยทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวกนี้มาจาก ศาสตราจารย์ Seligman ที่ได้พัฒนาทฤษฎี “P.E.R.M.A.” มาเป็นแนวคิดในการพัฒนาความสุข (Happiness) และสุขภาวะ (Well-being)

 

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ perma model

 

 

ซึ่งแนวทางของ Positive psychology (Martin Seligman) หรือ P.E.R.M.A. ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ได้นี้ มีหลักการด้วยกัน 5 มิติ คือ

 

 P-Positive Emotion สภาวะของอารมณ์ที่ดี เช่น สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ชวนคิด อยากรู้ อยากเปลี่ยนแปลง ชื่นชมตนเอง ชื่นชมผู้อื่น รู้สึกดีต่อตนเอง ภูมิใจตนเอง ชื่นชมกลุ่ม กิจกรรมในการเรียนรู้ จึงออกแบบให้ ผู้เรียนมีส่วนร่วม  ทำงานร่วมกัน ช่วยกันแก้ปัญหา และเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ด้วยกัน เมื่อจบการเรียนรู้ ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าตนเอง ภูมิใจตนเอง อยากเรียนรู้ต่อไปด้วยตัวเอง

 

E-Engagement ความผูกพันในการทำกิจกรรม แสดงความร่วมมือ ไม่สนใจกิจกรรมอื่น ให้เวลา และทุ่มเทเพื่อกิจกรรม การออกแบบกิจกรรมที่ดี จะช่วยให้เกิดความร่วมใจกับผู้สอนและร่วมใจกันในกลุ่ม การใช้กระบวนการกลุ่ม มีการแบ่งกลุ่มที่เสมอภาค ฝึกให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างกัน เน้นกระบวนการกลุ่ม (process) มากกว่าผลงานกลุ่ม (product)  มีการสังเกตพฤติกรรมกลุ่มร่วมกับการสอนงานกลุ่ม (group coaching) มีการประเมินกลุ่ม และ feedback สม่ำเสมอ จะช่วยให้เกิดความมีส่วนร่วมนี้ ผู้สอนควรมีการสังเกตพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือผู้เรียนที่ไม่เชื่อมโยงกับกลุ่ม

 

R -Relationships ความสัมพันธ์ที่ดี มีความร่วมมือร่วมใจ (collaboration) เป็นอันหนึ่งอันเดียว (cohesion) มีการสื่อสาร (communication) การร่วมทุกข์ร่วมสุข (sharing) มีความเป็นผู้นำผู้ตาม (leadership)  ในความสัมพันธ์ที่ดีนั้น ทำให้มีความรู้สึกที่ดีตามมา เห็นคุณค่าของการทำงานกลุ่ม ยอมรับความแตกต่าง ได้ช่วยเหลือและส่งเสริมกัน สะท้อนถึงการทำงานหรือใช้ชีวิตกันในสังคม ซึ่งในกลุ่มที่ต้องการเน้นทักษะสังคมในการทำงานร่วมกัน การประเมินเพื่อสร้างสรรค์โดยไม่มีคะแนน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน

 

M-Meaning  การรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย เป็นการค้นหาความหมายของชีวิตและการเรียนรู้ว่ามีอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเพื่อช่วยให้พยายามทำตามเป้าหมาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในปัจจุบัน ที่ทำให้มีแรงจูงใจจะทำอะไรต่อไปที่สัมพันธ์กันในอนาคต ผู้สอนควรช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์นี้เป็นระยะๆ จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งที่เรียน

 

A-Accomplishment การบรรลุถึงเป้าหมาย  เป็นการสร้างความสำเร็จและความเชี่ยวชาญให้บรรลุถึงเป้าหมายตามความต้องการที่ตั้งไว้อย่างเป็นรูปธรรมของผู้เรียน

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

 

ซึ่งในท้ายการเรียนรู้ ควรให้ผู้เรียนสะท้อนการเรียนรู้ (reflection) โดยแสดง PERMA ว่าในการเรียนรู้นั้นมีความรู้สึกอย่างไร เป็นความรู้สึกด้านบวกหรือไม่ (positive emotion)  ความสัมพันธ์ผูกพันกับเพื่อนๆ และผู้สอน (relationship) มีมากน้อยเพียงใด  ความมีส่วนร่วมในกิจกรรม (engagement) นั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่เรียนรู้ใหม่นั้นมีผลต่อชีวิตอย่างไร (meaning) และรู้สึกว่าได้ทำอะไรสำเร็จบ้าง (accomplishment)

 

PERMA หรือทฤษฎีการเรียนรู้เชิงบวกนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับการสร้างการเรียนรู้แก่ผู้เรียนที่ผู้สอนสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กหรือผู้เรียนเกิดความสุขและพร้อมจะรับการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เพราะ PERMA จะทำให้เราเห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะ ทำให้เกิดการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในกระบวนการเรียนรู้ และยังสร้างประจุบวกในห้องเรียนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะหากใจนักเรียนเป็นสุข เขาก็พร้อมที่จะเปิดรับการเรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆ นั่นเองค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: https://drpanom.wordpress.com

: http://bsris.swu.ac.th/jbsd/601/15sudarat.pdf

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: http://www.chan.rmutto.ac.th/8/public/post/149?fb_comment_id=1562008140576441_1625817827528805&_escaped_fragment_=

: https://www.libertynation.com/past-is-prologue-the-sexual-revolution-in-schools/sad-student/

: https://www.socialarabi.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *