13 เทคนิคสอนให้เด็กรักวิชาคณิตศาสตร์

 

ถ้าพูดถึงวิชาปราบเซียน วิชาที่ยากและติดอันวิชาที่นักเรียนหลายคนไม่ชอบแล้วล่ะก็ หนึ่งในวิชาที่หลายคนนึกถึงก็คงจะหนีไม่พ้น “วิชาคณิตศาสตร์” แต่วิชานี้ไม่ได้ปราบเซียนแค่คนเรียนเท่านั้น แต่ก็ปราบไปถึงคนสอนด้วย เพราะในเมื่อเด็กหลายคนไม่ชอบการเรียนคณิตศาสตร์ ไม่ชอบตัวเลข ไม่ชอบการคิดคำนวณก็ยิ่งส่งผลให้การสอนของครูยากมากขึ้น วันนี้เราจึงมีเทคนิคสั้นๆ ที่ช่วยทำให้เด็กๆ รักวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้น จาก ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ (อ.หนุ่ม) มาฝากกันค่ะ

 

 

1 เมื่อสอนแล้วเด็กไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งดุ

หลายคนเกลียดวิชาคณิตศาสตร์เพราะเคยถูกดุ จากนั้นจึงฝังใจคำพูดนั้นไปทั้งชีวิต ฉะนั้นถ้าเราไม่อยากทำร้ายเด็กทั้งชีวิต ผู้สอนต้องใจเย็นๆ ต้องไม่พูดดูถูกเด็ก เพราะการที่เราเก่งคณิตศาสตร์ไม่ได้หมายความว่าเราจะเก่งในทุกเรื่อง เด็กเองก็เช่นกัน

 

 

2 ถ้าอธิบายเด็กวิธีเดิมหลายครั้งแล้วยังไม่เข้าใจ เราต้องเปลี่ยนวิธีอธิบาย

มีครูผู้สอนบางท่านอธิบายเด็กด้วยวิธีเดียวกันหลายครั้ง ในการอธิบายครั้งหลังๆ มักจะอารมณ์เสียใส่เด็ก สิ่งที่ควรคิดคือ หากเราสอนด้วยวิธีหนึ่งไม่ได้ผล เราก็ควรอธิบายด้วยวิธีอื่น หรืออธิบายทีละขั้นและเช็กว่าเด็กไม่เข้าใจตรงจุดไหน

 

 

3 สอนให้นักเรียนเข้าใจจริงๆ ไม่เน้นการท่องจำหรือวิธีลัดมากเกินไป

ผู้สอนไม่ควรสอนเด็กโดยเน้นแต่การท่องสูตรและวิธีลัดเพื่อทำข้อสอบ วิธีนี้ไม่ดีกับเด็กในระยะยาว แต่ต้องสอนให้เด็กเข้าใจเนื้อหาจริงๆ เพื่ออนาคตเขาจะได้นำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ และเมื่อเจอโจทย์ที่แตกต่างจากที่เคยเห็นเขาก็สามารถทำโจทย์ได้

 

4 อธิบายภาพรวมก่อนจะสอน

ก่อนจะสอนแต่ละเรื่อง ผู้สอนควรอธิบายภาพรวมก่อนว่าเด็กจะเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง และมันเชื่อมโยงกับความรู้ที่เคยเรียนมาอย่างไร เขาจะได้จับประเด็นได้ดีขึ้น

 

 

5 มีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจในห้องเรียนบ้าง

ผู้สอนอาจเล่าประวัตินักคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจ เกมคณิตศาสตร์สนุกๆ เรื่องใกล้ตัว หรือเรื่องตลก ถ้าเรื่องที่เล่าไม่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ อย่างน้อยก็ทำให้เด็กตื่นตัวหายง่วง หรือหายเครียดได้

 

 

6 อธิบายถึงประโยชน์ของเรื่องที่สอน

เราควรบอกเด็กว่าการเรียนรู้แต่ละเรื่องนั้นมีประโยชน์ต่อชีวิตเขาอย่างไร เช่น การไปเรียนต่อในระดับสูง และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

 

7  ให้เด็กฝึกทำแบบฝึกหัดเป็นประจำ

การเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การทำแบบฝึกหัด เราต้องกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจในการทำแบบฝึกหัดอยู่เสมอ เช่น การให้คะแนน การตรวจแบบฝึกหัดที่เด็กทำเป็นประจำ และไม่ลืมการชมเชยสิ่งที่เด็กทำได้ดีเพื่อเสริมแรง และอธิบายสิ่งที่เด็กทำผิดเพื่อให้เขาเข้าใจถูกต้อง

 

 

8 ทำให้เด็กรู้ว่าเราอยากช่วยเหลือเขาจริงๆ

ทำให้เหมือนพ่อแม่ที่เด็กรู้สึกว่า ไม่ว่าเด็กจะเป็นอย่างไรเราก็รักเขาตลอด การที่เด็กรู้สึกดีกับผู้สอนจะทำให้เด็กรู้สึกดีกับวิชาที่เรียนไปพร้อมกัน

 

 

9 ถามเด็กบ้างว่าเขาอยากให้เราสอนอย่างไร

ผู้สอนอาจจะสอบถามกับเด็กโดยตรง และสอบถามผ่านแบบสอบถาม ซึ่งจะทำให้เราได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย ทั้งกำลังใจและเรื่องที่เราควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับเด็กมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้สอนต้องเป็นคนใจกว้างรับฟังความเห็นของผู้อื่น

 

 

10 สอนให้เด็กเข้าใจตัวเองว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง

เรื่องนี้สำคัญมาก คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่จะเก่งแค่เพียงบางเรื่อง การบอกเขาจะทำให้เขาไม่กดดันตัวเองมากเกินไป อย่างไรก็ตามควรแจ้งเขาว่าหากเขาเก่งคณิตศาสตร์ในระดับปานกลางขึ้นไป เขาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้ว่ายและเร็วขึ้น

 

 

11 ให้เด็กมีโอกาสทำกิจกรรมการเรียนรู้บ้าง

ผู้สอนควรทำกิจกรรมการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ในโรงเรียนบ้างอย่างน้อยภาคการศึกษาละหนึ่งครั้ง เพราะเด็กทุกคนจะผ่านกิจกรรมได้ดีกว่าจำผ่านการบรรยาย

 

 

12 ให้เด็กได้เข้าค่ายคณิตศาสตร์

ครูในโรงเรียนควรจัดกิจกรรมค่ายให้แก่เด็กๆ เพราะมันมีผลต่อทัศนคติของเด็กมาก ทั้งนี้ผู้ปกครองก็สามารถให้เด็กไปสมัครเข้าค่ายคณิตศาสตร์เช่นกัน

 

 

13 แนะนำแหล่งเรียนรู้ที่เด็กสามารถไปศึกษาต่อเองได้

เด็กบางคนพร้อมและอยากที่จะเรียนรู้ เพียงแต่เราต้องแนะนำเขา ครูอาจจะแนะนำหนังสือดีๆ เว็บไซต์ หรือแหล่งเรียนรู้ให้เด็กไปศึกษาเอง

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ math learning

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์

อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

Credit : https://www.kruupdate.com/news/newid-1204.html.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *