นักศึกษามทร.ธัญบุรี คว้าถ้วยพระราชทาน ในการแข่งขันจัดสวนญี่ปุ่นv

นักศึกษาปี 1 สาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ มทร.ธัญบุรี คว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ประกอบด้วย นายภราดร บางโม นายสุระศักดิ์ สร้อยระย้า  นางสาวธัญญรัตน์ จำนงค์โชค นายณัฐวุฒิ ยุทธกิจ นางสาวนันตฌา เท่าสิงห์ นายพีรยุทธ บุตรศักดิ์ ควบคุมทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา ชัยพงษ์ อาจารย์ชนกนันท์ ปิ่นตบแต่ง และ นายพงศกร สุขแสงแก้ว ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม คว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การแข่งขันจัดสวนญี่ปุ่น พื้นที่ 3×4 ตารางเมตร เนื่องในงานพฤกษาตะวันออกครั้งที่ 16  จัดโดยสมาคมไม้ดอกไม้ประดับภาคตะวันออก ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี

โดย อาจารย์ชนกนันท์ ปิ่นตบแต่ง เผยว่า การแข่งขันครั้งนี้มีทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 9 ทีม มีรางวัลทั้งหมด 6 รางวัล คือ รางวัลยอดเยี่ยม รางวัลที่ 1-3 และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ด้วยโจทย์ที่ได้เป็นการจัดสวนญี่ปุ่น ทีมเราจึงพรีเซนต์ไอเดียสวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่เน้นถึงธรรมชาติ และสัจจะของวัสดุ โดยเราได้จำลองภูมิทัศน์ของภูเขาและลำธารเข้ามาไว้ในงาน ทั้งการปั้นเนินมอส จำลองภูมิประเทศที่มีความเขียวชอุ่ม การใช้กรวดจำลองผืนน้ำ อีกทั้งมีการผสานกับวัสดุที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด เช่น การทำผนังไม้ไผ่ที่นำมาซ้อนกัน 2 เลเยอร์ และซ่อนแสงไฟไว้เป็นฉากหลัง แสดงถึงวิวภูเขาที่มีความสดชื่น แต่แฝงไว้ด้วยความอบอุ่น สวนของทีม เน้นความเป็นธรรมชาติ สามารถมองเห็นได้ 3 ด้าน โดยทุกๆ ด้านต้องสวยและถ่ายรูปได้ อีกทั้งเราพยายามใช้วัสดุดาดแข็งและงานโครงสร้างให้น้อยที่สุด เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ นอกจากนี้ เราคำนึงถึงงบประมาณในการจัดสวนที่ราคาไม่สูง ดูแลรักษาง่าย เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้พบเห็นสามารถนำไปจัดตามได้

ทางด้านนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ “เค” นายภราดร บางโม เล่าว่า เคยเข้าประกวดจัดมุมสวนนั่งเล่น เนื่องในงาน Little Backyard จัดโดย Future Park & Zpell  และได้รับรางวัลชนะเลิศ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับถ้วยถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลยอดเยี่ยมความสำเร็จครั้งนี้คงเป็นไปไม่ได้หากขาดอาจารย์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาสำคัญ และขอขอบพระคุณทางทีมท่านผู้จัดงานและท่านคณะกรรมการตัดสินที่ได้เห็นความสามารถและความตั้งใจของพวกเรา ในทีมมีการวางแผนกันเป็นอย่างดี ตั้งแต่การออกแบบการจัดหาวัสดุอุปกรณ์พรรณไม้ที่เหมาะสมรวมถึงการลงมือปฏิบัติและพวกผมตั้งใจให้ผลงานออกมาดีและมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด สำหรับต้นไม้ที่ใช้ ประกอบด้วย ต้นเสม็ดแดง พุดกุหลาบที่มีฟอร์มคดโค้งเป็นธรรมชาติเป็นต้นไม้ประทานและรองประทาน ใช้ต้นจั๋ง ไผ่ เล็บครุฑห้าแฉก นีออนแคระ สนเลื้อย หลิวเลื้อย ปริกน้ำค้าง ที่มีใบละเอียดให้ความรู้สึกผ่อนคลายเหมาะกับสวนญี่ปุ่น ใช้ต้นไม้อื่น ๆ ที่เพิ่มความเป็นธรรมชาติและสวยงาม เช่น ต้นไอวี่ด่าง ริบบิ้นเขียว เฟิร์นก้านดำ เฟิร์นกนกนารีเลื้อย ว่านลูกไก่ หนวดปลาดุกแคระ บีโกเนีย พลูสนิม เฟิร์นเงิน เฟิร์นนาคราช สนออสเตรเลีย ใช้มอสปกคลุมดินเก็บรายละเอียดและเพื่อความสวยงาม

สำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาสนใจอยากเข้าศึกษาสาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์  ชั้น ม.6 สมัครผ่านระบบ tcas รอบ tcas3 ที่ https://www.mytcas.com/ ปวช. และ กศน. สมัครรอบรับตรงที่ https://apply.rmutt.ac.th ทุกแผนการเรียน ทั้ง ม.6 ปวช. กศน. สมัครรอบโควตาคณะ ได้ที่ https://forms.gle/7HjTPFvypYPepXSb7 สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2592-1943 หรือ       0-2592-1955 ต่อ 2026 หรือทางเว็บไซต์ https://www.agr.rmutt.ac.th/

ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *