ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน กับการแก้ไข?


การล่วงละเมิดทางเพศถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมามีเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ เพียงแต่ไม่ได้เป็นที่สนใจในผู้คนมากนักหากไม่ใช่คดีใหญ่โต อีกทั้งยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่กล้าแม้แต่จะแจ้งความดำเนินคดีหรือดำเนินการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง คนบางกลุ่มกลับแค่ปกปิดไว้ หรือเพิกเฉยราวกลับไม่เคยมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น และที่น่าตกใจก็คือ สถิติจาก สสส. ยังค้นพบว่า หญิงไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ-กระทำความรุนแรงทางเพศมากกว่า 7 คนต่อวัน และเข้ารับการบำบัดรักษาและแจ้งความร้อนทุกข์ 30,000 คนต่อปี นอกจากนี้เหยื่อยังพบอยู่มากมายหลากหลายอาชีพ แต่ที่น่าสนใจคือเหยื่อที่เป็นนักเรียน นักศึกษา Eduzones ได้รวบรวมข้อมูลและสถิติการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่กระทำโดยครู อาจารย์หรือบุคลากรทางการศึกษา และถูกกระทำโดยนักเรียน นักศึกษามาไว้ด้วยกันดังนี้การล่วงละเมิดทางเพศ หมายถึงการที่บุคคลมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นในลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ โดยจะปรากฏได้หลายรูปแบบ เช่น การข่มขู่หรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ การแสดงอวัยวะเพศ การจ้องมองของสงวน การพยายามจับต้องร่างกาย การสะกดรอยตาม หรือการพูดจาแทะโลม เป็นต้น

 

จากผลสำรวจปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยองค์การอนามัยโลกพบว่า มีผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศและกระทำรุนแรงทางร่างกายจำนวน 7 คนต่อวัน และ 30,000 คนต่อปี โดยช่วงวัยของผู้ถูกกระทำที่พบมากที่สุดคือ เด็กและเยาวชนอายุ 5-20 ปี คิดเป็น 60.6% และกลุ่มอาชีพผู้ถูกกระทำที่พบมากที่สุดก็คือนักเรียน นักศึกษา โดยคิดเป็น 60.9%  

ขอบคุณรูปภาพจาก : Best Living Taste

ปัจจุบันประเทศไทยพบคดีที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศอยู่เรื่อยๆ โดยจากสถิติการล่วงละเมิดทางเพศ ตั้งแต่ปี 2556-2562 ของ ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ฉก.ชน.สพฐ.) พบว่า ในระยะ 7 ปีนี้ มีปัญหาเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งหมด 1,186 เคส โดยที่พบมากสุดคือ กรณีที่บุคคลอื่นกระทำกับเด็ก 482 เคส ตามด้วย กรณีที่เด็กกระทำกับเด็กด้วยกัน 464 เคส กรณีที่คนในครอบครัวทำกับเด็ก 135 เคส และกรณีที่ครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษากับเด็ก 105 เคส 

แม้กรณีครูกับนักเรียนจะปรากฏไม่มากหากเทียบกับกรณีอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีอีกหลายเคสที่เกิดขึ้น เพียงแต่ไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องก็เป็นได้ เนื่องจากปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะต่อนักเรียนเองที่มีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน ทั้งความกลัวว่าจะอับอาย กลัวผู้ล่วงละเมิดทางเพศที่มีอำนาจสูงกว่าจนอาจไม่ได้รับความยุติธรรมในท้ายที่สุด หรือกลัวว่าครอบครัวจะรู้และกล่าวโทษ อีกทั้งนักเรียนยังถือว่าเป็นกลุ่มคนในช่วงวัยที่ยังไม่ได้มีวุฒิภาวะมากพอในการตัดสินใจกระทำบางสิ่งบางอย่าง ส่วนฝ่ายของครูก็อาจกระทบต่อหน้าที่การงาน ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ เป็นสาเหตุที่เมื่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นจึงมักจะถูกปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ โดยจะเห็นได้จากกรณีของคดีที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง ครูวัย 33 ปี กระทำอนาจารนักเรียนมากกว่า 20 คน เมื่อผู้ปกครองของนักเรียนเข้าแจ้งความและเกิดเป็นกระแสข่าว คณะกรรมการศึกษาในโรงเรียนบางคนกลับข่มขู่ครูไม่ให้แจ้งข้อมูลใดๆ ต่อนักข่าว เพื่อรักษาชื่อเสียงของโรงเรียน และพยายามที่จะเจรจากับผู้ปกครองผู้เสียหายบางท่าน ส่งผลให้ผู้ปกครองหลายท่านไม่กล้าที่จะแจ้งความดำเนินคดี แต่ถึงอย่างไรวิธีการปกปิดดังกล่าวนี้ก็ถือว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะไม่เพียงแต่ผลกระทบทางร่างกายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ผลกระทบทางจิตใจก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้นกับตัวนักเรียนเอง ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่าในอนาคตได้


การล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

คุณอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้กล่าวไว้ว่า การล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนมักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นสาเหตุหลัก ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูอาจารย์ จะใช้อำนาจความเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะสูงและความไว้วางใจในการหาโอกาสเพื่อเข้าถึงหรือปกปิดเรื่องราว ส่งผลให้ไม่มีใครเชื่อเด็กที่ออกมาสื่อสารกับสังคมว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริง และสิ่งที่ตามมาคือคนในสังคมเริ่มตั้งคำถามที่ตัวเด็กก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กทำตัวไม่ดี เกเร มีภาพพจน์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็จะยิ่งทำให้คนในสังคมมองเด็กในแง่ลบมากขึ้น มายาคติเหล่านี้ทำให้เด็กไม่กล้าที่จะออกมาพูด และยอมถูกกระทำต่อไป 

คุณอังคณายังกล่าวอีกว่า

ต้องยอมรับว่าอำนาจชายเป็นใหญ่มีอยู่ในทุกสาขาอาชีพ และซ่อนอยู่ในพื้นฐานความคิดของผู้ชายจำนวนมาก การที่ผู้ชายมีความรู้สึกอยู่เหนือกว่า มีอำนาจกว่า ขาดความยับยั้งเรื่องเพศ เมื่อมีความต้องการจะแสดงออกทันที ส่งผลให้การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ว่าจะด้วยคำพูด การกระทำ และรุนแรงที่สุดคือการข่มขืน ยิ่งคนที่รู้สึกมีอำนาจเหนือกว่าเป็นครูบาอาจารย์ยิ่งเป็นแรงบวกให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ และก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียนได้

เมื่อเหตุการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น ควรแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดที่ไว้ใจทราบทันที และผู้ปกครองควรแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ติดต่อผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการสอบสวนถึงข้อเท็จจริงทั้งหมดและทำการพิจารณาโทษครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษาที่ทำผิด ตามความเหมาะสม การกระทำเหล่านี้ถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ควรปฏิบัติในเบื้องต้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด และในทางที่ดี ไม่ควรปกปิดไว้เป็นความลับไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม เนื่องจากปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอาจสร้างบาดแผลในจิตใจของเด็กไปตลอดชีวิต หากดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีที่ถูกต้องจะช่วยเยียวยาและบรรเทาบาดแผลเหล่านั้นได้ไม่มากก็น้อย 

แนวทางการพิจารณาโทษจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 มีมติกำหนดแนวการพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กระทำผิดวินัย กรณีกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ ดังนี้

  1. ใช้อำนาจในหน้าที่บังคับ หรือทำให้ผู้เรียนหรือนักเรียนต้องจำยอมให้ร่วมประเวณี เช่น ให้นักศึกษาที่ติด ร แก้ ร โดยยอมให้ร่วมประเวณี มีความผิดระดับร้ายแรงมาก และระดับโทษคือไล่ออก หมายเหตุคือ เมื่อมีเจตนาแล้ว แม้จะเป็นเพียงอนาจารยังมิได้ร่วมประเวณี ก็ถือเป็นระดับความผิดร้ายแรงมาก และให้เป็นความผิดกรณีทุจริตต่อหน้าที่ราชการด้วย
  2. หลอกลวงพาผู้เรียนหรือนักศึกษาไปเพื่อกระทำชำเรา หรือร่วมประเวณี มีความผิดระดับร้ายแรงมาก และระดับโทษคือไล่ออก
  3. ร่วมประเวณีหรือพยายามร่วมประเวณีกับผู้เรียนหรือนักศึกษา หรือให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาบำบัดความใคร่ ไมว่าผู้เรียนหรือนักศึกษาจะสมัครใจหรือไม่ มีความผิดระดับร้ายแรงมาก และระดับโทษคือไล่ออก
  4. กระทำการอนาจารผู้เรียนหรือนักศึกษาคนเดียวหรือหลายคนเป็นประจำ มีความผิดระดับร้ายแรงมาก และระดับโทษคือไล่ออก
  5. กระทำการถ่ายภาพหรือคลิปผู้เรียนหรือนักศึกษาที่ไม่สมควรทางเพศ หรือให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาเปลือยหรือเปิดเผยร่างกายที่ไม่สมควร หรือกระทำการอื่นใดในลักษณะคล้ายคลึงกัน มีความผิดระดับร้ายแรงมาก และระดับโทษคือไล่ออก
  6. พฤติกรรมอื่นนอกจากข้อ 1-5 มีความผิดระดับร้ายแรงมากหรือร้ายแรง และระดับโทษคือไล่ออกหรือปลดออก

หมายเหตุ มาตรา 94 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 บัญญัติว่า “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสพยาเสพติดหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นเสพยาเสพติด เล่นการพนันเป็นอาจิณ หรือกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง”

ดาวน์โหลดเอกสาร

จากข้อมูลข้างต้นที่ Eduzones ได้รวบรวมและให้ข้อมูลมานี้ จะเห็นได้ว่าการกระทำล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ร้ายแรงมาก และควรมีการดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีที่ถูกต้องและเด็ดขาดที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหยื่อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่เกิดขึ้นภายในสถานศึกษาระหว่างครูกับนักเรียนหรือนักศึกษา ไม่ว่าจำนวนของกรณีการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างครูกับนักเรียนจะมากหรือน้อย ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยแม้แต่เคสเดียว เนื่องจากครูมีหน้าที่สั่งสอนและให้ความรู้แก่นักเรียน ความเกี่ยวข้องระหว่างครู-นักเรียนจึงเป็นความเกี่ยวข้องด้านการศึกษา ไม่ควรเป็นความเกี่ยวข้องด้านอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งครูเองก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีประสบการณ์ทางความคิดในหลายๆ ด้าน และมีวุฒิภาวะมากกว่านักเรียน การคิดและการตัดสินใจกระทำสิ่งใดนั้นควรไตร่ตรองให้มาก และคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมเป็นสำคัญ ทาง Eduzones เองก็อยากให้ทุกคนลองสังเกต เสนอ และช่วยขบคิดกันว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร และมีแนวทางการแก้ไขที่ควรจะเป็นอย่างไรบ้าง

 

ที่มา :

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *