ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนตาม PISA

ถ้าเราอยากเห็นเด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จในการเรียน เราจะทำอย่างไร นี่คือคำถามที่นักการศึกษา ครูบาอาจารย์ทั่วโลกอยากรู้ครับ

พ่อแม่และคุณครูอาจจะคิดง่าย ๆ ว่า ถ้าเด็กตั้งใจเรียนเขาก็จะประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ตามมา คือ พวกเราพยายามบังคับให้เด็กตั้งใจเรียน แต่นักการศึกษาจำนวนมากคิดว่า ครูต้องพัฒนาการสอนจึงจะช่วยให้เด็กสนใจเรียน ต้องเปลี่ยนการสอนเพื่อให้เด็กมีทักษะต่าง ๆ คือเรียนแล้วต้องนำความรู้มาใช้ได้ และต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรที่ทันต่อโลกอนาคต สิ่งที่ตามมาคือการอบรมพัฒนาครู และการสร้างหลักสูตรใหม่ ส่วนผู้กำหนดนโยบายการศึกษาทั่วโลกต่างรณรงค์ เรื่องปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นี้ ต่างมั่นใจว่า การยกระดับคุณภาพการศึกษาคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กให้ประสบความสำเร็จจากการเรียน ส่วนว่าจะยกคุณภาพการศึกษาอย่างไรนั้นก็มักจะใช้วิธีการแบบเดิม คือตั้งคณะกรรมการ ประชุม ประกวด ประเมิน

คำถามง่าย ๆ แต่ตอบยาก คือ ทำอย่างไรให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนนี่แหละครับ เพราะแค่คำว่า ประสบความสำเร็จก็ดูจะกว้างมาก แบบใดจึงจะเรียกว่า ความสำเร็จในการเรียน เด็กได้เกรดสูง ๆ คือสำเร็จในการเรียนใช่ไหม หรือเด็กเข้าสอบระดับชาติได้คะแนนสูง คือประสบความสำเร็จในการเรียน และที่ยากไปกว่านั้นคือ เราจะทำอย่างไร ?

เรามาเริ่มตรงคำถามที่น่าจะเป็นทางออกของปัญหานี้กันดีกว่าครับ นั่นคือ “อะไรเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน” เพราะถ้าเรารู้ว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมีอะไรบ้าง เราก็จะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดการศึกษา มีแนวทางและวิธีที่จะส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ได้ ซึ่งน่าจะดีกว่าการลองผิดลองถูกแบบไร้ทิศทาง ถ้าเรานำข้อค้นพบเหล่านี้มาใช้ เราจะไม่เสียเวลาไปตามนโยบายรายวันหรือความเชื่อของบางกลุ่มบางคน

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรีย, เบลเยียม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, กรีซ, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, อังกฤษ, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา, นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้ ฯลฯ เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มาก เขาได้ลงทุนมหาศาลเพื่อหาคำตอบนี้ครับ

การสอบ PISA ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2000 และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้มีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมการสอบ PISA มากกว่า 80 ประเทศ ประเทศไทยไม่ใช่สมาชิก OECD แต่สมัครเข้าร่วมการสอบ PISA ในฐานะประเทศร่วม (Partner countries)

การสอบ PISA ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การสอบ แต่มีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ และได้ศึกษาวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้ประเทศที่เข้าร่วมโครงการได้ใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันการสอบ PISA กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และกลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcome) สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของปลายประเทศทั่วโลก

จากรายงานของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งได้ทำการวิจัยจากผ่าน การสอบ PISA ของนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วโลกพบว่ามีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อการเรียนของเด็ก ผมขอนำเสนอปัจจัยที่ OECD ค้นพบ ซึ่งเราทุกคนสามารถนำไปใช้เพื่อปรับแนวทางในการส่งเสริมเด็กให้เกิดการเรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไรมากมาย เพราะแค่นำความรู้เหล่านี้ มาปรับวิธีคิด เปลี่ยนความเชื่อเดิม เราก็ช่วยให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้

  1. แรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นในตนเองของผู้เรียน

จากงานวิจัยพบว่าเด็กที่มีแรงบันดาลใจและเชื่อมั่นในตนเองจะมีการเรียนรู้ที่ดี เราอาจคิดว่าก็เพราะเขาเรียนดีจึงมั่นใจ หรือว่าเพราะความมั่นใจทำให้เขาเรียนรู้ได้ดี ข้อค้นพบคือ ความมั่นใจจะทำให้เขาเรียนได้ดี ดังนั้นการสร้างความมั่นใจให้กับเด็กจึงมีความสำคัญมากในการช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดี ส่วนของแรงบันดาลใจนั้น งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า เด็กที่มีแรงบันดาลใจภายใน ซึ่งหมายถึงความปรารถนาที่จะทํางานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมายของเขามีค่ากว่าแรงบันดาลใจที่มาจากการคาดหวังของพ่อแม่หรือโรงเรียน

ในทางตรงกันข้าม ผลกระทบของแรงบันดาลใจภายนอกต่อความสําเร็จยังไม่มีความชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเน้นการแข่งขันมากเกินไป อาจทําลายแรงจูงใจจากภายใน และสร้างความวิตกกังวลและเป็นแรงกดดันซึ่งอาจส่งผลต่อความเครียดได้

  1. การมองโลกในแง่ดีของผู้เรียน

จากงานวิจัยพบว่าเด็กที่ มองโลกในแง่ดีจะมีการเรียนรู้ที่ดี เราสามารถส่งเสริมให้เด็กมองโลกในแง่ดีได้โดย

ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจในการทํางานร่วมกัน สร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างทางความคิด

  1. บรรยากาศในชั้นเรียน

ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในเชิงบวกและสร้างสรรค์ มีความสัมพันธ์กับสมรรถนะในการเรียน ทุกวันนี้ เรามีรูปแบบการสอนที่หลากหลาย ครูต้องตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการสอนแบบใดในแต่ละบทเรียน จะใช้เวลามากน้อยเพียงใด ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ การให้ผู้เรียนทำกิจกรรม การอธิบายเนื้อหาที่จำเป็น รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามหรือนำเสนอผลงาน

ข้อมูลจากการสอบ PISA แสดงให้เห็นว่า เมื่อห้องเรียนมีระบบระเบียบและเมื่อครูและนักเรียนเป็นมิตรและเกื้อกูลกันจะส่งผลต่อการเรียนรู้ และช่วยพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนในระบบโรงเรียนทั่วโลก

นอกจาก ปัจจัยทั้งสามด้าน ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้นี้แล้ว การวิจัยของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ผ่านการสอบ PISA ยังมีรายละเอียดของปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเรียนรู้อีก เช่น ประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน บางเรื่องเราทำได้ทันทีบางเรื่องต้องเป็นนโยบายระดับประเทศ

 

ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ : https://www.oecd.org/pisa/pisa-for-schools/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *