ศธ. ผนึกกำลังกับ 4 กระทรวง จัดสอบ GAT/PAT วิชาสามัญ สำหรับผู้ป่วย COVID 19

ศธ. ผนึกกำลังกับ 4 กระทรวง จัดสอบ GAT/PAT วิชาสามัญ สำหรับผู้ป่วย COVID 19
ศธ. ผนึกกำลังกับ 4 กระทรวง จัดสอบ GAT/PAT วิชาสามัญ สำหรับผู้ป่วย COVID 19

​            วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมเตรียมการแนวทางการสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญสำหรับนักเรียนที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการของโรคโควิด 19 ภายใต้การทำงานของ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

.

​            นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึง สถานการณ์โควิด 19 อันทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในหลายหน่วยงานจึงนำทีมจัดประชุมเพื่อหาแนวทาง มาตรการ การดำเนินการที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้นักเรียนได้เข้าสอบทุกคน ไม่ว่าจะเสี่ยงสูงหรืออยู่ระหว่างการรักษาอาการของโรคโควิด 19 โดยที่สามารถมาสอบได้และได้รับการยินยอมจากแพทย์ จึงเกิดเป็นการดำเนินการในครั้งนี้

.

​            ด้าน ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินงานโดยการประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังดำเนินการร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ทปอ. เพื่อช่วยให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้เข้าสอบแม้จะติดเชื้อโควิด 19 ให้นักเรียนทุกคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน ดังเช่นทุกภารกิจที่ผ่านมาของ ศบค.ศธ.

.

​            ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงปฏิทินการรับนักเรียนปีการศึกษา 2565 ของนักเรียนที่ความสามารถพิเศษ และในส่วนของโรงเรียนที่จัดห้องเรียนพิเศษ เพื่อให้โรงเรียนสามารถเป็นสถานที่จัดสอบรายการต่าง ๆ และได้ขอให้โรงเรียนให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการเป็นสถานที่จัดสอบตามรายการและวันดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ด้วย

.

​            ด้าน นายศักดาวุธ ศักดิเศรษฐ์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานและมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ และขอความร่วมมือให้แจ้งระเบียบปฏิบัติไปยังสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่โดยตรง พร้อมทั้งร่วมหาแนวทางรับมือเพิ่มเติมร่วมกันในการประชุม ศบค. ในแต่ละจังหวัด และจะรายงานให้คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ ไให้ทราบและอนุญาตให้มีการใช้อาคารในสถานศึกษาเป็นสนามสอบ พร้อมทั้งประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัดในการให้บริการเจ้าหน้าที่ประจำสนามสอบ คัดกรองผู้เข้าสอบและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประสานเรื่องของการเดินทางด้วย

.

​            ผู้แทนทปอ. ได้สรุปปฏิทินการสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ ปีการศึกษา 2565 ดังนี้

  • 12-15 มีนาคม 2565 สอบ GAT-PAT
  • 18 เมษายน 2565 ประกาศผลสอบ GAT-PAT
  • 19-20 มีนาคม 2565 สอบวิชาสามัญ
  • 20 เมษายน 2565 ประกาศผลสอบสอบวิชาสามัญ

โดยมีจำนวนผู้สมัคร GAT/PAT และวิชาสามัญ รวมทั้งสิ้น 183,228 คน

  • จำนวนผู้สมัครสอบ GAT/PAT จำนวน 177,853 คน
  • จำนวนผู้สมัครสอบวิชาสามัญ จำนวน 155,282 คน
  • 5 วิชาที่มีผู้สมัครสูงสุด ได้แก่
  1. วิชา GAT ความถนัดทั่วไป จำนวน 173,125 คน
  2. วิชาสามัญ ภาษาอังกฤษ จำนวน 149,712 คน
  3. วิชาสามัญ ภาษาไทย จำนวน 139,711 คน
  4. วิชาสามัญ สังคมศึกษา จำนวน 137,372 คน
  5. วิชา PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ จำนวน 121,055 คน

​            จากสถิติการสมัคร GAT/PAT ในปีนี้เมื่อเทียบกับยอดการสมัคร ในปีก่อน ๆ พบว่ามีจำนวนลดลงจำนวนมากตามคาด เนื่องจากการปรับปรุงกระบวนการรับสมัครให้สามารถสมัครหลังทราบผลการคัดเลือกรอบ portfolio ส่งผลให้นักเรียนกว่า 80,000 คนไม่สมัครสอบล่วงหน้าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

​            นอกจากนี้ ยังปรับปรุงการเลือกสนามสอบให้ผู้สมัครเลือกสนามสอบเองตามลำดับความต้องการ 5 ลำดับจากทั้งหมด 213 สนามสอบทั่วประเทศ

  • 97.2% ได้สนามสอบลำดับ 1 ที่เลือกไว้
  • 2.4% ได้สนามสอบลำดับที่ 2-5 ที่เลือกไว้
  • 0.4% ได้สนามสอบที่ไม่ได้เลือกไว้

.

​            นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ยก มาตรการสำหรับผู้สมัครสอบที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง ตามที่กำหนดในที่ประชุม ศบค. ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 23 ก.พ. 2565 สรุปดังนี้

  1. ผู้ประสงค์จะเข้าสอบให้ลงทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการสอบ
  2. ให้ผู้สมัครเข้าสอบในสนามที่มีการกำหนดโดยเฉพาะ ไม่สามารถเลือกสนามสอบได้เอง
  • สนามสอบพิเศษจังหวัดจันทบุรี สำหรับนักเรียนในจังหวัดจันทบุรี ดำเนินการโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดจันทบุรีร่วมกับศูนย์สอบมหาวิทยาลัยบูรพา
  • สนามสอบพิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  1. จัดพื้นที่เฉพาะให้เป็นห้องสอบ ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และสร้างความมั่นใจและปลอดภัย ไม่เป็นสถานที่แพร่เชื้อ เน้นการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร
  2. ผู้เข้าสอบสามารถเข้าพักในศูนย์สอบพิเศษจนกว่าจะสอบเสร็จสิ้นทุกวิชา แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การเดินทางมายังสนามสอบฯ ด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถยนต์ที่จัดให้เป็นการเฉพาะจากหน่วยบริการสาธารณสุข หรือจากสนามสอบจัดให้เท่านั้น
  3. ผู้เข้าสอบต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังการเข้าสอบ งดการพูดคุย เว้นระยะห่าง
  4. ด้านผู้คุมสอบ ปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ใช้เวลาในการคุมสอบในห้องสอบให้น้อยที่สุด รวมถึงการวางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม
  5. ก่อนวันสอบ ต้องมีการรายงานรายชื่อ จำนวน และสถานที่พักรักษาตัวให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีสถานศึกษาเป็นสนามสอบได้ทราบก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าสอบ

.

​            นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัย ศึกษาธิการจังหวัด ทปอ. จังหวัด ดำเนินการจัดการสอบให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัย รวมไปถึงการใช้พื้นที่ แยกกัก ชุมชน CI. Hospitel ในการสนับสนุนการสอบ การจัดที่พัก การรับส่งผู้ติดเชื้อ และในส่วน กทม. และปริมณฑล ได้ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ในการจัด TAXI ฉุกเฉิน ให้บริการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ ส่วนในต่างจังหวัดให้พิจารณาให้ คกก. โรคติดต่อจังหวัด ดำเนินการร่วมกับ ผู้จัดสอบในพื้นที่ต่อไป

.

​            ในท้ายที่สุด ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย, รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้จัดการระบบการสอบรายวิชา TCAS ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), รศ.เพ็ญรัตน์ หงส์วิทยากร รองเลขาธิการ ทปอ., ศ.นพ.สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์ อนุกรรมการสอบวิชาเฉพาะ กสพท และ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้สรุปร่วมกันว่า จากการประชุมร่วมกันครั้งนี้ทำให้ทราบข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการวางแผนและกำหนดแนวทางการเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนที่ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงสูงในการเข้าสอบคัดเลือกระบบ TCAS พร้อมสนับสนุนโดยการส่งข้อมูลมาตรการการจัดสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ

.

​            นอกจากนี้ยังให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  สาธารณสุข ศึกษาธิการ ทปอ.พื้นที่ อำนวยความสะดวกในการจัด สถานที่สอบ อาจใช้ CI หรือ สถานที่ที่เหมาะสม เพื่อขยายศูนย์สอบเพิ่มเติม 6 ศูนย์ และให้นักเรียนที่ติดเชื้อประสงค์ลงทะเบียนศูนย์สอบได้ ระหว่างก่อนการสอบ ท้ายที่สุด ให้คณะกรรมการพิจารณา การดูแล ที่พัก การเดินทาง ให้เหมาะสม ปลอดภัย และระหว่างนี้ ผู้ปกครอง นักเรียน ดูแลสุขภาพโดยยกระดับมาตรการส่วนบุคคล ขั้นสูงสุด เพื่อลดการติดเชื้อ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *