เปิดประสบการณ์นศ.คณะท่องเที่ยว DPU ฝึกงานในสาย “การโรงแรม” สู่การเป็นบาริสต้า “ตัวจริง”

ในอดีตประเทศไทยของเรามีสถานที่จิบกาแฟและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นสาธารณะของผู้สูงอายุตามชุมชนมากมาย ที่เรามักจะเรียกติดปากกันว่า “สภากาแฟ” แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนรูปแบบของร้านกาแฟไปค่อนข้างมากทีเดียว  สถานที่ที่พอจะออกไปเปลี่ยนบรรยากาศได้บ้างและกำลังได้รับความนิยม โดยไม่ต้อง #เที่ยวทิพย์ นั่นคือ การไปคาเฟ่ หรือจะเรียกการท่องเที่ยวแบบนี้ว่า “Café Hopping”  

ทั้งนี้ ที่มาของคำนี้มาจาก Café hopping ร้านกาแฟและการกระโดด รวมกันแล้วหมายถึงรูปแบบการท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆแล้วนักท่องเที่ยวมักจะเลือกร้านกาแฟสำหรับรับประทานอาหารและการถ่ายรูปเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการท่องเที่ยวในครั้งนั้นๆด้วย ซึ่งกลุ่มคนที่ไปเที่ยวรูปแบบนี้ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุ แต่กลายมาเป็นผู้คนทุกเพศทุกวัย สามารถเดินทางไปยังร้านคาเฟ่ด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลายได้ เช่น การพบปะสังสรรกับเพื่อนหรือครอบครัว การไปทำกิจกรรมที่คาเฟ่จัดไว้ การถ่ายรูป การนั่งทำงาน เป็นต้น

นางสาวลลิตา ชื่นสายชล อาจารย์ประจำคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  (DPU)  กล่าวว่า ในขณะที่คาเฟ่กำลังเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ที่กำลังเติบโต ธุรกิจนี้ยังสร้างงานและสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนละแวกใกล้เคียง และหนึ่งในตำแหน่งงานเฉพาะทางที่แตกต่างจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆคือ ตำแหน่งงาน “บาริสต้า” หรือ “นักชงกาแฟ”  ซึ่งยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการขยายสาขาของร้านกาแฟแบรนด์ดังๆ ที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

ตอกย้ำความน่าสนใจของอาชีพ บาริสต้า โดย “ทาย” หรือนายเพทาย สอนแสง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่พึ่งเสร็จสิ้นจากการฝึกงาน ในตำแหน่ง “นักชงกาแฟ” หรือ “บาริสต้า” ที่ร้าน Walden Home Cafe แทนการเลือกฝึกงานในธุรกิจโรงแรม ซึ่งทายมีความเห็นว่า ธุรกิจร้านกาแฟมีความคล้ายคลึงกับงานบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรม

อาจารย์ลลิตา เล่าเพิ่มเติมว่า จุดเริ่มต้นของการเลือกฝึกงานในตำแหน่ง บาริสต้า ของเพทายเริ่มจากการได้ทำงาน Parttime ในร้านกาแฟแฟรนไชส์แห่งหนึ่งสมัยที่ยังเรียนในระดับมัธยมปลาย งานที่ร้านกาแฟทำให้ทายได้รู้จักกับพันธุ์กาแฟ วิธีการคั่วกาแฟ และเริ่มหลงใหลการชงกาแฟไปพร้อมกับประสบการณ์และทักษะที่เพิ่มมากขึ้นจากการทำงาน จึงเป็นเหตุผลให้ทายตัดสินใจเลือกเข้าเรียนสาขา การโรงแรม ในคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ด้านเพทาย กล่าวเสริมว่า การเลือกเรียนที่ DPU ทำให้ได้ความรู้ในการผสมเครื่องดื่ม การบริการอาหารโดยการลงมือปฏิบัติจริง อีกทั้งสามารถนำความรู้หลายๆด้านจากชั้นเรียนเข้าไปพัฒนาการทำงานในร้านกาแฟได้ครบวงจรมากขึ้น เพราะงานบาริสต้านั้นมีความซับซ้อนมากกว่าแค่การชงกาแฟ ยังมีทักษะการพูดแนะนำเพื่อขายสินค้า (Upselling) เรื่องของการจัดซื้อวัตถุดิบ การใช้อุปกรณ์ชงกาแฟ การบริหารร้าน การตลาดในการนำเสนอสินค้าและพัฒนาให้เหมาะกับช่วงเวลาเทศกาลต่างๆ รวมถึงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเทรนนิ่งพนักงานในการชิมกาแฟรูปแบบต่างๆ การชงโดยใช้เทคนิคเฉพาะอย่าง Latte art ก็จำเป็นไม่น้อย ที่สำคัญการได้เรียนรู้วิธีการประกอบอาหารและขนมอบจากมหาวิทยาลัย ทำให้ทายสร้างสรรค์พัฒนาเมนูอื่นๆให้เข้ากันกับเครื่องดื่มในร้านกาแฟได้เป็นอย่างดีด้วย ดังนั้น หากใครมีฝันอยากมีร้านกาแฟเป็นของตนเอง หรือเป็นบาริสต้ามืออาชีพก็ต้องไม่ลืมที่จะเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม

เพทาย ทิ้งท้ายไว้ว่า ช่วงภาวะโรคระบาด โควิด-19 หากใครที่กำลังเรียนในสายการโรงแรมหรือธุรกิจบริการแล้วกำลังประสบปัญหาการหาที่ฝึกงานยาก ลองเปิดรับโอกาสและประสบการณ์ใหม่ๆที่ใกล้เคียง เราอาจจะได้พบความถนัดหรือทักษะใหม่จากการลงมือทำเช่นเดียวกับทาย และคุณสมบัติที่ทุกธุรกิจน่าจะต้องการคือ ทัศนคติเชิงบวก การปรับตัวในการทำงาน หมั่นเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะตัวเองอยู่เสมอ และใครที่กำลังสนใจจะพัฒนาศักยภาพตนเอง การเรียนรู้ในระดับปริญญาตรี หลักสูตรใหม่ “การโรงแรมและธุรกิจอาหาร” คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างโอกาสและบ่มเพาะความรู้ใหม่ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจได้ดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *