“กสศ.- Shrewsbury- JD Central” ประกาศผลความสำเร็จ พลังแห่งความร่วมมือ – Equity Partnership นร.ไทย-นานาชาติ “ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์” เปิดประสบการณ์ขายของออนไลน์จริง“ อีคอมเมิร์ซ-การตลาดออนไลน์” ต่อยอดทุนเสมอภาค นำสินค้าใหม่ จำหน่ายผ่าน JD Central

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ณ  Zen Gallery ชั้น 8 Central World กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และ บริษัท JD Central จัดพิธีมอบรางวัล “Equity Partnership’s School Network: กระบวนการ สร้าง-ขาย-ขยายฝัน ก่อเกิดผลิตภัณฑ์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสทางการศึกษา” ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership) โดยความร่วมมือของ กสศ. โรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และ บริษัท JD Central ร่วมกันต่อยอดโครงการทุนเสมอภาค สร้างกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์และทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับทักษะใน ศตวรรษที่ 21 เรียนรู้ ระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กับนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายตลาดวาดฝัน จำนวน 10 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่มีในชุมชนของโรงเรียนต่างจังหวัด ซึ่ง กสศ. สนับสนุนกระบวนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนไทย โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ และ งบประมาณตั้งต้นของผลิตภัณฑ์ที่ออกจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของ JD Central สำหรับรายได้จากการจำหน่ายสินค้าโดยไม่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคที่เข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกรรมฯ เพื่อนำไปต่อยอดทักษะอาชีพและเป็นทุนการศึกษาต่อไป ซึ่งโครงการพัฒนานวัตกรรมฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 อย่างต่อเนื่อง แม้มีการแพร่ระบาดของโควิด–19 โดยมีการปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสม ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

ทั้งนี้ โรงเรียนเครือข่ายตลาดวาดฝันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์สินค้า นำออกจำหน่ายทางช่องทางออนไลน์ JD Central ในแคมเปญ “ชวนกันมาช้อป น้องๆ สุขใจ” เป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งแบรนด์และสินค้าของโรงเรียนทั้ง 10 แห่ง ได้แก่

  1. “อรุณ” ผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน” โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม จังหวัดกาญจนบุรี
  2. “สืบสานงานท่อกก” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานงานทอกก โรงเรียนท่าศาลาประชานุสรณ์ จังหวัดขอนแก่น
  3. Bamboo Art” ผลิตภัณฑ์กระติบข้าว โรงเรียนมัธยมตลาดใหญ่วิทยา จังหวัดขอนแก่น
  4. “เอราวัณโกอินเตอร์” ผลิตภัณฑ์กล่องสานอเนกประสงค์ โรงเรียนเอราวัณวิทยาคม จังหวัดเลย
  5. Yus tsev อยู่เจ๋” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือจากผ้า (Clutch) โรงเรียนแม่ตะละวิทยา จังหวัดเชียงราย
  6. cocomarketeers” ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในขวดแก้วกัดลาย โรงเรียนบ้านท่าแซะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  7. “คลองโรรักษ์โลกทีม” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าถุงผ้ารักษ์โลก โรงเรียนบ้านคลองโร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  8. JDKOH” ผลิตภัณฑ์ที่แขวนของติดผนังจากกระดาษรีไซเคิล โรงเรียนบ้านเจดีย์โคะ จังหวัดตาก
  9. “สัตตบรรณงานสาน” ผลิตภัณฑ์ปากกาสานฝัน โรงเรียนบ้านหนองนกทา จังหวัดอุบลราชธานี
  10. “บางกอกห้วยไร่” ผลิตภัณฑ์ถุงผ้า Handmade by ม่อนฟ้าหลวง โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย

หลังจำหน่ายสินค้าผ่าน JD Central เป็นระยะเวลา 1 เดือน กสศ. โรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และ JD Central ได้ตัดสินโรงเรียนที่มีผลงานชนะเลิศ โดยพิจารณาจากเกณฑ์คือ ยอดจำหน่ายสินค้า ความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการทำงาน ตลอดจนความร่วมมือของโรงเรียนแต่ละแห่ง ดังนี้

  1. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย แบรนด์ “บางกอกห้วยไร่” ผลิตภัณฑ์ถุงผ้า Handmade by ม่อนฟ้าหลวง
  2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ โรงเรียนบ้านท่าแซะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แบรนด์ “cocomarketeers” ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในขวดแก้วกัดลาย
  3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองนกทา จังหวัดอุบลราชธานี แบรนด์ “สัตตบรรณงานสาน” ผลิตภัณฑ์ปากกาสานฝัน
  4. รางวัลความร่วมมือดีเด่น ได้แก่ 1.โรงเรียนมัธยมตลาดใหญ่วิทยา จังหวัดขอนแก่น แบรนด์ “Bamboo Art” ผลิตภัณฑ์กระติบข้าว 2.โรงเรียนเอราวัณวิทยาคม จังหวัดเลย แบรนด์ “เอราวัณโกอินเตอร์” ผลิตภัณฑ์กล่องอเนกประสงค์ และ 3.โรงเรียนบ้านคลองโร จังหวัดสุราษฎร์ธานี แบรนด์ “คลองโรรักษ์โลกทีม” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้ารักษ์โลก
  5. รางวัลนวัตกรรมดีเด่น ได้แก่ 1.โรงเรียนแม่ตะละวิทยา จังหวัดเชียงราย แบรนด์ “Yus tsev อยู่เจ๋” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือจากผ้า (Clutch) 2.โรงเรียนท่าศาลาประชานุสรณ์ จังหวัดขอนแก่น แบรนด์ “ลายสานกก” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าทอกก”
  6. รางวัลสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ดีเด่น ได้แก่ 1.โรงเรียนเจดีย์โคะ จังหวัดตาก แบรนด์ “JDKOH” ผลิตภัณฑ์ที่แขวนกุญแจ 2.โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม จังหวัดกาญจนบุรี แบรนด์ “อรุณ” ผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โครงการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ Equity Partnership เป็นหนึ่งในตัวอย่างภารกิจของ กสศ. ที่มุ่งสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนทรัพยากร องค์ความรู้ และการมีส่วนร่วมจากสังคม เพื่อสร้างเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาที่ยั่งยืน แม้ ปัจจุบัน กสศ. จะสนับสนุนทุนเสมอภาคปีละ 3,000 บาทให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษทั่วประเทศมากกว่า 700,000 คน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่หนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการทุนเสมอภาคที่ส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนเกือบ 30,000 แห่งทั่วประเทศใช้งบประมาณส่วนนี้ในการการลงทุนพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้นักเรียนยากจนพิเศษสามารถนำไปเป็นต้นทุนเพื่อต่อยอดภายหลังสำเร็จการศึกษา และบ่มเพาะทักษะและคุณลักษณะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขายของออนไลน์ โดย กสศ. ได้เชื่อมโยงให้สถานศึกษาในชนบทได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสถานศึกษานานาชาติ และบริษัท อีคอมเมิร์สชั้นนำของประเทศ ให้นำเอาความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่มาใช้ เพื่อร่วมกันสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกล โดยเปิดพื้นที่ให้พี่นักเรียนจากโรงเรียนนนาชาติได้พบกับน้องนักเรียนในต่างจังหวัด และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชนออกวางจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ของ JD Central ได้ ไม่เพียงแต่นักเรียนจากต่างจังหวัดได้เรียนรู้ทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ และการวางกลยุทธ์ทางการตลาด นักเรียนจากในเมืองหลวงก็ได้เรียนรู้เรื่องของ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นของไทย ซึ่งหลายคนยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสด้วยเช่นกัน เห็นได้ว่าทั้งสองฝั่งต่างเป็นผู้ให้โอกาสและผู้รับโอกาสในการเรียนรู้ไปด้วยกัน

“โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) เช่นนี้ เป็นตัวอย่างของภารกิจกองทุนที่แตกต่างจากการให้ทุนการศึกษาโดยทั่วไป เพราะรูปแบบและกระบวนการทำงานของโครงการมุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง ภายใต้การประสานความร่วมมือร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะที่ก่อประโยชน์ให้กับนักเรียนทุนเสมอภาค ให้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ นำไปสู่โอกาสทางการศึกษาในอนาคตได้อย่างยั่งยืน อันเป็นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้หมดไปได้อย่างเป็นรูปธรรม หากเราขยายผลโครงการลักษณะนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เด็กของเราจะได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น สังคมไทยในทุกพื้นที่จะเป็นสังคมแห่งความเสมอภาคที่ไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพียงลำพัง ดังนั้น จากผลความสำเร็จในครั้งนี้ จึงได้ต่อยอดการพัฒนาในระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ โดยครั้งนี้เราจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีนักเรียนทุนเสมอภาคของ กสศ. ที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของนักเรียนและต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ่านความร่วมมือระหว่าง JD central และ เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งครั้งนี้เราจะมีจำนวนโรงเรียนนานาชาติมาเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นด้วย อันนี้อยากให้โรงเรียน คุณครู ที่สนใจติดตามกติกา ได้ทาง website และ fb ของ กสศ. ต่อไป” ดร.ไกรยส กล่าว

Mr.Chris Seal โรงเรียนนานาชาติโชส์เบอรี กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม ไม่เพียงแค่ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้น แต่เด็ก ๆ ยังได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง จากกระบวนการพัฒนาสินค้า ทั้งจากการระดมความคิดเห็นในทีม ผ่านการโต้เถียงกัน และการยอมรับ จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำออกมาจำหน่ายได้จริง ซึ่งทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะเพิ่มมากขึ้น

ด้าน คุณรวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด JD CENTRAL กล่าวว่า อยากให้โครงการนี้เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนเข้ามาร่วมกันทำงาน สร้างสินค้า เรียนรู้การขายสินค้าบนออนไลน์ เกิดรายได้จริง มีความภาคภูมิใจ จากที่เห็นสินค้าที่นำมาจัดจำหน่ายมีความสร้างสรรค์ โดยการนำต้นทุนจากชุมชนมาพัฒนา ซึ่งตนเองได้อุดหนุนสินค้าเช่นกัน เช่น กระติบข้าวเหนียวเราก็ไม่ได้ใส่ข้าวเหนียวที่ใช้ประโยชน์ด้านเดียว เราสามารถนำมาปรับใช้เป็นกระถางต้นไม้ ก่อเกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยในอนาคตแน่นอนก็อยากจะร่วมมือทำประโยชน์ต่อไป เพื่อการทำงานกับสังคม ในฐานะ JD Central เรามีช่องทางมหาศาลที่พร้อมให้ความร่วมมือ ก็อยากจะช่วยเต็มที่

น้องขวัญ ด.ญ.จิตสุภา แซ่เล้า โรงเรียนแม่ตะละวิทยา จ.เชียงราย ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือจากผ้า (Clutch) แบรนด์ Yus tsev อยู่เจ๋” ซึ่งมีความหมายว่า “บ้านเรา” การที่เลือกทำกระเป๋า เกิดจากการระดมความคิดร่วมกับพี่ๆ  โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี โดยต้นทุนของวัตถุดิบและแนวความคิดแสดงถึงประวัติศาสตร์การปักผ้าของชนเผ่า ซึ่งเป็นงานปักมือเป็นลายดั้งเดิมของชนเผ่า แต่ละใบจะมีเพียงใบเดียวในโลก โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเดิมเป็นการปักลายบนหมอนอิง จนถูกพัฒนาเป็นกระเป๋าถือจากผ้า (Clutch) ให้มีความเหมาะสมหลากหลายกับยุคสมัยได้ผสมผสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่สามารถเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านกระเป๋า ออกสู่ตลาดในช่องทางออนไลน์ที่จำหน่ายไปได้ทั่วโลก

นายณภัทร อภิศักดิ์ศิริกุล โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กล่าวว่า กระเป๋าถือจากผ้าปักลายม้งนั้นพัฒนาขึ้นจากหมอน ซึ่งเห็นได้ว่าน้อง ๆ มีทักษะเรื่องการปักผ้าลวดลายม้ง จึงนำลวดลายม้งมาใช้ และปรับรูปแบบสินค้าให้เป็นกระเป๋าถือที่สามารถใช้ประโยชน์และเป็นแฟชั่นได้ ซึ่งจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ตนได้เรียนรู้เป้าหมายการสร้างงาน การวางแผนการสร้างผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *