10 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณมีเวลาอ่านหนังสืออีกครั้ง


.
แม้ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัด” จะไม่ใช่ข้อความที่เป็นความจริง แต่สิ่งหนึ่งที่เราต่างยอมรับร่วมกันได้ก็คือเราอ่านหนังสือน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ก้าวเข้าสู่วัยทำงานแล้ว
.
สำหรับผมวัยที่อ่านหนังสือได้มากสุดคือวัยมัธยม อาจเพราะเป็นช่วงเวลาที่มีเวลาว่างมาก และไม่มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบใดมาผูกมัด หรืออาจจะเพราะอินเทอร์เน็ตยังไม่เเพร่หลายเท่าในปัจจุบัน
.
ทุกวันนี้หลังเริ่มชีวิตทำงาน ชีวิตก็เต็มไปด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบทั้งหน้าที่การงาน และธุระส่วนตัว หลังเลิกงานก็ทิ้งตัวลงโซฟานั่งดู Netflix รู้ตัวอีกทีก็เกิดความไม่สัมพันธ์กันระหว่างการซื้อและการอ่าน รู้สึกตัวอีกทีก็มีหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านกองพะเนินเทินทึก ทั้งที่ตั้งใจมาตลอดว่าจะอ่านหนังสือทุกเล่มที่ซื้อมา
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการอ่านหนังสือก็เป็นกิจกรรมพัฒนาตัวเองที่สำคัญ ไม่ใช่แค่การเพิ่มข้อมูลความรู้ หรือช่วยเป็นแหล่งข้อมูลให้กับเรา แต่ยังช่วยให้เราคุ้นเคยกับภาษาและการสื่อสารในรูปแบบการเขียนได้อีกด้วย นอกจากนั้นการอ่านหนังสือก็เป็นกิจกรรมผ่อนคลายที่ใช้เวลาว่างได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้แล้วไม่ว่าอย่างไรการอ่านหนังสือก็เป็นกิจกรรมที่เราไม่ควรละทิ้งไป
.
แต่จะทำอย่างไรเมื่อเราไม่มีเวลาที่จะอ่านหนังสือ จากเวลาที่ถูกแย่งไปด้วยภาระหน้าที่ หรือกิจกรรมผ่อนคลาย ดูซีรี่ส์เล่นอินเตอร์เน็ตของเรา จะทำอย่างไรให้เราได้มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น แม้เพียงซักนิดก็ยังดี
.
นี่อาจเป็นเพียงเทคนิคเล็กแต่ก็หวังว่าจะเป็นมุมมองที่ช่วยให้คุณสามารถจัดการกับหนังสือที่ดองไว้บนชั้นได้ ด้วย 10 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณมีเวลาอ่านหนังสืออีกครั้ง
.
1. อ่านตอนตื่น และอ่านก่อนนอน
.
สำหรับหลายคนสิ่งแรกที่ทำในตอนเช้า และสิ่งสุดท้ายที่ทำก่อนนอนอาจเป็นการเล่นโทรศัพท์มือถือ แต่หากคิดดูดีๆ เวลาหลังตื่นนอน กับก่อนเข้านอน เป็นเวลาว่างที่เราไม่มีสิ่งใดมารบกวนมากที่สุด หรือกล่าวอีกแบบคือ เวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการอ่านหนังสือ
.
นอกจากนี้การอ่านหนังสือก่อนนอนยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้คุณผ่อนคลายความคิดจากสิ่งที่เผชิญมาตลอดทั้งวัน ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายและสบายขึ้นขึ้น และการอ่านหนังสือเป็นสิ่งแรกหลังตื่นนอน ก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้สมองเริ่มต้นทำงานในวันนั้นได้อย่างกะปรี้กะเปร่ามากขึ้นอีกด้วย
.
.
2. อย่าไปไหนโดยไม่มีหนังสือ
.
เราคิดว่าเราไม่มีเวลา เพราะเรามีงานต้องจัดการมากมาย มีูระต้องทำเยอะแยะ แต่ที่จริงคุณมีเวลา มันอาจเห็นได้ยาก เพราะมันกระจัดกระจายเป็นส่วนเล็กๆแทรกอยู่ระหว่างวัน ช่วงเวลาที่คุณรอรถ ระหว่างที่คุณขึ้นลิฟต์ ในแถวคิว คุณมีเวลาว่างเล็กๆมากมาย และคุณจะใช้ประโยชน์จากมันได้หากคุณไม่ลืมข้อแนะนำนี้ อย่าไปไหนโดยไม่มีหนังสือ
.
.
3. ใช้เวลาเดินทางให้เป็นประโยชน์
.
ลองนึกถึงสิ่งที่กินเวลาของคุณมากที่สุดในแต่ละวันโดยที่คุณแทบไม่ได้ทำอะไรเลย สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวของผมคือการเดินทาง ระหว่างการเดินทางบนรถเมล์ บนรถไฟฟ้า หรือบนรถแท็กซี่ คุณแทบไม่ได้ทำอะไรเลยระหว่างการเดินทาง และคุณมีเวลาระหว่างการเดินทางเยอะมากหากคุณใช้ถนนในวันรถติด ถ้าคุณไม่ใช่คนขับรถ ลองหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน คุณจะได้พบว่าช่วงเวลาของการเดินทางนี่แหละ ที่ทำให้คุณอ่านหนังสือได้จบเป็นเล่มๆเลยทีเดียว
.
.
4. อ่านไปทีละนิด
.
หลายครั้งที่เรารู้สึกไม่มีเวลาอ่านหนังสือ คือตอนที่เราคิดว่าอ่านไปก็คงอ่านไปไม่ถึงไหน แต่ที่จริงด้วยความเร่งรีบตามยุคสมัยแล้ว หนังสือหนึ่งเล่มอาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องอ่านรวดเดียวจบ หรือรอบหนึ่งครึ่งเล่ม แต่อาจเป็นการค่อยๆอ่านไปทีละ 2-3 หน้า ทีละบท แต่อย่างน้อยที่สำคัญที่สุดคือให้อ่านอยู่เสมอ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการอ่านให้มากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างนิสัยในการอ่าน และเป็นการสร้างทักษะที่จะช่วยให้ต่อไปคุณสามารถอ่านหนังสือได้มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง
.
.
5. อ่านสิ่งที่ชอบ
.
เวลาเราอ่านหนังสือ หลายครั้งเรารู้สึกว่ายากเหลือเกินที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ต่อไป เพราะเราอาจเลือกหนังสือที่มีประโยชน์กับเรา แต่เราไม่ชอบ หรือสนุกไปกับมัน คำแนะนำนี้เหมาะสำหรับการเริ่มต้นอ่านหนังสือ เลือกอ่านจากสิ่งที่ชอบก่อน และใช้สิ่งที่ชอบนั้นสร้างความคุ้นเคยกับการอ่าน สร้างนิสัยในการอ่าน แล้วจากนั้นคุณจึงนำนิสัย ทักษะในการอ่านเหล่านี้ไปอ่านหนังสืออื่นๆที่คุณคิดว่าคุณจำเป้นต้องอ่านมัน
.
.
6. ตั้งเป้าหมาย
.
บางทีคุณอาจอ่านหนังสือบ้าง แต่คุณก็พบว่าคุณอ่านหนังสือไม่จบเล่มซักที คุณหยิบหนังสือมาอ่านเรื่อยๆ คุณไม่เคยละทิ้งการอ่าน แต่หนังสือที่ดองไว้ก็ไม่พร่องลงไปซักที
.
วิธีการรับมือกับสิ่งนี้คือการตั้งเป้าหมาย ตั้งเป้าให้ได้ว่าสัปดาห์หนึ่งคุณจะอ่านให้จบหนึ่งเล่ม และพยายามทำตามเป้าหมายนั้น ที่ผ่านมาแม้คุณจะหยิบหนังสือมาอ่านเรื่อยๆ แต่เมื่อไม่มีเป้าหมาย หรือเส้นตายที่กำหนดไว้ กลายเป็นว่าคุณก็หยิบมาอ่านและวาง หยิบมาอ่านและวางอยู่เช่นนั้น และสุดท้ายคุณก็อ่านไม่จบเล่มเสียที ตั้งเป้าหมาย และกำหนดเส้นตายสำหรับการอ่านของคุณ หรือลองทำให้ท้าทายขึ้นด้วยการตั้งเป้าหมายที่ยากขึ้น เช่นสัปดาห์ละ 3 เล่ม และตั้งรางวัลให้กับตัวเองเมื่อสำเร็จ
.
.
7. เข้าร่วมกลุ่มอ่านหนังสือ
.
การหากลุ่มอ่านหนังสือ อาจเป็นเรื่องยากในประเทศไทย เพราะไม่ได้มีกลุ่มอ่านหนังสือจัดขึ้นมากนัก แต่หากหาไม่ได้คุณก็สามารถเริ่มต้นกลุ่มอ่านหนังสือของตัวเอง กับเพื่อน หรือครอบครัวได้
.
กลุ่มอ่านหนังสือนั้นมีประโยชน์ในด้านแรงผลักดันที่ช่วยให้คุณอยากอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ และทำตามเป้าหมายที่กลุ่มตั้งไปเช่นอ่านหนังสือสัปดาห์ละหนึ่งเล่ม นอกจากนี้การพูดคุยแลกเปลี่ยนในกลุ่มอ่านหนังสือยังช่วยให้คุณได้รู้จักหนังสือใหม่ๆ หรืออาจได้รู้เรื่องราวในหนังสือบางเล่มโดยไม่ต้องอ่านเอง ลองหากลุ่มอ่านหนังสือ หรือเริ่มกลุ่มอ่านหนังสือของคุณเองขึ้นมาดู
.
.
8. แลกเวลาดูซีรี่ส์ กับเวลาอ่านหนังสือ
.
บางครั้งเพื่อให้เรามีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น เราอาจต้องสละเวลาในการทำอย่างอื่นออกไป ลองนึกถึงกิจกรรมที่คุณทำเมื่อมีเวลาว่าง เช่นการดูหนัง การเล่นเกม คุณอาจไม่ต้องสละมันไปทั้งหมด แต่อาจตัดเวลาบางส่วนจากการดูหนัง หรือการเล่นเกม เพื่อช่วยให้คุณมีเวลาในการอ่านมากขึ้น
.
.
9. จัดเวลาลงปฏิทินสำหรับอ่านหนังสือ
.
ที่ผ่านมาคำแนะนำต่างๆอาจเป็นเรื่องของการหาเวลาว่างจากสิ่งที่มีอยู่ แต่การจัดเวลาเพื่ออ่านหนังสือก็เป็นสิ่งสำคัญ และการจัดเวลานี้จะช่วยให้คุณอ่านหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หาที่ที่สงบ บรรยากาศที่เหมาะสมกับการอ่าน และเวลาที่ไม่มีสิ่งใดเข้ามารบกวน ใช้เวลานั้นในการอ่านหนังสือ จะช่วยให้คุณอ่านได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
.
.
10. จัดตารางการอ่านให้กับตัวเอง
.
สุดท้ายแล้ว วิธีการที่จะจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือการสร้างกิจวัตร หรือการทำให้เป็นอุปนิสัย เลือกเวลาในแต่ละวันที่คุณคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ว่างพอจะอ่านหนังสือได้ และใช้เวลานั้นในการอ่านหนังสือ เมื่อเวลาผ่านไปได้ซักหนึ่งเดือนตัวคุณจะคุ้นชินกับการอ่านหนังสือในช่วงเวลานั้น ซึ่งจะช่วยให้คุณอ่านหนังสือได้อย่างสม่ำเสมอยิ่งขึ้น และจะทำให้คุณสามารถมีเวลาอ่านหนังสือได้อยู่เสมอ

เขียนโดย S.siravich
ที่มา Huffpost/

Future Trends