ย้อนรำลึกถึง พระราชดำรัสหน้าที่ “ครู” และ “3 หัวใจการศึกษา” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงฝากไว้

 

 

เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทางเว็บไซต์ eduzones จึงขอพาทุกท่านย้อนรำลึกถึงกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับหน้าที่ของครู และพระราชดำรัสด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้ไว้เป็นแนวทางแก่ผู้ศึกษาเล่าเรียนและผู้ให้การศึกษาเล่าเรียนมาฝากกันค่ะ

 

หากย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ได้มีกระแสพระราชดำรัสถึงหน้าที่ของผู้เป็น “ครู” ด้วยทรงตระหนักอย่างถ่องแท้ว่า “ครูดี” คือผู้ที่สร้าง “คนดี” สู่สังคมไทย หนึ่ง…ให้ครูรักเด็ก และเด็กรักครู สอง…ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แค่ให้แข่งขันกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า และ สาม…ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครู ผู้ที่มีหน้าที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นไป

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ในหลวงรัชกาล 9 ทรงงาน

 

และหากย้อนไปถึงความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ก็จะได้ทราบถึงพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาที่จะช่วยทำให้บรรลุถึงจุดหมายด้วย 3 หัวใจแห่งการศึกษา “ความรู้ที่จะศึกษามีอยู่สามส่วน คือ ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความคิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง ซึ่งแต่ละคนควรเรียนรู้ให้ครบเพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบกิจการงาน และแก้ปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งสามารถสรุปทั้ง 3 หัวใจแห่งการศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ได้ดังนี้

 

  1. ความรู้วิชาการ

ความรู้วิชาการ หรือการศึกษาทางทฤษฎี จะทำให้เรามีพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ รู้กรอบหรือแนวทางของการคิดและการปฏิบัติ สามารถที่จะนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการต่อยอดความรู้และความเข้าใจ การศึกษาพื้นฐานของแต่ละเรื่องมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป ถ้าความรู้พื้นฐานดี ก็จะช่วยให้สามารถศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปได้มาก ในทางกลับกันถ้าความรู้พื้นฐานไม่ดีหรือไม่แข็งแรง การศึกษาที่ระดับสูงขึ้นไปก็จะทำไม่ได้หรือได้น้อย

 

ถ้าจะเปรียบเสมือนการสร้างบ้าน การวางรากฐานของบ้าน เช่น เสาเข็ม คานพื้นบ้าน เป็นต้น จะทำหน้าที่เป็นรากฐานให้สามารถก่อฝาผนังบ้านขึ้นไปจนถึงหลังคาได้ฉันใด ความรู้เดิมก็เปรียบเสมือนฐานรากให้แก่ความรู้ใหม่ที่จะพัฒนาขึ้นไปฉันนั้น ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2523

 

“วิชาความรู้อันพึงประสงค์นั้น ได้แก่ วิชาความรู้ที่ถูกต้อง ชัดเจน แม่นยำ ชำนาญ นำไปใช้การเป็นประโยชน์ได้พอเหมาะพอควร ทันต่อเหตุการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

 

 

  1. ความรู้ปฏิบัติการ

การมีความรู้ทางทฤษฎีอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอต่อการรับประกันถึงความสำเร็จ ผู้ที่มีความรู้เชิงทฤษฎีจะต้องนำทฤษฎีไปทดลองปฏิบัติจนให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญเสียก่อน การฝึกฝนปฏิบัติจนเชี่ยวชาญนี้จะช่วยทำให้เกิดความรู้อีกส่วนหนึ่งที่เสริมความรู้เชิงทฤษฎีให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้น ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่การปฏิบัติงานด้วยตนเอง ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ความตอนหนึ่งว่า

 

“การมีความรู้ถนัดทฤษฎีประการเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลสามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ ผู้ที่ฉลาดสามารถในหลักวิชาโดยปกติวิสัยจะได้แต่เพียงชี้นิ้วให้ผู้อื่นทำซึ่งเป็นการไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจทำให้ผู้ใดเชื่อถือหรือเชื่อฟังอย่างสนิทใจได้ เหตุด้วยไม่แน่ใจว่าผู้ชี้นิ้วเองจะรู้จริง ทำได้จริงหรือ ความสำเร็จทั้งสิ้นทำได้เพราะลงมือกระทำ”

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ในหลวงรัชกาล 9 ทรงงาน

 

 

  1. ความคิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง

พระองค์ทรงอธิบายความข้อนี้ไว้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2521 “วิชาการทั้งปวงนั้นถึงจะมีประเภทมากมายเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใดก็ต้องใช้ด้วยกัน หรือต้องนำมาประยุกต์เข้าด้วยกันเสมอ อย่างกับอาหารที่เรารับประทาน กว่าจะสำเร็จขึ้นมาให้รับประทานได้ ต้องอาศัยวิชาประสมประสานกันหลายอย่างและต้องผ่านการปฏิบัติมากมายหลายอย่างหลายตอน ดังนั้นวิชาต่างๆ มีความสัมพันธ์ถึงกันและมีอุปการะแก่กันทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และฝ่ายศิลปศาสตร์ ไม่มีวิชาใดที่นำมาใช้ได้โดยลำพัง หรือเฉพาะอย่างได้เลย”

 

นั่นจึงหมายความว่า การนำวิชาความรู้ในแขนงต่าง ๆ เข้ามาประกอบกันเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานได้สำเร็จเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังที่กล่าวกันว่าเป็นการเรียนและการใช้วิชาการในลักษณะ “สหวิทยาการ (multidiscipline)”

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษา การพัฒนาความรู้ และหน้าที่ของครูผู้มอบวิชาความรู้ให้แก่นักเรียนไว้มากมาย ซึ่งเราเชื่อเหลือเกินว่าต่อให้วันเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด กระแสพระราชดำรัสของพระองค์ท่านก็จะยังสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการศึกษาเพื่อให้บรรลุผลและมีประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอน

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

:https://campus.campus-star.com/variety/53413.html

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

:https://www.posttoday.com/politic/report/528810

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *