ศธ. – สกสว. หนุนภาคีเครือข่าย นำ ววน. ร่วมจัดการเรียนรู้ไร้รอยต่อพร้อมเสนอใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนการศึกษาที่ตอบโจทย์ผู้เรียน เศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ผ่านเวทีสัมมนาวิชาการ Thailand Education Forum ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “ทอผ้าผืนใหม่ สู่การศึกษาไทยไร้รอยต่อ” เพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากการดำเนินงานโครงการจัดการความรู้และขับเคลื่อนระบบการศึกษาและการเรียนรู้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่กระทรวงศึกษาธิการ และ กรอบการวิจัยเชิงระบบที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ลดช่องว่างและ “รอยต่อ” ในระบบ อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาการศึกษาไทย ของหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการศึกษาและเรียนรู้  (Strategic Agenda Team: SAT การศึกษาและการเรียนรู้ ) โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมร่วมแลกเปลี่ยน “การศึกษาไร้รอยต่อ” หรือ “Seamless Education” กับภาคีเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้นำการศึกษา ทุกภาคส่วน

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงทัศนะของ“การศึกษาไร้รอยต่อ” ว่า เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ทั้งในเชิงการกำหนดเป้าหมายและการออกแบบการทำงาน ซึ่งมีนัยยะต่อการขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ใน 3 แนวทาง คือ 1. การพัฒนาระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างแหล่งความรู้กับผู้เรียน เชื่อมโยงการเรียนรู้บนโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ที่ไร้รอยต่อ เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) 2. การพัฒนาระบบ Coaching เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความหลากหลายได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและบรรลุเป้าหมายชีวิตของตนเองได้ ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมโยงในหลายด้าน เช่น การพัฒนาหลักสูตรที่ต้องเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้เรียน ตลาดแรงงาน ทิศทางเศรษฐกิจ รวมทั้งบริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยง Hard skills และ Soft skills 3. การพัฒนาระบบหรือPlatform กลาง ที่เชื่อมโยงระหว่างโลกการศึกษากับชีวิต เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและเงื่อนไขชีวิตของแต่ละบุคคล สามารถเรียนควบคู่กับการทำงานได้ ตามนโยบาย Learn to Earn เช่น การพัฒนาระบบ Credit Bank ที่เชื่อมโยงการศึกษาในระบบและการเรียนรู้นอกระบบการศึกษาให้สามารถนำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ จากการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เป็นหน่วยกิตสะสมที่สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพและการศึกษาต่อ การเชื่อมโยงในเชิงระบบ โดยการพัฒนาระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษาให้สามารถเทียบโอนหน่วยกิตการเรียนรู้ ข้ามสถานศึกษา ข้ามระบบ หรือข้ามประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้สูงขึ้นโดยไม่ต้องยึดติดกับระยะเวลาการศึกษา หรือ อายุ เป็นการช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

“ทั้งนี้หากทุกภาคส่วนสามารถสานพลังกันอย่างสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่า การศึกษาไร้รอยต่อ จะไม่เป็นเพียงแค่การเชื่อมโยงระหว่างระบบการศึกษาต่างๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองสู่ความเป็นเลิศได้อย่างยั่งยืน”

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการจัดการความรู้และขับเคลื่อนระบบการศึกษาและการเรียนรู้ในปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทยที่ขาดความต่อเนื่องและความสอดคล้อง ตลอดจนมีการแบ่งแยกที่ตายตัว ทำให้เกิดช่องว่างและรอยต่อในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งสามารถวิเคราะห์รอยต่อหรืออุปสรรคสำหรับผู้เรียนในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ ออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. รอยต่อระหว่างในระบบและนอกระบบโรงเรียน ที่ไม่ตอบสนองต่อบริบทและความต้องการของผู้เรียน โดยเฉพาะเด็กบางกลุ่ม เช่น เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล เด็กในสถานพินิจ หรือเด็กที่ต้องการทำงานควบคู่ไปกับการเรียน การสอบเทียบวุฒิเพื่อก้าวข้ามการใช้เวลาในห้องเรียน เช่น การสอบเทียบวุฒิการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (GED หรือ Sixth Form)  2. รอยต่อของความเป็นศูนย์กลางและชายขอบ ในหลายมิติ ทั้งมิติของถิ่นที่อยู่ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา อัตลักษณ์ ความเชื่อ หรือความคิดเห็นทางการเมือง ผู้เรียนทุกคนควรได้รับการยอมรับ อยู่ร่วมกันและเรียนรู้ได้ในความแตกต่าง 3. รอยต่อระหว่างศาสตร์และสาขาวิชาอย่างที่ทราบว่าการแก้ปัญหาต่างๆ จะต้องใช้ความรู้และทักษะจากหลากหลายศาสตร์ผสมผสานกัน แต่การเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย ยังแยกส่วนออกจากกันในรูปแบบของ 8 สาระการเรียนรู้รายวิชาและคณะต่างๆ นอกจากนี้ องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ผู้เรียนสนใจ และทักษะใหม่ที่จำเป็น ยังไม่เข้าไปอยู่ในหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ที่จะให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความต้องการ ตลอดจนค่านิยมของคนในระบบการศึกษาที่มองศาสตร์ต่างๆ แบ่งแยกออกจากกัน เช่น วิทย์ – ศิลป์ วิชาการ – กีฬา และให้คุณค่าแต่ละศาสตร์แตกต่างกันนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน 4. รอยต่อระหว่างผู้ที่ทำงานด้านการขับเคลื่อนการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้เล่นในภาคการศึกษาและการเรียนรู้เป็นจำนวนมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการศึกษามากขึ้น แต่ละผู้เล่นทำงานด้วยชุดความเชื่อ เป้าหมาย และกระบวนการแตกต่างกัน มีความพร้อมและทรัพยากรแตกต่างกัน

สำหรับข้อค้นพบดังกล่าว สกสว. ได้นำมาเสนอผ่านเวทีสัมมนาวิชาการ Thailand Education Forumเพื่อเปิดให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาแนวคิด “การศึกษาไร้รอยต่อ” ให้เป็นจริงได้ในสังคมไทย และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมคิด ร่วมมือ และร่วมใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ผู้เรียน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศต่อไป”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *