สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้ากำจัดซากเครื่องปรับอากาศถูกวิธี

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานพันธมิตร “ส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี” สู่การขับเคลื่อนประเทศไทยให้มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า “สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรมภายใต้ โครงการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี เป็นหนึ่งในโครงการสาธิตและนำร่อง ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund หรือ CIF) ของ กฟผ. มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี โดยการสนับสนุนให้ช่างถอดติดตั้ง ผู้ขนส่งซากเครื่องปรับอากาศมีวิธีการและอุปกรณ์ดูดกลับสารทำความเย็น สามารถรวบรวมเครื่องปรับอากาศที่หมดอายุการใช้งานและสารทำความเย็นภายในเครื่องปรับอากาศ เข้าสู่กระบวนการถอดแยกและกำจัดอย่างเหมาะสม ในโครงการนี้ สถาบันได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บริหารจัดการโครงการในภาพรวม ทำหน้าที่ออกแบบกิจกรรม, จัดฝึกอบรมช่างถอดติดตั้งและผู้ขนส่งซากฯ  ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ บุคลากรในกลุ่มอาชีพ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ศูนย์รวบรวมซากฯ ผู้ขนส่งซากฯ และโรงถอดแยกและกำจัด ให้เกิดกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ในที่ประชุมรัฐภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26)”

เมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีผู้จำหน่ายและช่างที่ผ่านการอบรมและมีความรู้ในการถอดติดตั้งซากเครื่องปรับอากาศและการดูดกลับสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้และเข้าใจกลไกการรวบรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้วเข้าสู่ระบบการจัดการซาก ในรูปแบบของการแลกเครื่องปรับอากาศเก่าที่บ้านกับเครื่องใหม่ที่จะซื้อเพื่อเป็นส่วนลดมูลค่า 1,000 บาท ในขณะที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายหรือโมเดิร์นเทรดจะได้เรียนรู้การรวบรวมซากเครื่องปรับอากาศเก่า ขนส่งไปโรงงานถอดแยกและโรงงานรีไซเคิลเพื่อการกำจัดอย่างถูกวิธี เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีการประกาศบังคับใช้ในเร็วๆ นี้

การดำเนินงานโครงการนี้สอดรับกับพันธกิจของสถาบันในการสนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและมีการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา สถาบันได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy อย่างต่อเนื่อง เช่น การศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาวิจัยแนวทางในการรวบรวมและจัดการสารทำความเย็นที่ผ่านการใช้งานแล้วของระบบปรับอากาศ

รองศาสตราจารย์ ดร. สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในบทบาทของภาคการศึกษาโดยแบ่งได้เป็น 4 มิติ ประกอบด้วย การดำเนินงานวิจัยที่สนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ , การศึกษาองค์ประกอบทั้งกายภาพและเคมี , การถ่ายทอดองค์ความรู้ การสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน การพัฒนากำลังคนทั้งนิสิตนักศึกษาและนักวิจัยให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการดำเนินงานวิจัย และการสร้างเครือข่ายร่วมมือทั้งมหาวิทยาลัยเครือข่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งผลการศึกษาที่ได้ถือเป็นโครงร่างของกรอบกลไก การคำนวณค่าใช้จ่ายที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในกลไกอย่างโปร่งใส การประเมินการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการจัดการซากฯ มีการสร้างเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยงานที่มีเครือข่ายของภาคอุตสาหกรรรมโดยเฉพาะผู้ผลิต จึงเป็นโอกาสที่สำคัญที่หน่วยงานภาคการศึกษาสามารถเข้ามาดำเนินงานงานวิจัยที่ได้รับความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โครงการตอบโจทย์ทั้งสองฝ่ายให้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการสนับสนุนให้เกิดการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *