9 มทร.เร่งแก้ปัญหาซึมเศร้า – จิตตก ด้านมทร.ธัญบุรี เผยต้นแบบการดูแลน.ศ.ผ่านคลินิกกำลังใจ

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า มทร.ธัญบุรี ตระหนักและให้ความสำคัญกับนักศึกษา ที่นอกจากการมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนแล้ว เราเข้าไปดูแลเชิงลึกเกี่ยวกับด้านสุขภาพและจิตใจร่วมด้วย ในลักษณะของการดูแล ประสานงาน ช่วยเหลือเยียวยา สนับสนุนส่งเสริม และให้คำปรึกษา รวมถึงการป้องกัน โดยมีแนวทางการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันภายในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลด้วยกันเอง ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิตเพื่อให้นักศึกษา ได้รับการส่งเสริม ป้องกันด้านสุขภาพจิต และการดูแลช่วยเหลือผู้มีปัญหา รวมทั้งติดตามต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต ผ่านทางงานบริการให้คำปรึกษาและคลินิกกำลังใจ

จากรายงานผลการศึกษาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันในปี 2565 มีผลการวิจัยโดยสรุปที่สอดคล้องกัน เช่น ผลการประเมินสุขภาพจิตคนไทยในปี 2565 ของกรมสุขภาพจิต พบกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าทุกกลุ่มอายุ โดยพบว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 237,208 คน เป็นกลุ่มที่มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย สูงกว่ากลุ่มวัยทำงานและวัยสูงอายุ ซึ่งมีสาเหตุพอที่จะสรุปเชื่อมโยงถึงเรื่องในครอบครัว การเรียน และความกังวลในอนาคตที่ไม่แน่นอนของตนเอง การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ จากการตกงาน หรือสูญเสียรายได้ของครอบครัว ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็จัดว่าเป็นกลุ่มคนดังกล่าวที่มีความเปราะบาง มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต ทั้งภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล จิตตกและเครียด

มทร.ธัญบุรี จึงมีแนวทางการจัดบริการให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ ผ่านทางคลินิกกำลังใจหรือ Mind Counseling RMUTT ที่เปิดให้บริการแก่นักศึกษาและบุคลากรมานานกว่า 5 ปี โดยนักจิตวิทยาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผ่านกระบวนการสำรวจและคัดกรอง บริการให้คำปรึกษา ประสานส่งต่อติดตามผลสร้างเครือข่าย ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ด้วยการดูแลระดับเบื้องต้นและเชิงลึก ซึ่งให้คำปรึกษาเป็นรายกรณีเฉพาะบุคคล แบบกลุ่ม แบบออนไลน์ โดยมุ่งบริการภายใต้แนวคิด “ปกปิด-ปลอดภัย-เปิดใจ” ล่าสุดมีสถิติการเข้ารับบริการในปี 2565 ที่ได้รับการดูแลและจัดการปัญหาแล้วกว่า 200 ราย

ขณะเดียวกัน ยังร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอกด้านสุขภาพจิตร่วมด้วยทั้งการจัดอบรมอาจารย์ที่ปรึกษา บุคลากรที่ทำหน้าที่ให้บริการและใกล้ชิดนักศึกษา่ปรึกรให้อบรมอาจารยือข่ายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอกด้านสุขภาพจิตึกในกลุ่มราชมงคลด้วยกันเอง รวมถึง รวมทั้งกลุ่มผู้นำนักศึกษาร่วมด้วย เพื่อช่วยเหลือนักศึกษา และที่สำคัญยังจัดทำข้อตกลงความร่วมมือใน โครงการ “คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่งกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดผลกับนักศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยร่วมกันดำเนินการในแต่ละเขตสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมี กองทุนสุขภาพนักศึกษา ที่จัดตั้งและดำเนินการมานานกว่า 5 ปี ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนักศึกษา กรณีเจ็บป่วยทั้งด้านสุขภาพและอุบัติเหตุ ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายกรณีเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ และเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับสุขภาพของนักศึกษา โดยนักศึกษาใช้สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิที่ตนได้รับอยู่ก่อนแล้ว แต่หากมีค่าใช้จ่ายเกินกว่าสิทธิที่ตนได้รับอยู่ สามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามประกาศของกองทุนได้ตามที่จ่ายจริงได้อีกด้วย

ขณะที่ อีกทั้ง 8 มทร. ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ก็มีลักษณะและแนวทางเช่นเดียวกันในการร่วมโครงการ “คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่งกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ผ่านทางศูนย์สุขภาพตามแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มทร.พระนคร มุ่งเน้นการบริการให้คำปรึกษาทุกปัญหาของนักศึกษา (Counseling Service) แบบรายบุคคลทั้ง Onsite และ Online รวมถึงขยายความร่วมมือระหว่างกองพัฒนานักศึกษา มทร.พระนคร กับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านบริการให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาร่วมกัน ล่าสุดได้พิจารณาแนวทางความร่วมมือการพัฒนาระบบการดูแลนักศึกษา โดยประชุมหารือกับผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 และคณะ เพื่อการประเมินคัดกรองสุขภาพจิตนักศึกษาและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสารสนเทศที่ใช้ตรวจสอบเฝ้าระวัง

ด้าน มทร.ล้านนา ก็มีแนวทางการดูแลนักศึกษาเช่นเดียวกัน ที่เน้นการป้องกัน การให้คำปรึกษา และการส่งต่อ โดยนำระบบ Mental Health Check In ของกรมสุขภาพจิตเข้ามาใช้ในการคัดกรองเบื้องต้น เพื่อคัดกรองนักศึกษากลุ่มเสี่ยงและเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เช่นเดียวกับแนวทางของ มทร.ศรีวิชัย มทร.อีสาน มทร.สุวรรณภูมิ มทร.กรุงเทพ และ มทร.รัตนโกสินทร์ ส่วน มทร.ตะวันออก จะมุ่งเน้นการประเมิน แบบเฉพาะของ มทร.ตะวันออก เพื่อทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตและการประเมินพลังใจของนักศึกษา (RMUTTO HAPPY WELLNESS) ในการจัดการปัญหาเบื้องต้น ก่อนจะส่งต่อเพื่อการดูแลเยียวยาขั้นถัดไป

อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ยังกล่าวอีกด้วยว่าสิ่งที่เครือข่ายราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ดำเนินการอยู่ขณะนี้เป็นต้นแบบหนึ่งที่จัดว่าประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักศึกษาด้านสุขภาพจิตแบบองค์รวมและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงยังพร้อมที่จะยกระดับคุณภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ขยายผลไปยังเครือข่ายร่วมอื่น ๆ ทั้งยังพร้อมที่จะร่วมมือร่วมผลักดันให้เกิดการนำต้นแบบดังกล่าว การจัดการที่เป็นระบบ รวมถึงนโยบาย หรือความร่วมมืออื่น ๆ มุ่งสู่การปฏิบัติจริงต่อไป เพื่อมุ่งผลให้เกิดขึ้นกับนักศึกษา อันเป็นอนาคตและกำลังพลที่ดีของประเทศต่อไป.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *