สสวท. พัฒนาครูจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะทันโลกยุคใหม่ตามแผน 5 ปี

สสวท. พัฒนาครูจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะทันโลกยุคใหม่ตามแผน 5 ปี
สสวท. พัฒนาครูจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะทันโลกยุคใหม่ตามแผน 5 ปี

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เดินหน้าแผน 5 ปี “IPST 3I 2H สร้างคนคุณภาพเป็นพลังแห่งอนาคต” ให้ครบทั้งด้านการพัฒนาหลักสูตร สื่อ เครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ สมรรถนะการเรียนรู้ ผู้มีความสามารถพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาความเป็นเลิศขององค์กร ภายใต้การเป็นองค์กรที่เน้นการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ให้มีสมรรถนะที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก

นายพรชัย อินทร์ฉาย รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าว ตามแผนปฏิบัติการ สสวท. ระยะ 5 ปีที่จะเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2566–2570 สสวท. จะขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะด้วยวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างมีส่วนร่วมให้สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก โดยพัฒนาครูให้จัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะร่วมกับเครือข่าย ดำเนินการเชิงรุกในการติดตามผล สร้างแกนนำในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนครูในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ  ทั้งนี้ นายพรชัยกล่าวถึงผลงานของ สสวท. ด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาว่า สสวท. ได้มุ่งมั่นปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและเทคโนโลยี ผลงานสำคัญของ สสวท. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ STEAM Education การพัฒนาศักยภาพครูให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่สำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง (Coding) ดังนี้

 

  1. การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ STEAM Education โดยได้ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ STEAM ให้แก่ครูผู้สอนทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี อย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยการพัฒนา STEAM Education  ทั้งนี้คาดว่าเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะได้ผู้เข้าอบรม 50,000 คน ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สสวท. จะขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้และพัฒนาสมรรถนะครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับออกแบบกิจกรรมและการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามกรอบการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และนำไปจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้อย่างถูกต้อง
  2. การพัฒนาศักยภาพครูให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่สำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สสวท. เพิ่มศักยภาพครูให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ให้พร้อมต่อการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะมีครูได้รับการพัฒนา 1,000 คน อีกทั้งสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ สสวท. และหน่วยงานการศึกษาอื่น ๆ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของโรงเรียนทั่วประเทศ
  3. การส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง (Coding) สสวท. พัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยมีครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนได้รับการพัฒนาด้านวิทยาการคำนวณแล้วกว่า 40,000 คน ส่วนแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คือ การพัฒนาและส่งเสริมการใช้หลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและโค้ดดิ้ง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เน้นให้ครูปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้มีการพัฒนาสมรรถนะสำหรับศตวรรษที่ 21

 

นายพรชัยอธิบายว่า “ครูบางโรงเรียนอาจยังไม่มีความพร้อม หรือมีความรู้ด้านโค้ดดิ้งไม่เพียงพอ สสวท.  จึงได้จัดทำคู่มือครูที่ครูสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และจัดอบรมในรูปแบบหลักสูตรอบรมทางไกลและแบบออนไลน์ เพื่อให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่คนในยุคสมัยนี้จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องโค้ดดิ้งไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด”

 

สำหรับ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สสวท. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้เข้าร่วมพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามโครงการพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพัฒนาครูในโรงเรียนพระราชดำริฯ และสนับสนุนสื่อ วัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอนให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สูงขึ้น ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะมีครูได้รับการพัฒนา 410 คน และปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สสวท. จะดำเนินงานต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาทั้งในด้านการพัฒนาครูในโรงเรียนโครงการพระราชดำริฯ พร้อมทั้งพัฒนาครูต้นแบบโรงเรียนวังไกลกังวล (การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม) ให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล

 

“สิ่งที่พบในการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี คือ ครูจบไม่ตรงวุฒิในวิชาที่สอนโดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก ตลอดจนองค์ความรู้ เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ และจุดมุ่งหมายในการจัดการเรียนรู้ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จึงทำให้ต้องมีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง”  นายพรชัยกล่าวปิดท้าย

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สสวท.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *