ร่วมยินดี! มหิดลแถลงข่าว “World University Ranking และ QS Ranking by Subject” กับการพัฒนาศักยภาพ คุณภาพด้านการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิก แห่งประเทศไทย และอาจารย์ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว “การพัฒนาศักยภาพคุณภาพด้านการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ กับการจัดอับดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) และ(QS Rankings by subject)” ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนามหาวิทยาลัย อย่างก้าวกระโดดและตอบโจทย์ประเทศด้วยการแบ่งกลุ่มตามความถนัดและศักยภาพของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพที่สูงขึ้นและส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยโลกที่ดีขึ้น ตามสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ หรือ Ranking by Subjects ซึ่งจะสะท้อนคุณภาพของงานวิจัยการเรียนการสอน ความเป็นนานาชาติรวมถึงการบริการวิชาการและการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ในสาขาต่างๆ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนโยธี)

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า การเข้าสู่อันดับ TOP 50 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในสาขา Performing Arts เป็นหัวหอกในการนำการศึกษา ของประเทศให้พัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและจะเป็นส่วนในการช่วยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ให้เข้าไปสู่การเป็น TOP 50 หรือ อย่างน้อยTOP 100 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในอนาคต สำหรับการได้รับอันดับที่ 47 ในครั้งนี้เกิดมาจากความสำเร็จที่ผ่านมา โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับโดย QS World University Rankings by Subject 2021 ในอันดับ TOP 100 และต้องขอชื่นชม ที่ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก็สามารถทำได้ตามเป้าหมาย อย่างเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ จะต้องพัฒนาคุณภาพของผลงานในทุกด้าน ทั้งงานวิจัย การเรียนการสอน สภาพแวดล้อม การบริหารจัดการ และการดูแลบุคลากรและนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่า ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ทุกมหาวิทยาลัยต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างมาก ในขณะที่ งานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน มีทิศทางและมุ่งประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในหลายๆ โครงการ ในฐานะที่เป็นปัญญาของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์แก่สังคมและมวลมนุษยชาติในวงกว้าง

เมื่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัดกรรม (อว.) ได้ประกาศเดินหน้าโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย (Reinventing University) ให้ทัดเทียมระดับสากล นั้น สิ่งสำคัญ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะสถาบันอุดมศึกษาระดับแนวหน้าของไทย ได้สนองรับนโยบายดังกล่าวด้วยการวางยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมโลก ใน 5 กลุ่มสาขา ได้แก่ กลุ่มสาขา Biologics and Vaccine กลุ่มสาขา Al Based Diagnosis กลุ่มสาขา Medical Robotics กลุ่มสาขา Medical Devices และกลุ่มสาขา Drug Discovery นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนา “Soft Power” ของประเทศไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนการพัฒนาด้าน “Performing Arts” อย่างเข้าใจและจริงจัง ทำให้การพัฒนาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นไปอย่างก้าวกระโดด แม้ว่า สาขาดนตรีจะมีความแตกต่างจากสาขาวิขาอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย แต่อย่างที่ทุกคนทราบ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในแต่ละกระดานมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เราต้องเข้าใจกติกา และพิจารณาถึงปัจจัยที่เรามีอยู่ก่อน จึงจะสามารถเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล ต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติให้กับทุกสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเชี่ยวชาญ

นอกจากนี้การที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับโดย QS World University Rankings by Subject 2022 ในสาขา Performing Arts ครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความทุ่มเทและมุ่งมั่นในคุณภาพ ทั้งในด้านของ หลักสูตร คณาจารย์ นักศึกษา การวิจัย มีผลงานลิขสิทธิ์จำนวนมาก และการเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาขาติ ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจและเป็นก้าวแห่งการพัฒนาที่สำคัญของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงถึงศักยภาพที่จะสามารถแข่งขันกับนานาชาติ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดงของไทยออกสู่ตลาดโลก ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้รูปแบบใหม่ๆให้กับประเทศในอนาคต

     คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานวงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิก แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทยในเวลานี้ เพราะประเทศที่มีความเข้มแข็งจะสามารถผ่านอุปสรรคและปัญหาไปได้อย่างยั่งยืน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญเมื่อปีที่ผ่านมาด้วยการรับการจัดอันดับเป็นสำดับ TOP 100 ของ QS World University Rankings by Subject 2021 ด้านการ Performing Arts เป็นที่แรกในประเทศไทย และยังได้แสดงศักยภาพในการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วแม้อยู่ใน สถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 แสดงให้ห็นศักยภาพขององค์กรในเรื่อง Agile และ Resilience เป็นอย่างมาก การพัฒนาทางด้านศิลปะและการแสดงเป็นเรื่องที่สำคัญพราะจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ และรายได้เข้าสู่ประเทศในรูปแบบใหม่ หลายคนพูดถึง Soft Power ในขณะนี้ แต่อยากให้เข้าใจว่า Soft Power จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการแสดงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เป็น Positive Branding ให้กับประเทศ และที่สำคัญคือต้องมีส่วนของการสร้างรายได้สู่ประเทศ ต้องมี Economic Impact ให้กับประเทศ ถ้าไม่ได้สร้าง Branding ที่ดีให้กับประเทศก็ยังสามารถเรียกว่า Soft Power ได้ เราเองก็สร้างเรื่อง Soft Power ให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้าน กีฬา แบดมินตัน กอล์ฟ และอื่นๆรวมไปถึงการเป็นกรรมการโอลิมปิกสากล ทำให้นานาชาติถึง ความสามารถของคนไทย และสร้างความยอมรับในแง่ดีให้กับประเทศ

อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย QS World University Rankings by Subject 2022 ในสาขา Performing Arts อันดับที่ 47 และเป็นการเข้าสู่อันดับ TOP 50 ของโลก เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จจากการต่อยอดแบบก้าวกระโดดของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ใช่แค่การแสดงให้เห็นศักยภาพการศึกษาทางด้านดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เพียงอย่างเดียว แต่แสดงศักยภาพและความสามารถทางด้านดนตรีที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย เพราะเกณฑ์การให้คะแนนในสาขา Perfoming Arts จะขึ้นอยู่กับการให้คะแนนในสองด้าน คือ ชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) และ ชื่อเสียงของนายจ้าง (Employer Reputation) สะท้อนให้เห็นการยอมรับทั้งในด้านการศึกษาและการแสดงในระดับนานาชาติ

สุดท้ายนี้ทีมงาน Eduzones ขอแสดงความยินดีกับทางมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยนะคะ

สามารถติดตามข่าวสารมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ : www.mahidol.ac.th

และติดตามข่าวสารจาก Eduzones ได้ที่ Facebook Fanpage : Eduzones Website : www.eduzones.com

Twitter : @eduzones วันนี้ Eduzones ขอลาไปก่อน สวัสดีค่ะ😊

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *