คุยกันเรื่องอักษร? – รีวิวคณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร!

คุยกันเรื่องอักษร? – รีวิวคณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเท่านั้น!
คุยกันเรื่องอักษร? – รีวิวคณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร

อักษรศาสตร์หนึ่งในคณะยอดฮิตที่ครองใจใครหลาย ๆ คน วันนี้พี่ออมจะพาน้อง ๆ ไปพูดคุยให้หายสงสัยว่า แท้จริงแล้ว อักษรศาสตร์เป็นคณะที่เรียนง่ายกว่าสายวิทยาศาสตร์จริงหรอ? แล้วอักษรศาสตร์เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับอะไร? พร้อมแล้วไปพบกับอลิสศา กุลธีรดิลก รุ่นพี่จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรกันเลย!

.

อลิสศากลายทักทายน้อง ๆ ด้วยรอยยิ้มแจ่มใสก่อนเริ่มแชร์ประสบการณ์เริ่มตั้งแต่สาเหตุการเข้ามาเรียนคณะอักษรศาสตร์ “เรารู้ตัวตั้งแต่แรกว่าไม่ถนัดสายวิทยาศาสตร์ สายคำนวณ แต่ถนัดพวกเรียนของการท่องจำ เรื่องของการใช้ภาษามากกว่า เลยคิดว่าอักษรน่าจะตรงมากกว่าเพราะเป็นคณะที่ไม่มีการใช้การคำนวณ ใช้เลขเลย”

คนมักจะเข้าใจอักษรคือการเรียนวรรณกรรมล้วนเลย แต่เอาจริง ๆ แล้วมันก็คือการเรียนวรรณกรรมควบคู่ไปกับการสื่อสารทุกด้านเลย เหมือนเรียนพวกพื้นฐานภาษาทั้งหมดเลย

อลิสศาอธิบายของเข้าใจผิดเกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์ด้วยความตั้งใจพร้อมพูดต่อว่า “อย่างช่วงปีท้าย ๆ ก็จะมีการเลือกไปเลยว่าใครอยากเรียนแนวภาษาศาสตร์ แนววรรณกรรมซึ่งต้องเป็นคนที่ชอบจริง ๆ นะ เพราะว่าต้องใช้ทั้งเวลา ความอดทน เทอมนึงก็ต้องอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ เป็นปึก ๆ สองเล่มอย่างต่ำต่อเทอม คนส่วนใหญ่เลยเลือกลงสายสกิล สายสื่อสารมากกว่า รวมถึงตัวเราด้วย”

.

อลิสศาใช้สมาธิครู่หนึ่งหลังจากได้ยินคำถาม ก่อนตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับพื้นฐานได้ภาษาให้เราฟังว่า “ถ้าถามว่าไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับด้านภาษาเลยจะเข้าเรียนได้ไหม” เธอเงียบลงอีกครั้งก่อนพูดต่อ “จะว่าไงดี มันก็ยากนะสำหรับศิลปากรเพราะแค่ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเราก็ต้องสอบพวกข้อสอบที่เป็นภาษาเฉพาะ แบบภาษาจีน ภาษาเยอรมัน เหมือนทุกคนจำเป็นต้องมีพื้นฐานอยู่แล้ว ไมได้เป็นการสอนตั้งแต่เริ่มต้นแบบ ก -ฮ พอตอนจะเข้าเอกก็ต้องมีสอบเข้าอีก ซึ่งทุกคนก็จำเป็นที่จะต้องมีพื้นฐานอยู่แล้วพออ่านออก เขียนได้บ้าง”

“ศิลปากรจะแปลกต่างมหาวิทยาลัยอื่นนิดหน่อย” อลิสศารื้อฟื้นความจำเกี่ยวกับการสอบเข้าว่า “แบบของปีเราคนที่เข้ามาในรอบโควตาก็จะสามารถเลือกเรียนเอกอะไรก็ผ่านเลย คือก็ไปเรียนรวมกับเพื่อนก็แต่พอตอนเลือกเอกก็ไม่จำเป็นต้องไปสอบเข้าอะไรแบบนี้  แต่ของเราเข้ามารอบสี่ มันจะยังไม่มีการแยกเอกย่อย ๆ แบบ เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลี แต่จะต้องเรียนรวมกันไปก่อนเลยสองปี จะต้องไปเก็บขาก่อน” เธอยังอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่าขาที่พวกเราไม่คุ้น “ถ้าถามว่าขาคืออะไรมันก็คือวิชาที่เราต้องเก็บให้ครบ 3 ตัวเพื่อที่จะเข้าเรียนเอกนั้น ๆ มันจะเป็นแบบพวกวิชาพื้นฐานที่เราต้องไปเรียนให้เกรดผ่านเกณฑ์ของเขา ก็จะได้เข้าเรียนตอนปีสองเทอมสอง อันนี้เป็นทั้งวิชาเอกทั้งวิชาโทเลยนะ”

.

“แล้วถ้าไม่ผ่านขาวิชานั้นจะทำยังไง” อลิสศาทวนคำถามก่อนเล่าให้ฟังต่อว่า “จากประสบการณ์ตรงของเพื่อนนะ เพื่อนอยากเข้าเอกอังกฤษมาก แต่ว่ามีบางตัวที่ไม่ผ่าน แบบได้เกรดที่โอเคอยู่ประมาณสองตัว เขาก็ต้องกลับไปเรียนสองตัวนั้นใหม่กับรุ่นน้องให้ผ่านให้ได้ แต่ทางคณะก็ไม่ได้จำกัดนะว่าเราต้องเก็บขาของวิชาเดียว มีหลายคนที่เลือกเก็บหลายขาเผื่อ ๆ ไว้เลย ส่วนใหญ่ภาษาก็มีข้อสอบก่อน ซึ่งถ้าเราผ่านถึงจะมีสิทธิ์ไปเก็บขาของวิชานั้น ๆ แต่ถ้าสุดท้ายเก็บอะไรไม่ได้ก็ต้องวนกลับที่สอบเข้าเก็บขาอีกรอบ”

รุ่นพี่วิชาโทการละครอธิบายอย่างตั้งใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของคณะอักษรศาสตร์และวิชาโทที่เธอเรียนว่า “เราเรียนวิชาเอกอังกฤษ วิชาโทการละคร วิชาละครก็จะเป็นเชิงภาษา มีความเป็นอักษรอยู่ในการเรียน เราจะเริ่มตั้งแต่การนั่งวิเคราะห์บท วิเคราะห์วรรณกรรม ผ่านปรัชญาหรือทฤษฎีวิเคราะห์ที่เคยเรียนมา พูดง่าย ๆ คือเป็นวิชาโทโดยเฉพาะของเด็กอักษรที่ต้องเอาความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมภาษามาประยุกต์ใช้ร่วมกัน แต่ถ้าถามวิชาที่ไปปฏิบัติ พวกเบื้องหลังมีไหมก็มี พวกวิชา Make up ทำฉาก Acting พวกวิชาเป็นสายนิเทศ สรุปก็คือเราจะได้เรียนทั้งหน้ากล้องหลังกล้อง ทั้งในส่วนของคนเขียนบทด้วยอะไรแบบนี้”

อลิสศาพูดด้วยน้ำเสียงสนุกสนานทันทีที่ถูกขอให้เล่าเกี่ยวกับสภาพสังคมในมหาวิทยาลัย “คณะอักษรเป็นคณะที่มีเด็กเยอะมากแต่ก็จะอยู่รวมกันตลอด แบบเราเดินสวนคนนู้นคนนี้เต็มไปหมด แต่เราก็จะได้เพื่อนหลายกลุ่มมากเพราะอย่างที่บอกว่าช่วงปี 1 ปี 2 เราเรียนรวมกันแบบไม่แบ่งสาขา แล้วยิ่งได้เรียนพวกวิชารวมคือรับประกันได้เลยว่าเรามีเพื่อนเยอะมาก เราว่ามันเป็นเรื่องที่ดีเลยนะ หลังจากช่วงแบ่งเอกแล้วมันก็ยิ่งทำให้เรารู้จักคนอื่นมากขึ้นอีก ข้ามไปรู้จักรุ่นพี่ รุ่นน้องเพราะบางวิชาในเอกคือเราต้องเรียนร่วมกัน ต้องทำงานกลุ่มร่วมกัน ต้องไปค่าย แต่เราอาจจะไม่ค่อยได้สุงสิงกับคณะอื่นสักเท่าไหร่อาจจะเพราะด้วยตัวตึกคณะมีทุกอย่างพร้อม มีโรงอาหารให้ครบหมดแล้ว”

.

“ถ้าพูดถึงอาจารย์ คุณครูก็ต้องบอกว่ามีหลายประเภทแหละ แต่ตั้งแต่เราเรียนมาก็เจอแต่ครูที่ดีมาตลอดเลยนะ ต้องเรียกว่าเป็นโชคดีหรือเปล่า” อลิสศาพูดพร้อมหัวเราะอย่างร่าเริง “ด้วยความที่เราเรียนอักษรบางทีเวลาเราทำข้อสอบมันอาจจะไม่ได้เหมือนสายวิทยาศาสตร์ที่เขามีคำตอบชัดเจนหรือคำตอบตายตัว เราอาจจะต้องรู้จักอาจารย์คนนั้นในประมาณนึงว่าต้องตอบประมาณไหน ต้องคอยสังเกตการพูดการสอนของเขาในคลาสจะได้รู้ว่าเขามีความคิดแบบไหน น่าจะชอบคำตอบประมาณไหน”

“อักษร มนุษย์ ศิลปศาสตร์ อาจจะดูเป็นคณะที่เรียนง่ายสำหรับใคร ๆ หลายคนนะ ดูเหมือนไม่ต้องใส่ใจก็สามารถทำได้ แต่เอาเข้าจริงมันต้องใช้ความอดทนสูงมาก” เธอพูดอย่างเน้นเสียงลากยาวเป็นเครื่องรับประกันได้ว่าไม่ใช่เพียงคำขู่ แต่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกจริง ๆ

“มันมีรายละเอียดเยอะมาก อย่างที่เราบอกไปว่าแบบมันไม่ได้หลักการตายตัวมารองรับคำตอบ คุณสามารถเขียนอะไรลงไปในข้อสอบก็ได้ แต่จะถูกไม่ถูกคือเราไม่รู้เลย มารู้ตัวอีกทีคือตอนคะแนนออก แล้วเรื่องการเรียนก็คือกว้างมาก อย่างที่บอกว่ามันแตกไปได้เยอะมาก บางอยางที่เรามั่นใจตอนแรกว่าถนัดมาก อาจจะกลายเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบไปเลยก็ได้” อลิสศายังช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับคณะอีกว่า “ อีกอย่างที่อยากฝากไว้คืออาจจะมีบางคนเข้าใจว่าเรียนอักษรจะสามารถไปเป็นครูด้านภาษาได้ทันที ต้องบอกว่ามันไม่ใช่นะ อย่างพวกคณะครุศาสตร์เขาจะมีไปฝึกงาน ไปเก็บชั่วโมงสอบ สอบบรรจุ แต่อักษรของเรามันไม่ใช่แบบนั้นเลย ถ้าอยากฝึกงานก็ต้องฝึกเองช่วงปิดเทอม เราจะเรียนเป็นการเรียนในตำรา ทฤษฎีมากกว่าไม่ได้มีการไปปฏิบัติอะไร”

.

รุ่นพี่คณะอักษรศาสตร์คนนี้ ยังได้ทิ้งท้ายถึงน้อง ๆ ที่มีความสนใจไว้ว่า “สำหรับใครที่อยากเรียนเราต้องคิดไว้ก่อนว่าอยากเรียนภาษาอะไรแล้วก็มีความทุ่มเท กับความตั้งใจที่มากพอตัวเลย ขนาดเราที่คิดว่าถนัดภาษาและทำได้ดี พอมาเรียนเข้าจริงคือยากมาก ถามว่าทำได้ไหมทำได้ แต่ต้องลุ้นกันอีกทีตอนคะแนนออกนะ” เธอยิ้มส่งท้ายเป็นการให้กำลังใจน้อง ๆ ทุกคน

.

– อลิสศา กุลธีรดิลก คณะอักษรศาสตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทการละคร มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ข้อมูลหลักสูตร

– คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

– หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี 4 ปี)

– 10 สาขาวิชา : ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ. ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์, นาฏยสังคีต, ปรัชญา, สังคมศาสตร์การพัฒนา, สารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์, ภาษาเอเชียตะวันออก (จีน / ญี่ปุ่น / เกาหลี), ตะวันตก (ฝรั่งเศส / เยอรมัน)

– ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 15,000 บาทต่อเทอม

– รายละเอียดเพิ่มเติม :    เว็บไซต์ : คลิก

Facebook : คลิก

Twitter : คลิก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *