สร้างภูมิคุ้มกันในการท่องโลกออนไลน์อย่างยั่งยืน ม.กรุงเทพ จับมือ สสอท. ชวนเยาวชนตระหนักเรื่อง “สติดิจิทัล” 

ปัจจุบันเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยข่าวสารซึ่งถาโถมในโลกอินเทอร์เนต บ้างเป็นข่าวจริง บ้างเป็นข่าวลวง ถ้าแม้ผู้เสพข่าวปราศจากสติไตร่ตรองข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ย่อมส่งผลเสียอย่างคาดไม่ถึงทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง ไปจนถึงสังคมโดยรวม

ด้วยความเข้าใจในความเป็นไปของสังคมข่าวสารในยุคนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ริเริ่มแนวคิดที่จะปลูกฝังเยาวชนและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นต้นทางการบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์สู่สังคม ให้ท่องโลกดิจิทัลอย่างมีสติ โดยร่วมมือกับ คณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนานักศึกษา และคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนาบุคลากร สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยฯ (สสอท.) จัดโครงการ “สติดิจิทัล (Digital Mindfulness): การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่” ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบ Virtual ขึ้น พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสติและการพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัลมาเป็นวิทยากร ซึ่งได้จัดอบรมไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดอบรมให้แก่บุคลากรทางการศึกษา และเมื่อไม่นานมานี้ได้จัดอบรมครั้งที่สองให้แก่ผู้นำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษารวม 17 แห่ง

“โครงการนี้เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ สสอท. ที่เห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายสติดิจิทัล” ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประธานอนุกรรมการฝ่ายพัฒนานักศึกษา สสอท. ผู้เป็นเจ้าภาพการจัดโครงการกล่าว “โดยเราหวังว่าการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จะค่อยๆ ขยายพลังออกไปจนกลายเป็นเครือข่ายที่ตระหนักว่า ‘สติดิจิทัล’ คือทักษะอนาคตที่จะสามารถเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ทุกคน ท่ามกลางสถานการณ์รอบโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อเราทั้งด้านดีและลบ ดังนั้นผู้ที่ท่องโลกออนไลน์จะต้องมีจิตสำนึกและรู้จักคิด วิเคราะห์ และแยกแยะข่าวสารที่ได้รับฟัง ก่อนที่จะปักใจเชื่อหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น สมกับเป้าประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้ทุกคน Aware Adapt และ Arise นั่นคือ ตระหนักรู้ รู้จักนำไปปรับใช้ และก่อเกิดเป็นสติในการท่องโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืนในที่สุด” 

ทางด้าน ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเสริมว่า สติดิจิทัลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราจะพบว่ามีทั้งข่าวจริงและข่าวลวงเต็มไปหมด ซึ่งถ้าเราขาดสติจนไม่มีการกลั่นกรองข่าวสารต่างๆ ก็จะทำให้เราตกอยู่ในโลกของความกลัวและความกดดันซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะทางจิตได้ โครงการนี้จึงนับเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อเยาวชนและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ความมี “สติดิจิทัล” ให้แต่ละสถาบัน จนกลายเป็นสังคมที่ตื่นรู้และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

สำหรับการจัดเวิร์กช็อปครั้งแรกได้รับเกียรติจากอาจารย์ระวี ตะวันธรงค์ Senior Vice President and Editor-in-Chief สำนักข่าว Spring News, Alive และขอบสนาม นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการสื่อสารในยุคดิจิทัล และ อาจารย์อิศรา สมิตะพินทุ ผู้ก่อตั้งบริษัท INSPIRA ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคน พัฒนาสติ และการตื่นรู้ มาเป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้ ในขณะที่ครั้งที่สองที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ก็ยังคงได้รับเกียรติจากอาจารย์อิศรา สมิตะพินทุ มาเป็นวิทยากร ร่วมกับ คุณศิริวัฒน์ คันทารส กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพื่อนกระบวนกร จำกัด และคณาจารย์อีก 2 ท่านจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ อาจารย์ทัศน์วรรณ สิริพรหมเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานักศึกษาแบบองค์รวม และ อาจารย์อัฏฐ์ กู้พงษ์ศักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพการจัดโครงการ “สติดิจิทัล (Digital Mindfulness): การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่” หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะปลูกฝังความฉลาดทางปัญญา ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการรู้เท่าทันทั้งสื่อดิจิทัลและความคิดของตัวเอง สามารถใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ส่งผลกระทบด้านลบให้ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยมี “สติดิจิทัล” เป็นภูมิคุ้มกันในการท่องโลกออนไลน์ที่ยั่งยืนนั่นเอง 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *