3 กระทรวง จับมือ Chevron Enjoy Science และ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED ส่งเสริมนโยบาย “สะเต็มศึกษา” หวังต่อยอดสู่โมเดลการศึกษาอาเซียน

กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต และศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนา “สะเต็มศึกษา” ที่ครอบคลุมทั้งการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะวิชาอาชีพและวิจัย เพื่อส่งเสริมคุณภาพเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 หวังสร้างต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดีผลักดันเข้าสู่ระดับนโยบาย แก้ปัญหาระดับประเทศในระยะยาว ก่อนต่อยอดใช้เป็นโมเดลการศึกษาอาเซียนต่อไป

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในฐานะสมาชิกองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) กล่าวว่า ความร่วมมือจากทุกภาคีในครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาและด้านการพัฒนาวิชาชีพกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นการดีที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศอย่างยิ่ง เพราะตอบโจทย์เทรนด์การศึกษาโลก ยิ่งปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 คือโอกาศดีที่จะถอยกลับมาตั้งหลักเพื่อยกระดับการศึกษาของไทยให้ก้าวไปอีกขั้นด้วยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทั้งนี้ นายณัฏฐพล ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

“ปัจจุบันชาติอาเซียนกำลังเผชิญปัญหาคล้ายกันที่รั้วสัมพันธ์กับสะเต็มศึกษา โดยเฉพาะขาดการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยศักยภาพของศูนย์  จึงคาดหวังว่า จะสามารถนำแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไปพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบแก้ปัญหาด้านการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนต่อไป”

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่า ศูนย์ SEAMEO STEM-ED มุ่งเน้นการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาเข้าสู่ระดับนโยบายของประเทศ โดยในโครงการฯ ระยะ 2 นี้จะอยู่ภายใต้ 3 กรอบการทำงาน คือ 1.ด้านนโยบายสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ หรือ เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 2.พัฒนาจัดการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาผ่าน 3 กิจกรรม คือ STEM Professional Academy เพิ่มศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา, STEM Learning Modules พัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้และจัดเวทีวิชาการ และ STEM Career Academy แนะแนวทางศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เพิ่มทักษะจำเป็น และสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพด้านสะเต็ม 3.ส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านสะเต็มที่เหมาะกับบริบทของประเทศ

ด้านนายไพโรจน์ กวีนานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวว่า “โครงการ Chevron Enjoy Science ระยะ 2 ” ว่า จากการความสำเร็จของโครงการในระยะ 1 ทำให้โอกาสนี้ได้พัฒนาโครงการสู่ระยะ 2 ด้วยความร่วมมือการดำเนินงานในรูปแบบ “รัฐร่วมเอกชน” ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาทางโครงการฯ ได้เข้าไปสนับสนุนภารกิจภาครัฐ สร้างพื้นฐานทักษะสะเต็มศึกษาแก่เยาวชน และกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมระหว่างการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม และในการดำเนินโครงการฯ ระยะ 2  ยังได้ให้ความสำคัญกับการ Upskill และ Reskill เพื่อส่งเสริมวิชาอาชีพด้านสะเต็มให้เยาวชนด้วย Career Academies ที่นำโมเดลมาจากต่างประเทศ คาดว่าจะช่วยพัฒนาคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของโลกธุรกิจหลังโควิด-19 มากขึ้น

ภายในงานยังมีการเสวนาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “เส้นทางสู่ความสำเร็จ…จากห้องเรียนสู่นโยบาย” ยังได้พูดถึงผลที่เกิดจากการเข้าร่วมโครงการฯ นี้ โดย ดร.วรรณภา สมตา ศึกษานิเทศก์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากการที่ได้ร่วมโครงการกับ Chevron มาตั้งแต่ปีแรก จะเห็นได้ถึงการพัฒนาไปอย่างมาก ในมิติของคุณครูได้รับการพัฒนาตรงตามสมรรถนะ เพื่อให้บริหารชั้นเรียนและนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้วิธีการสอนแบบกลุ่ม ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง คิดวิเคราะห์เอง เพื่อดึงศักยภาพในตัวนักเรียนออกมา ในมิติของนักเรียนก็จะได้รับความมั่นใจจากความใส่ใจของครูผู้สอน กล้าที่จะคิดอะไรใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาชิ้นงานให้ดีมากยิ่งขึ้น และอีกมิติหนึ่งคือการมุ่งพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนต้นแบบอีกหลายโรงเรียนในไทยมากยิ่งขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *