เพียงฝัน ดอเล๊าะ ศิษย์เก่าปริญญาโท การทูต (อินเตอร์) ม.รังสิต กับบทบาทนักวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

หลายคนเลือกเรียนด้านภาษาเพียงเพราะมีความฝัน บ้างเลือกเรียนเพราะอยากเป็นแอร์โฮสเตส บ้างเลือกเรียนเพราะอยากเดินทางท่องเที่ยวในต่างแดน และบางคนเลือกเรียนเพียงเพราะรู้ว่าภาษานั้นสำคัญ เรียนไปเพื่อให้มีความรู้ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าอยากประกอบอาชีพอะไร ภาษาจึงเป็นเหมือนตัวเชื่อมพาเราไปสู่โลกกว้าง เหมือนกับศิษย์เก่าแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตคนนี้ เธอเลือกเรียนภาษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเธอรู้จักตัวตนของเธอ และรู้ว่าภาษาจะพาเธอไปสู่โลกที่กว้างใหญ่แค่ไหน
นางสาวเพียงฝัน ดอเล๊าะ หรือ เดียร์ ศิษย์เก่าปริญญาโท สถาบันการทูตและการต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) และศิษย์เก่าปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตนเป็นนักวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระหว่างที่รอเข้าพิธีประสาทปริญญา หลังจากที่จบปริญญาตรี ได้สมัครเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานและล่าม (ภาษาอังกฤษและภาษามลายู) ในค่ายจุฬาภรณ์ โดยเป็นโครงการของทหารเรือนาวิกโยธิน หลังจากจบโครงการก็สมัครเป็นล่ามภาษาอังกฤษที่โรงพยาบาลอินเตอร์แห่งหนึ่ง ทำงานไปได้สักระยะก็มาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากนั้นก็ต่อยอดมาเป็นนักวิเทศสัมพันธ์ของกระทรวง
“การเปลี่ยนงานก็เหมือนเป็นการค้นหาตัวตน เราอาจคิดว่าเราทำได้ ซึ่งเราก็ทำได้ แต่สิ่งนั้นอาจไม่ใช่ความชอบหรือความถนัดที่อยากจะทำไปตลอด แต่ทุกงานที่เดียร์ทำก็หนีไม่พ้นเรื่องของภาษา งานนักวิเทศสัมพันธ์ เป็นงานที่เกี่ยวกับภาษาโดยตรง ลักษณะของงานจึงค่อนข้างกว้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ ทูตต่างชาติของกระทรวงฯ เดียร์ก็จะได้รับมอบหมาย ทั้งงานแปลเอกสาร การดูแลสัญญา MOU ต่างๆ ตอนนี้ทำงานที่นี่มาเกือบ 2 ปีเต็มแล้วค่ะ ระหว่างที่ทำงานเดียร์จึงเริ่มมองหาที่จะเรียนต่อระดับปริญญาโท ตั้งใจว่าจะเรียนต่อที่ ม.รังสิต แต่ก็ยังลังเลว่าจะเรียนต่อ สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อวิชาชีพ หรือจะเรียนสถาบันการทูตและการต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็เลือกเรียน IDIS สถาบันการทูตและการต่างประเทศ เพราะจะได้ตรงกับสายงานที่ทำ หลักสูตรที่เรียนเป็นอินเตอร์ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน ในคลาสเรียนมีเพื่อนๆ ชาวต่างชาติหลากหลายประเทศ ซึ่งที่ ม.รังสิตเองก็เป็นสถาบันแรกในเอเชียที่มีการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรด้านการทูตโดยตรง อาจารย์แต่ละท่านก็เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นนักการทูตผู้มากประสบการณ์ สำหรับเดียร์ ประสบการณ์จากห้องเรียนสามารถเอามาใช้กับงานได้จริง 70-80 เปอร์เซ็นต์เลยค่ะ วิชาในห้องเรียน การแชร์ประสบการณ์จากอาจารย์ ยังมีการไปศึกษาดูงานในวิชาเรียนด้วยค่ะ นอกจากนี้ Connection ในห้องเรียนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยค่ะ เพื่อนๆ ในคลาสของเดียร์ก็จะทำงานในสายงานใกล้เคียงกัน เวลาที่ต้องการคำแนะนำ หรือมีปัญหาในแง่ของการทำงาน นอกจากจะมีอาจารย์ที่คอยให้คำแนะนำ ยังมีเพื่อนในคลาสเรียนที่ช่วยเหลือกันได้เสมอค่ะ”
งานนักวิเทศสัมพันธ์ กรอบของตัวงานไม่ได้ใช้เพียงทฤษฎีจากในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีทักษะด้านการสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างชาติจำเป็นต้องใช้ทักษะในหลายๆ ด้าน รวมถึงการเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของแต่ละชาติด้วย นอกจากนี้ ในเรื่องของการแปลเอกสาร การเลือกใช้ถ้อยคำ สำเนียงภาษา เป็นอีกเรื่องละเอียดอ่อน เหล่านี้ เดียร์เล่าให้ฟังว่า ที่มหาวิทยาลัยจะมีวิชาเลือก หรือวิชาโท ให้เลือกเรียน เพื่อเป็นการเสริมแบบลงลึก เมื่อทำงานจะได้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ หากเราได้เรียนรู้ ปฏิบัติ แม้จะเป็นเพียงบทเรียน ก็นับเป็นสิ่งที่ดี การหาความรู้ใส่ตัว ช่างสังเกตจะเป็นอีกหนึ่งบุคลิกที่ดีของนักวิเทศสัมพันธ์
“ในการทำงานจะต้องมีเรื่องระบบ ระเบียบเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ยิ่งเป็นหน่วยงานราชการ ก็จะเน้นเรื่องเอกสารเป็นหลัก สำหรับเดียร์เรียกว่าเป็นความท้าทายเรื่องหนึ่งค่ะ ส่วนมากเอกสารจะมากระชั้นชิด เราจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้หนังสือที่จะเสนอผู้ใหญ่เพื่ออนุมัติออกมาเรียบร้อยให้เร็วที่สุด หากช้าจะมีผลกระทบในหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการขอใช้สถานที่ การเบิกค่าใช้จ่าย และยังมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องพร้อมเผชิญอีกบ่อยครั้ง และทุกๆ ปัญหาด้วยความเป็นระบบราชการ คนทำงานจะไม่สามารถตัดสินใจได้ จะต้องให้ผู้ใหญ่อนุมัติเท่านั้น แต่ในส่วนของการลงมือให้ลุล่วงเป็นอย่างดีนั้น ก็ต้องอาศัยการสื่อสาร เหตุและผลที่จะชี้แจงผู้ที่มีอำนาจสั่งการ เพื่อทำให้งานนั้นๆ ออกมาดี งานของกระทรวงค่อนข้างเยอะค่ะ จะมี Event จัดต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทางผู้ใหญ่เขาทราบว่าเดียร์เรียนด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พอมีงานอะไรที่เกี่ยวกับสถานทูต หรือวันชาติของประเทศต่างๆ ท่านก็จะมอบหมายให้เดียร์เป็นตัวแทนของกระทรวงเพื่อดำเนินการประสานงานหรือบางทีก็ได้เป็นตัวแทนผู้ใหญ่ไปร่วมงานค่ะ แต่ละงานที่ได้รับมอบหมายก็มีความประทับใจแตกต่างกันไป ล่าสุดเดียร์ได้เข้าร่วมประสานงานและเป็นล่ามให้กับท่านปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในวาระที่เอกอัครราชทูตของประเทศเกาหลีเหนือเดินทางมาเยี่ยมเยียนที่กระทรวง ในมุมองของเราเกาหลีเหนือเป็นประเทศปิด เราอาจจะไม่มีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์ไม่ว่าด้านใดๆ กับประเทศนี้มากนัก เมื่อโอกาสนี้มาถึง เดียร์จึงได้หาข้อมูล หาความรู้ เพื่อพร้อมต้อนรับและสร้างความประทับใจดีๆ ให้พวกเขา เมื่อกลับไปจะได้นึกถึงประเทศไทยของเราค่ะ”
เมื่อเรียนในสิ่งทีสนใจ และยังได้ทำงานในสิ่งที่ชอบ อาจพูดไม่ได้เต็มปากว่าจะทำในอาชีพนี้ตลอดไปจนวันตาย แต่สิ่งที่กล้ายืนยันก็คือ เราสามารถตื่นเช้ามาและมีความสุขที่จะได้ไปทำงานที่เรารักทุกวัน และไม่ว่าเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรในการทำงาน เราก็มีไฟที่จะทำทุกๆ วันให้ออกมาดีที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *