ทปอ. เผย 5 ข้อต้องรู้ เพิ่มความมั่นใจในการสอบสัมภาษณ์ TCAS62

ทปอ. เผย 5 ข้อต้องรู้ เพ

น้องๆ หลายคนที่ยื่นสมัคร TCAS62 รอบแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) คงจะตั้งตารอการประกาศผลในวันที่ 28 มกราคม 2562 แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ยังมีเรื่องสำคัญที่น้องๆ ต้องโฟกัส นั่นคือ การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบสัมภาษณ์ เพราะจะเป็นสเตปต่อจากการประกาศผล ซึ่งถ้าหากน้องๆคนไหน ได้รับการคัดเลือกในรอบ Portfolio คงต้องเช็คลิสกันให้ดี จะได้มีโอกาสได้เรียนในสาขาที่น้องๆต้องการ ซึ่ง ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ) มีข้อต้องรู้มาบอกต่อ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวันสอบสัมภาษณ์ได้เลย

  • แจกความสดใส สร้างความประทับใจแรกตั้งแต่ปรากฏตัว

ช่วงเวลาสำคัญของการไปสอบสัมภาษณ์  คือ วินาทีแรกของการปรากฎตัวในห้องสอบสัมภาษณ์ ซึ่งหมายถึงบุคลิกภาพโดยรวม ทั้งการแต่งกายในชุดนักเรียนที่สุภาพเรียบร้อย สีหน้า แววตา ความยิ้มแย้มทักทาย ยกมือไหว้สวัสดี มีกิริยามารยาทอ่อนน้อม แต่ต้องสะท้อนความมั่นใจในตนเองให้น่าค้นหา ท่าทางการเดิน ไปจนถึงการนั่ง ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น เป็นเหมือนคะแนนจิตพิสัยที่น้องๆ จะได้ติดตัวตั้งแต่ยังไม่เริ่มบทสนทนา ดังนั้น ตอนนี้ยังมีเวลาไปซ้อมใหญ่กับหน้ากระจก สำรวจจุดบกพร่องของตนเอง และวิธีนี้ยังช่วยลดความเครียด ความกังวลใจต่างๆ  ให้สามารถรับมือกับสถานการณ์จริงได้อย่างคล่องแคล่ว

  • ต้องหอบแฟ้มตัวจริงไปด้วยหรือไม่

ความกังวลใจเกี่ยวกับการสอบสัมภาษณ์รอบ Portfolio ซึ่งเชื่อว่าหลายคนยังคงมีคำถามคาใจ ว่าในวันสอบสัมภาษณ์ จำเป็นต้องหอบแฟ้มตัวจริงไปด้วยหรือไม่ คำตอบในข้อนี้คือ ไม่จำเป็น เพราะก่อนที่น้องๆจะถูกเรียกให้ไปสอบสัมภาษณ์  แฟ้มที่เราได้ส่งไปตั้งแต่ช่วงรับสมัคร จะถูกนำมาเปิดดู พิจารณาอย่างรอบคอบ จนตัดสินใจได้แล้วว่าน้องๆ คนไหนที่มีความน่าสนใจ และน่าจะเหมาะกับการเรียนที่สาขานั้นๆ โดยสาระสำคัญของการเรียกสอบสัมภาษณ์ ก็คือ การพูดคุยให้รู้จักตัวตนของน้องๆมากขึ้น   แต่บางสาขาที่กำหนดให้นำเสนอผลงานตามโจทย์ ในวันสอบสัมภาษณ์ น้องๆอาจต้องทดสอบให้เห็นฝีมืออีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานนั้นเป็นของน้องๆ จริง เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นต้น

  • ตอบให้น่าสนใจ มั่นใจ และมีไหวพริบ

ชั้นเชิงที่จะช่วยสร้างความแตกต่าง และทำให้น้องๆมีโอกาสได้รับการคัดเลือกในการสอบสัมภาษณ์ คือ เทคนิคการตอบคำถาม และไหวพริบในการพูดคุย โดยเล่าจากความเข้าใจและไม่ต้องท่องจำ ตอบคำถามอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเทคนิคการตอบคำถามให้ดูสมาร์ท อยู่ที่การควบคุมสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า อย่าตื่นเต้น มีสติในการฟังคำถาม ช่วยให้เรียบเรียงคำตอบให้ออกมาสละสลวยมากขึ้น เริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ เช่น การให้แนะนำตัวเองสั้นๆ ซึ่งการสัมภาษณ์ในรอบ Portfolio จะเน้นการแสดงความสามารถ ดังนั้น การแนะนำตัวเองให้น่าสนใจ จะต้องทำให้เข้าใจสิ่งที่เรากำลังสนใจ สิ่งที่อยากเรียน อาชีพในฝัน และต้องสอดคล้องกับสาขาที่เราสมัครด้วย

  • รางวัลไม่มี แต่ผลงานเด่น ก็สามารถเข้าเส้นชัยได้เหมือนกัน

น้องๆบางคนอาจคิดว่าการสมัครรอบ Portfolio จะต้องเหมาะกับคนที่เหมารางวัลมาแล้วทุกเวทีเท่านั้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ความตั้งใจเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่สาขาต่างๆอยากเห็นความฝัน ความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งผลงานของน้องบางคนอาจทำให้คณะกรรมการเกิดความสนใจได้มากกว่าถ้วยรางวัลจากเวทีต่างๆ แต่ผลงานนั้นได้สะท้อนแรงบันดาลใจของน้องๆ ที่ต้องการจะมาเรียนในสาขานี้เพื่อนำความรู้ไปต่อยอด และสามารถสานฝัน เติมเต็มไอเดียของน้องๆให้สำเร็จได้ เท่านี้น้องๆก็มีโอกาสไม่ต่างกับคนที่ได้รางวัลจากการประกวดมามากมาย เข้าเส้นชันได้ไม่ยากเหมือนๆกัน

  • เตรียมคำถามที่อยากถามเพื่อสะท้อนไหวพริบของตัวเอง

ช่วงท้ายสำหรับสอบสัมภาษณ์มักจะมีคำถามที่ทำให้น้องๆหลายคนประหลาดใจ คือ การให้ถามกลับว่าน้องๆ มีคำถามอะไร ที่อยากถามหรือไม่ คำถามนี้ มักมีเพื่อวัดความสนใจของน้องๆที่มีต่อสาขาที่สมัคร โดยน้องๆ อาจถามไปกลับไปในสิ่งที่อยากรู้เกี่ยวกับสาขานั้นๆ ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ข้อมูลที่หาอ่านได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต เช่น บรรยากาศในการเรียน วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของรุ่นพี่รุ่นน้อง แนวทางการศึกษาต่อ หรือแนวทางการประกอบอาชีพ ว่าตรงกับสาขาที่อยากเรียนหรือไม่ แต่การถามต้องไม่ยาวจนเกินไป เอาให้กระชับแต่พองาม

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ส่วนประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-354-5150-2 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/cuptthailand