จุฬาฯ ส่งเสริม Soft Power ภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ ทั้งหมด 9 ภาษา

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิไทย จัดทำคลิปวีดิทัศน์ Communicative Thai for Foreigners จำนวน 9 ภาษา เผยแพร่ทาง Chula MOOC และ ในรูปของ E-book  ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ Soft Power ของไทยที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากชาวต่างชาติ จึงจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 22 เรื่อง Mastering Thai at Your Own Pace: Soft Power through Self-Directed Learning

สถานที่จัดงาน ศูนย์มนุษยศาสตร์ดิจิทัล ชั้นลอย อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ | ช่วงเวลา 13.30 – 15.30 น.

โดย ท่าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 22 เรื่อง “Mastering Thai at Your Own Pace: Soft Power through Self-Directed Learning” จัดโดยศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ว่า คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิไทย ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยในฐานะ Soft Power ใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในชาวต่างชาติ

ผ่านสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยภาษาต่างประเทศสำหรับชาวต่างชาติรวม 9 ภาษา โดยจัดทำคลิปวีดิทัศน์ Communicative Thai for Foreigners จำนวน 9 ภาษา เผยแพร่ทาง Chula MOOC และในรูปของ E-book ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ Soft Power ของไทยที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทยได้รับการเผยแพร่สู่ระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ ท่าน รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิด Soft Power เนื่องจากคนไทยใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ดังนั้น การที่คนต่างชาติมาอยู่ในไทย จะใช้เฉพาะภาษาอังกฤษในการสื่อสารเพียงอย่างเดียวก็อาจจะขาดอรรถรสในการเข้าใจประเทศไทย หากชาวต่างชาติได้เรียนรู้ภาษาไทยเบื้องต้น จะช่วยสร้างความเข้าใจ และขยายประสบการณ์ในการท่องเที่ยวในเมืองไทยได้มากขึ้น

“ความโดดเด่นของคลิปวีดิทัศน์ Communicative Thai for Foreigners คือการสอนจะไม่ได้ใช้เพียงแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่จะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาต่างประเทศที่พร้อมจะสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติด้วยภาษาที่หลากหลาย โดยคลิปวีดิทัศน์นี้ได้สอดแทรกมิติทางวัฒนธรรมไทยเข้าไปในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมไทย และคนไทยในเวลาเดียวกัน” รศ.ดร.สุรเดช กล่าว

ทางด้าน ท่าน ผศ.ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ มีพันธกิจในการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติในทุกรูปแบบ ทั้งในเรื่องการเปิดหลักสูตร และรายวิชาภาษาไทยที่สอนในจุฬาฯ และ หลักสูตรสำหรับบุคคลภายนอก คลิปวีดิทัศน์เป็นสื่อที่ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศที่เข้าถึงได้ง่าย ผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ กลุ่มเป้าหมายคือชาวต่างชาติที่สนใจเรียนภาษาไทย สามารถเรียนจากที่ไหน และเมื่อไรก็ได้ ช่วยให้ชาวต่างประเทศเข้าถึงการเรียนภาษาไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น

“คลิปวีดิทัศน์นี้ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการอ่าน หรือเขียนภาษาไทยโดยใช้ตัวอักษรไทย คลิปนี้ใช้สัทอักษร หรือ Phonetics ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นักภาษาศาสตร์ใช้ในการศึกษาภาษา นำปรับใช้ในการเรียนการสอนภาษา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจการออกเสียงคำ และประโยคต่างๆ เนื้อหาของคลิปวีดิทัศน์จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารระดับเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน เช่น การสั่งอาหาร ซื้อของ การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ การพูดแนะนำตัว พูดถึงครอบครัว และเรื่องทั่วไป ประกอบด้วยคลิปวีดิทัศน์ 9 ภาษา ได้แก่ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน คลิปวีดิทัศน์นี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนนิสิตในรายวิชา Basic Thai for Communication และ Basic Thai for Foreigners จากการใช้คลิปสอนนิสิต ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับจากนิสิตอย่างดี” ผศ.ดร.เกียรติ กล่าว

อีกด้านนึง คุณ ธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาษาไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ เนื่องจากมีแรงงานและนักธุรกิจต่างชาติมาประกอบอาชีพและประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางการให้บริการในหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษาและการแพทย์ รวมถึงสื่อบันเทิงจากประเทศไทยก็ได้รับความนิยมในต่างประเทศเช่นกัน ทั้งในรูปของภาพยนตร์ ละครชุด (Series) และแม้แต่เพลงผ่านอินเทอร์เน็ตก็เข้าถึงผู้คนทั่วโลกที่ต้องการรู้ภาษาไทยเพื่อการรับชมรับฟังอย่างมีอรรถรสมากขึ้น

มูลนิธิไทยซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศที่ทำงานด้านการทูตภาคประชาชน หรือการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อเผยแพร่การใช้ภาษาไทยรองรับความต้องการของชางต่างประเทศ มูลนิธิไทยจึงได้หาพันธมิตรเพื่อสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยภาษาต่างประเทศให้ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกให้มากที่สุด โดยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยภาษาต่างประเทศเผยแพร่ในรูปของ E-book ให้ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิไทย ทั้งนี้มูลนิธิไทยยังร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยภาษาอาหรับ ภาษาฮินดี ภาษาอินโดนีเซีย และภาษาตุรกีอีกด้วย

 

ผู้สนใจสามารถรับชมงานเสวนาวิชาการ Chula The Impact ครั้งที่ 22Mastering Thai at Your Own Pace: Soft Power through Self-Directed Learning

ย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity/videos

 

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ จุฬาฯ

โทร : 0861779955 (คุณสุรเดช พันธุ์ลี)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *