สรุปนโยบายการศึกษาจาก 6 พรรคการเมือง จากเวทีดีเบตหลุมดำการศึกษาไทย

Eduzones จะพามาดูการดีเบตนโยบายการศึกษาจาก 6 พรรคการเมือง ในรายการเลือกตั้ง 66 ฟังเสียงคนไทย จากช่อง PPTVHD36 เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะมาถึง

ดีเบตกันในหัวข้อ “หลุมดำการศึกษาไทย” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในวงจรที่เรียกว่า “หลุมดำ” สะท้อนปัญหาให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีแนวคิดอย่างไร เจาะลึกนโยบายการศึกษาจากผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา ในช่วงแรกเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคกล่าวถึงนโยบายของความสำคัญกับระบบการศึกษา

 

พรรคประชาธิปัตย์

เริ่มต้นจาก ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมนโยบายการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้คำมั่นสัญญา จะมุ่งมั่นสร้างเด็กไทยไม่ให้แพ้ชาติใดในโลก และย้ำว่าจะเลิกการปฏิรูปถึงเวลาในปฏิบัติ จะส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วม

นโยบายหลักเรื่องการศึกษาของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่

  1. ยุทธศาสตร์สร้างเงินสร้างคนสร้างชาติ คนไทยเข้าถึงมหาวิทยาลัยได้เพียง 1 ใน 3 สนับสนุนให้เรียนฟรีไม่มีค่าหน่วยกิต ภายใน 1 ปีแรกในสาขาที่ตลาดต้องการ
  2. เพิ่มค่ากินอยู่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท
  3. จูงใจให้เอกชนจ้างนักศึกษา 1 ล้านอัตราในค่าจ้างนักศึกษามาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อให้มีแรงงานออกสู่ตลาด
  4. นโยบาย “ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน” ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
  5. สนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1 ล้านจุดทั่วประเทศ
  6. สร้างสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ปลอดภัย ทั้งปัญหาฝุ่น PM2.5 และปัญหาน้ำท่วม

 

พรรคเพื่อไทย

ด้านพรรคเพื่อไทย โดย ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่วนช่วยให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

นโยบายหลักเรื่องการศึกษาของพรรคเพื่อไทย ได้แก่

  1. แก้ปัญหาเรื่องปากท้อง เปลี่ยนการศึกษาให้สร้างรายได้ใหม่ มีแพลตฟอร์มเชื่อมการเรียนเพื่อสร้างรายได้ให้สูงขึ้น และเติมเงินให้ครอบครัวละ 20,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอเลตภายใน 4 กิโลเมตร นำไปใช้ในแพลตฟอร์มในการเรียนรู้ได้ฟรีตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป มี big data จับคู่ทักษะของแต่ละคนให้เข้ากับงาน
  2. ช่วยครูเรื่องอุปกรณ์ one tablet per teacher สร้างบทเรียนที่กระตุ้นการเรียนรู้ ใช้แอปพลิเคชันช่วยการสอน มีระบบร่นระยะเวลาบูรณาการให้ครูเหลือภาระงานให้น้อยที่สุด ให้กลับไปสู่ห้องเรียนให้ได้มากที่สุด นำครูที่เกินอัตราให้โรงเรียนใหญ่ส่งผ่านไปทางโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ขาดแคลนผ่าน tablet

 

พรรครวมไทยสร้างชาติ

ขณะที่รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง กล่าวยอมรับความเก่งของทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมทีมกันพัฒนาการศึกษาไทย เรื่องการศึกษาไม่จำเป็นต้องมีพระเอกคนเดียว

นโยบายหลักเรื่องการศึกษาของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้แก่

  1. ภาครัฐและเอกชนต่างคนต่างทำกันมาตลอด ควรร่วมมือกันทำร่วมทีมกันพัฒนาการศึกษาไทย ต้องทำทั้งระบบเพื่อช่วยเหลือผู้เรียน
  2. ช่วยครอบครัวผู้เรียนให้เข้มแข็งจากนโยบายเศรษฐกิจฐานล่าง แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง จัดให้มีทุนการศึกษาประจำอำเภอ ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ แนะแนวการศึกษาให้ตอบโจทย์การพัฒนาสังคม

 

พรรคภูมิใจไทย

มาถึงด้านพรรคภูมิใจไทย โดย ดร.กมล รอดคล้าย ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย ตั้งมั่นจะทำสะพานข้ามหลุมดำการศึกษา คือการใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทำให้คนเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา

นโยบายหลักเรื่องการศึกษาของพรรคภูมิใจไทย ได้แก่

  1. การเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์สร้างคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างให้เป็น virtual school หรือ online school ควบคู่กับโรงเรียนปกติ กล่าวว่าไม่สามารถสร้างโรงเรียนเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดให้ดีเท่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาหรือโรงเรียนจุฬาภรณ์ได้ สิ่งที่ทำได้คือการเติมระบบออนไลน์เข้าไปที่ครูมีความพร้อมจะทำเรื่องเหล่านี้ ครูอัปโหลดสิ่งที่มีให้นักเรียนเลือกใช้
  2. สามารถเรียนฟรีถึงปริญญาตรีเพราะการเรียนออนไลน์มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่ง
  3. มีระบบธนาคารหน่วยกิต และสถาบันพัฒนาสื่อการเรียนรู้แห่งชาติ
  4. สร้างครูหมู่บ้าน 80,000 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 10 คน 800,000 คนเป็นอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเข้ามาช่วยดูแลคนยากคนจนและมีปัญหาที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ
  5. สร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น การศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ จัดให้มีการสอนอาชีพโดยเฉพาะด้านธุรกิจดิจิทัลทั้งในมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษา 2 ล้านคน และประชาชนประมาณ 7 ล้านคน สร้างฐานอาชีพใหม่เกิดขึ้น
  6. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา แก้ให้กลายเป็นเงินยืม ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่คิดดอกเบี้ย และไม่มีค่าปรับ สามารถยืมไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นได้ ตอบสนองโรงเรียนนอกระบบที่เป็นโรงเรียนเอกชนให้มีรายได้เพิ่ม หลักสูตร Reskill/Upskill ของสถาบันอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม

 

พรรคพลังประชารัฐ

ต่อกันที่พรรคพลังประชารัฐ นางวลัยพร รัตนเศรษฐ คณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงสวัสดิการการศึกษาประชารัฐ ที่จะทำให้เข้าถึงเงินทุนอุดหนุนและสามารถติดตามความก้าวหน้า จะไม่มีเด็กที่หลุดออกนอกระบบ ทั้งที่เรียนการศึกษาในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย หรือโฮมสคูล จะต้องอยู่ในระบบทั้งหมด

นโยบายหลักเรื่องการศึกษาของพรรคพลังประชารัฐได้แก่

  1. พลิกโฉมการศึกษาในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย
  2. พลิกโฉมสถาบันทางการศึกษา มีโรงเรียนที่ดี ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนสามภาษา โรงเรียนอินเตอร์ประจำจังหวัด ศูนย์บ่มเพาะอัจฉริยะของเด็ก
  3. พลิกโฉมระบบสวัสดิการการศึกษาของนักเรียนทั้งหมด มีบัตรสวัสดิการ โดยเฉพาะคนที่ยากจนข้ามรุ่น ดูแลจนถึงครอบครัวของเด็ก สวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้สูงอายุตามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ จัดให้มีระบบข้อมูลส่วนกลางเพื่อไม่ให้มีข้อมูลตกหล่น
  4. พลิกโฉมครู ลดภาระครูในงานธุรการ มีการ Reskill/Upskill ให้กับครู มีทุนให้ครูได้ไปต่างประเทศ 10,000 ทุน และเด็ก work and travel 10,000 ทุน
  5. พลิกโฉมสถาบันอาชีวศึกษา มีโรงงานอยู่โรงเรียนอาชีวศึกษาให้ได้มีโอกาสทำงานในโรงงานของบริษัทต่าง ๆ ถึงในต่างประเทศ และมีงานทำกับบริษัทได้

 

พรรคก้าวไกล

มาถึงพรรคสุดท้าย พรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาการศึกษาที่ผ่านมาว่าขาดประสิทธิภาพ เด็กไทยเรียนหนักแต่หลักสูตรไม่มีประสิทธิภาพที่จะแปรความขยันเรียนเป็นทักษะที่แข่งขันกับนานาชาติได้ ไม่สามารถแปรงบประมาณออกเป็นการวางหลักการสิทธิในการเรียนฟรีได้ ต้องมีการเพิ่มความเห็นอกเห็นใจเปลี่ยนการศึกษาจากแบบอำนาจนิยมที่มองว่าเด็กที่ดีควรเป็นอย่างไร เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้มีเสรีภาพทางการเรียนรู้ เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ โอบรับความหลากหลายของผู้เรียน

นโยบายหลักเรื่องการศึกษาของพรรคก้าวไกล ได้แก่

  1. โรงเรียนเป็นที่ปลอดภัยไร้อำนาจนิยมภายใน 2 ปี กฎระเบียบของโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ยกเลิกกฎระเบียบเรื่องทรงผม ยกเลิกกฎระเบียบที่เปิดช่องให้มีการลงโทษหรือใช้ความรุนแรงกับผู้เรียน พักใบประกอบวิชาชีพบุคคลากรที่มีส่วนละเมิดสิทธิมนุษยชนนักเรียนแทนการย้ายไปโรงเรียนอื่น
  2. คืนครูให้กับนักเรียนภายใน 100 วัน ยกเลิกกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น การนอนเวร งานธุรการ จัดจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการมาทำหน้าที่แทน ยกเลิกพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน
  3. แก้งบประมาณ แก้ไขหลักสูตรภายใน 1 ปี ลดวิชาบังคับ เพิ่มวิชาทางเลือก โครงการคูปองเปิดโลก 1,000 – 1,200 บาทต่อปี ใช้ในการเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา ใช้งบประมาณ 11,000 ล้านบาทจากการยกเลิกการเกณฑ์ทหารภายใน 1 ปี คืนเสรีภาพและการประกอบอาชีพให้กับประชาชน

 

“วงจรหลุมดำ” ประเด็นคำถามจากผู้ที่อยู่ในวงจรหลุมดำ

ในช่วงที่สองเปิดคำถามแรกจาก ‘ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ’ เครือข่ายบ้านเรียน “จะทำอย่างไรให้หน่วยงานที่เป็นโครงสร้างของภาครัฐ ทำงานเพื่อรองรับการจัดการศึกษาที่หลากหลายและตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งมีความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจนและเต็มที่ ไม่ติดที่ศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบันที่ยังไม่พร้อมในการดำเนินการ”

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล

การแก้ไขจากพรรคก้าวไกล เพิ่มความหลากหลายของระบบการศึกษา 3 มิติ

  1. ความหลากหลายของระบบการเรียนการสอนในระดับโรงเรียน ออกแบบหลักสูตรใหม่ ลดวิชาบังคับ เพิ่มวิชาทางเลือก เพิ่มแรงจูงใจให้ครูสนใจเด็กทุกคนในห้องเรียน ปรับค่านิยมให้มองว่าเด็กมีความเก่งหลากหลายประเภท
  2. ความหลากหลายระหว่างสถานศึกษา กระจายอำนาจให้แต่ละโรงเรียนมีอำนาจในการออกแบบหลักสูตรที่เหมาะกับบริบทในพื้นที่ มีอำนาจในการตัดสินใจใช้งบประมาณ มีส่วนร่วมในการคัดเลือกบุคลากร
  3. ส่งเสริมความหลากหลายรูปแบบการศึกษา ส่งเสริมการเรียนนอกระบบโรงเรียน ตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกการศึกษาทางเลือก อำนวยความสะดวกให้แก่ บ้านเรียน ศูนย์การเรียน การต่อ/จดทะเบียน การประเมิน สิทธิสวัสดิการ การเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบในระดับอุดมศึกษา

 

นางวลัยพร รัตนเศรษฐ คณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ

เน้นนโยบายออกแบบบนความหลากหลายและแตกต่างในพหุวัฒนธรรม และเด็กทุกคนเป็นพหุปัญญา มีทักษะ ความถนัด ความสนใจต่างกัน การเรียนและการประเมินจะเป็นแบบเดียวกันไม่ได้ ผู้เรียนจะมีตัวตนของตัวเอง รัฐต้องมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เด็กมีพลังสร้างสรรค์ สติปัญญา ความสามารถพิเศษ ออกแบบเป็นบุคคล โดยจะประเมินเข้าสู่สิ่งชอบสนใจและมีความถนัด จะมีอาชีพเหล่านี้ในเป้าหมายของเขาหรือไม่

ความถนัด ความสนใจ รัฐมีหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกมีศูนย์ที่จะรองรับในระดับจังหวัดสำหรับเด็กที่มีความพิเศษต่าง ๆ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ

 

ดร.กมล รอดคล้าย ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย

เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ เสนอทิศทางใหม่ของการจัดการศึกษา 3 รูปแบบ การศึกษาตามวุฒิเพื่ออาชีพและการมีงานทำ การศึกษาตลอดชีวิต หรือการศึกษาในรูปแบบอื่นที่จะทำให้เกิดความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผ่านออนไลน์ การศึกษาจากต่างประเทศ จากเอกชนและภาคธุรกิจ โดยใช้ id plan สำหรับเด็กที่มีลักษณะพิเศษแต่ละคน มีงบประมาณที่จัดการศึกษาขั้นต่ำให้เท่ากันทุกคน แต่สำหรับเด็กที่มีความพิการ และมีความสามารถพิเศษจะต้องมีกระบวนการที่เพิ่มงบประมาณให้กับเด็กเหล่านี้ และเปิดโอกาสการจัดการเรียนการสอน การเทียบโอนหน่วยกิต ระบบธนาคารหน่วยกิต

 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมนโยบายการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์

สิ่งที่จะไม่ทำคือการเติมระบบราชการหรือศูนย์การเรียนรู้ทำให้เกิดเงื่อนไขมากยิ่งขึ้น สิ่งเดิมที่มีอยู่ได้รับการบริหารที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ประสบการณ์ ทำให้เกิดความยืดหยุ่น โฮมสคูลสามารถเทียบได้ในทุกระดับชั้น สนับสนุนบ้านเรียนเรื่องของการฝึกทักษะ การดูแลในแต่ละช่วงวัย เสนอ Education Token ที่จะสามารถใช้เข้าสู่ระบบการเรียนรู้ทั้งภายในและต่างประเทศเสริมให้สามรถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับวัย

 

ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย

เปลี่ยนจากการศึกษาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำนโยบาย One Tablet Per Child กลับมา ให้โอกาสเด็กเล็กจนถึงเด็กโตยังสามารถกลับไปเรียนได้ สร้างแพลตฟอร์ม Learn to Earn ทักษะทั่วโลกมีหลากหลายและเปลี่ยนไปทุกวัน ไม่ควรปิดกรอบอยู่แต่ในระบบโรงเรียน ต้องนำเทคโนโลยี เครื่องมือต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและฟรี ให้เด็กและครู เรียนและสอนจากที่ไหนก็ได้

 

รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

ยอมรับความเก่งซึ่งกันและกัน สิ่งที่สำคัญคือกฎระเบียบที่มีมากมาย มุ่งให้ระเบียบและระเบียบที่ส่งเสริมสนับสนุน ไม่ใช่ระเบียบที่ควบคุม ไม่ได้สร้างโรงเรียนเพื่อโรงเรียนแต่สร้างโรงเรียนเพื่อเด็กนักเรียน

 

คำถามต่อมาเป็นนโยบายด้านการสนับสนุนความสามารถพิเศษ “เด็กที่มีสามารถทำไมถึงต้องไปถูกพลักดันในต่างประเทศ จากกรณีของน้องเฟียน เด็กพิเศษที่มีความสามารถด้านการเล่นเปียโนที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ แต่มีปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมนโยบายการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์

ค้นหาบุคคลที่มีความสามารถพิเศษให้เร็ว การสอนด้านดนตรีกระจุกตัวในมหาวิทยาลัยชั้นนำและโรงเรียนเอกชนราคาแพง ต้องมีการกระจายอำนาจและทรัพยากรไปจนถึงระดับชุมชน ตำบล อำเภอ สนับสนุนเข้าถึงได้ในมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคที่มีคณะเหล่านี้อยู่แล้ว

 

ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย

ทำหน้าที่เป็นแมวมอง one family one soft power ลงไปโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูจะมองเห็นความสามารถเด็กแต่ละคน นำความสามารถไปเจียรนัย ตั้งศูนย์ต่อยอดพรสวรรค์ความสามารถพิเศษ การเรียนในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัยและประสบการณ์ สร้างธนาคารหน่วยกิต ผลสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดกรอบและเชื่อมเข้าหากัน ให้เป็นการเทียบโอนด้วยประสบการณ์ ทดสอบตามแนววิธีการของแต่ละความสามารถโดยไม่ต้องสอบ

 

รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

สนับสนุนและส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ อย่างเต็มที่

 

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล

มีปัญหาด้านระบบการศึกษาและปัญหาด้านระบบราชการซ้อนทับกันอยู่ หลักสูตรการศึกษาที่ลดการศึกษาวิชาบังคับและส่งเสริมวิชาเลือกส่งเสริมเสรีภาคในการเรียนรู้สำหรับระบบการศึกษามากขึ้น ตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกการศึกษาทางเลือก แยกจากสพฐ. ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับวุฒิการศึกษาเพียงอย่างเดียว เป็นการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะและต่อยอดความชอบ แจกคูปองเปิดโลก 1,000-2,000 บาทต่อปี ในการศึกษานอกห้องเรียน สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

นางวลัยพร รัตนเศรษฐ คณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ

การตั้งศูนย์ผู้มีความสามารถและตั้งแพลตฟอร์มระดับชาติให้กับผู้ที่มีความสามารถพิเศษแต่ต้องการการดูแลมาอบรมร่วมกันสร้างให้มีความเก่งยิ่งขึ้นไป ตั้งกองทุนเพื่อความสามารถพิเศษ แก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่ได้ส่งเสริมและสนับสนุน

 

ดร.กมล รอดคล้าย ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย

การเรียนผ่านกศน. ที่มีทั้งนักกีฬา ดนตรี เป็นทางเลือกที่ใช้เวลาน้อย การเรียนออนไลน์ การเทียบหน่วยการเรียน ธนาคารหน่วยกิต ตั้งระบบการวัดแววเด็กทุกระบบที่เกี่ยวของกับความสามารถของเด็ก โรงเรียนที่มีการดูแลแบบพหุปัญญา ระบบพี่เลี้ยงหรือโค้ชที่เป็นคนดูแลโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

 

ดีเบตนโยบายประชันวิสัยทัศน์ พรรค ต่อ พรรค

ช่วงที่สาม ดีเบตนโยบายของแต่ละพรรค เริ่มต้นคู่แรกด้วย ‘ก้าวไกล’ และ ‘ประชาธิปัตย์’ เสนอปัญหาจาก ‘นายการุณ ชาญวิชานนท์’ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโกรกลึก จ.นครราชสีมา ชี้ถึงปัญหาห้องเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ว่าไม่สามารถให้เด็กแสดงตัวตนออกมา จะสร้างบรรยายอย่างไรให้เด็กได้แสดงตัวตนออกมา ครูมีความสุขที่จะเฟ้นหาเด็กเหล่านี้

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแก้ปัญหาที่ทับซ้อน 5 มาตรการ

  1. จัดสรรทรัพยากรในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพิ่มงบประมาณ 33,000 ล้านบาท 4,000 ล้านบาทไปที่กสศ. 29,000 ล้านบาท เพิ่มงบประมาณรายหัวในส่วนค่าอาหารฟรี เรียนฟรี มีรถรับส่ง ให้กับเด็กทุกคนกระจายงบให้กับโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ปรับสูตรคำนวณไม่ได้พึ่งแค่จำนวนนักเรียนเป็นหลัก
  2. ออกแบบหลักสูตรทางการศึกษาหลักสูตรที่เน้นทักษะสมรรถนะที่สามารถไปใช้ได้จริง ปรับเป้าหมายการสอนในบางวิชา เช่น ภาษาอังกฤษ ไม่เน้นที่ไวยากรณ์อย่างเดียวเน้นการสื่อสารมากขึ้น ลดจำนวนชั่วโมงเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 800 – 1,000 ชั่วโมงต่อปี เพื่อให้ได้มีเวลาทำกิจกรรมนอกห้องเรียนและพักผ่อนมากขึ้น
  3. คืนครูให้ห้องเรียนเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับผู้เรียน ยกเลิกกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น การนอนเวร งานเอกสาร งานธุรการ การประเมิน
  4. ทำให้ห้องเรียน โรงเรียนปลอดภัย ไม่มีการใช้อำนาจนิยม ถ้าพบบุคลากรการศึกษาที่ละเมิดสิทธินักเรียน ต้องมีการพักใบประกอบวิชาชีพ การออกระเบียบต้องให้ไม่มีกฎระเบียบของโรงเรียนไหนขัดต่อหลักสิทธิมนุษย์ชน
  5. กระจายอำนาจทางการศึกษา นอกจากโรงเรียนมีการกระจายให้กับผู้เรียนโดยตรงด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาต้องมีตัวแทนจากนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งสภาให้เยาชนให้นักเรียนเลือกผู้แทนไปเป็นตัวแทนในสภาเยาวชนแล้วเสนอกฎหมายไปที่สภาผู้แทนราษฎรได้ด้วย

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมนโยบายการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์

  1. ต้องให้อิสระของโรงเรียนและท้องถิ่น กับการจัดการศึกษา งบประมาณและทรัพยากรด้วยตัวเอง ในระดับประเทศไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเท่าครูในพื้นที่ ครูมีส่วนในการจัดสรรและพัฒนาทรัพยากรได้ด้วยตนเองไม่ต้องยึดโยงกับส่วนกลาง การกระจายอำนาจเข้าสู่พื้นที่ ครูและนักเรียนจะเป็นผู้กำหนดอนาคตด้านการศึกษาของแต่ละพื้นที่
  2. อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุดทั่วประเทศเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมในการใช้สืบค้นหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ

คู่ที่ 2 ‘รวมไทยสร้างชาติ’ และ ‘ภูมิใจไทย’ ร่วมถกปัญหา “ระบบการศึกษามุ่งเน้นไปที่สายวิทย์-คณิต การเรียนไม่ตอบโจทย์ ไม่มีสิ่งที่ตัวเองชอบในระบบการศึกษา ความยากจนทำให้เกิดปัญหาเรียนไม่จบต้องออกไปหางานทำเพื่อส่งตัวเองเรียนเป็นปัญหาซ้ำซากจนเป็นวงจรอุบาทว์ ความจนข้ามรุ่น” จาก ‘ทวินันท์ หงษ์ลอยลม’ ตัวแทนเด็กนักเรียน ที่เล่าถึงชีวิตของตนเองในชุมชนแออัดคลองเตย

รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยตอนนี้ต้องการนักปฏิบัติ นักคิดเรามีอยู่เยอะแล้ว วงจรอุบาทว์ต้องแก้ไขทั้งวงจร พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถทำมาหากินในพื้นที่ได้ ในเรื่องของการศึกษาสนับสนุนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ในเรื่องของทุนการศึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติเราสนับสนุนส่งเสริม ทุกความฝัน ความเชี่ยวชาญ ความมุ่งมั่นส่งเสริมอย่างเต็มที่

ดร.กมล รอดคล้าย ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย

  1. ด้านอาชีพการมีงานทำ ปัญหาที่เด็กกลับเข้าสู่ระบบไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่อยากเรียน หรือปัญหาเรื่องความเฉลียวฉลาด แต่เป็นปัญหาเรื่องไม่มีเงินที่จะเรียน ต้องให้อาชีพก่อนเด็กจะกลับมาเรียนได้ มีระบบคู่ขนานเรียนทั้งในสายสามัญและสายอาชีพ ต้องหาจุดเน้นให้ได้ว่าผลิตคนกลุ่มไหนออกมาสู่สังคม มีนโยบายว่าเราจะสร้างนักธุรกิจดิจิทัลอย่างน้อย 10 สาขา ไม่สามารถเรียนในระบบสายเดียวได้ ต้องมีการเรียนควบคู่กัน
  2. ให้สามารถพักการเรียนในบางช่วงได้ เก็บเป็นธนาคารหน่วยกิตไว้ เมื่อพร้อมก็สามารถกลับมาเรียนต่อในกศน. สถาบันอาชีวศึกษา หรือในระดับอุดมศึกษา ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ มีทางเลือกทางรอดให้กับคนในสังคม

มาถึงคู่สุดท้าย ‘เพื่อไทย’ และ ‘พลังประชารัฐ’ ‘นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ’ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก ชี้ให้เห็นถึงปัญหาศูนย์การเรียนรู้ ที่จัดการศึกษาโดยเอกชน มูลนิธิสมาคม ครอบครัวชุมชน กระทรวงศึกษาไม่ได้มีข้อมูลของผู้เรียนเหล่านี้ จะจัดการกับปัญหาฐานข้อมูลผู้เรียนอย่างไรไม่ให้มีข้อมูลตกหล่นและมีความเสมอภาค

ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย

ผลักดันพระราชบัญญัติเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งประกอบไปด้วยระบบ Learn to Earn ทำหน้าที่ 4 อย่าง

  1. เก็บข้อมูลของประชาชนของคนไทย มีการวัดแววว่าแต่ละคนมีความถนัดในเรื่องใด มีการแบบทำแบบทดสอบจับคู่กับทักษะ
  2. ทำแพลตฟอร์มเชื่อมโยงกับหลักสูตรในมหาวิทยาลัยทั้งหมด ทุกกระทรวงมีการเปิดหลักสูตรที่จัดการศึกษา แต่ว่าไม่มีการนำมารวมกัน คือที่มาของการที่ต้องเกิดธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ไม่ได้เชื่อมเฉพาะระดับอุดมศึกษาแต่ต้องเชื่อมตั้งแต่อุดมศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา กลุ่มโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย
  3. รัฐบาลมีหน้าที่ในการที่จะต้องจับคู่งานให้กับประชาชน Learn to Earn เมื่อเรียนไปแล้วต้องสามารถได้รายได้
  4. ดิจิทัลไอดีในระยะ 4 กิโลเมตรที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ในอนาคตจะถูกเชื่อมเข้าไปเป็นคูปองในการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้

นางวลัยพร รัตนเศรษฐ คณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ

จากที่มีระบบสวัสดิการแห่งรัฐดังนั้นจะมีระบบข้อมูลเพื่อไม่ให้ใครตกหล่น ต้องเป็นของวาระแห่งชาติ สร้างเป็น national platforms เช่นเดียวกันในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของเด็กทั้งหมด ประเทศไทยมีข้อมูลมากแต่ไม่เคยเอามารวมเป็นข้อมูลชุดเดียวกันเป็น single data เพื่อที่เราจะได้วางแผนในการแก้ไขเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น national platforms รวมถึงระบบธนาคารหน่วยกิต เก็บเป็นข้อมูลการเรียนแล้วมาเทียบโอนได้ตามความสามารถ ปัญหาความยากจน ต้องแก้ปัญหาไปพร้อมกับเศรษฐกิจแก้ปัญหาไปพร้อมกับเรื่องของระบบข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อให้เข้าถึงการดูแลให้ได้

จากภาพรวมนโยบายการศึกษาของตัวแทนจากทั้ง 6 พรรค ที่ Eduzones สรุปมานี้ หวังว่าจะเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจ สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำนโยบายเหล่านี้พัฒนาการศึกษาไทยให้หลุดพ้นจาก “หลุมดำการศึกษา” ได้สักที

 

ชมคลิปย้อนหลังการดีเบตแบบเต็มได้ที่นี่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก PPTVHD36

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *