“น่าน เบฟเวอเรจ เฟสติวัล” ชิงถ้วยพระราชทาน ปิดฉากประทับใจ ศิษย์มทร.กรุงเทพ คว้าชนะเลิศ Barista

วันที่ 5 มีนาคม 2566 เวลา 18.30 น.นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมคณะเข้าร่วมในพิธีปิดการแข่งขัน “น่าน เบฟเวอเรจ เฟสติวัล” เทศกาลเครื่องดื่มระดับประเทศ พร้อมมอบถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แก่ผู้ชนะรางวัลในประเภทต่าง ๆ ณ ลานป่าเป๋ย จังหวัดน่าน โดยมีผลการแข่งขัน “น่าน เบฟเวอเรจ เฟสติวัล”  ดังนี้

ประเภทพนักงานให้บริการกาแฟ (Barista)

รางวัลชนะเลิศ นางสาวกัญญาพัชญ์ จิรพัทธ์ปรสิน สังกัด River Roasters

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายอิสระ ภูสมจิตร สังกัด Nana  Coffee Roasters

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นางสาวสุปรียา ก้างออนตา สังกัดกระทรวงการคั่ว

รางวัลพิเศษ Nan Best Signature Drink นางสาวกัญญาพัชญ์ จิรพัทธ์ปรสิน สังกัด River Roaster

ประเภทพนักงานผสมเครื่องดื่ม (bartender)

รางวัลชนะเลิศ นายก่อเกื้อ ดีวัฒนกุล

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายกำชัย อุทัยแจ่มศรีผล

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายปุณณวิช โพธิ

รางวัล Rising Star by Senorita นายธีรกานต์ เพชรเอม

รางวัลชมเชย นายภูริภัทร บัวพันธ์ และนายณรงค์รัตน์ แต้มสี

ประเภทพนักงานผสมเครื่องดื่ม (bartender) ระดับอุดมศึกษา

รางวัลชนะเลิศ นายวรพล จงเสริมกลาง

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  นายสกลพศิษฏ์ ศรีเพ็ชวงศ์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายสถาพร จั่นจำรัส

รองศาสตราจารย์ ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า งาน “น่าน เบฟเวอเรจ เฟสติวัล”  เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งมทร.กรุงเทพมีนโยบายสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นนักปฏิบัติจากประสบการณ์จริงอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้เรียนรู้ทุกแง่มุมทั้งภาคทฤษฎีและการนำมาปฏิบัติ และสอดคล้องกับนโยบายที่มอบไว้ก็คือ มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาศาสตร์ด้านนี้ให้เป็นซอฟท์พาวเวอร์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศชาติได้ เราจะไม่สร้างแมสโปรดักส์ คือการผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ เพื่อหวังจะใช้เป็นข้อได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ต่ำ แต่ก็ต้องเอาไปขายในราคาถูก มันไม่คุ้มค่า ดังนั้นต่อไปเราจะสร้างพรีเมียมโปรดักส์ คือมีสินค้าน้อยแต่มูลค่าสูงมาก ประมาณว่าทำ 20 แต่เอาไปขายได้ 80

“แนวทางนี้ตนเห็นว่าจะเหมาะสมกับการเรียนการสอนของคณะศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ โดยเฉพาะสาขาด้านงานบริการซึ่งเราสร้างชื่อเสียงในระดับชาติและนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับ หากเราพัฒนาต่อไปทั้งในเรื่องของเครื่องดื่มที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ๆ ผสมผสานกับลีลาของผู้ให้บริการที่แตกต่างและโดดเด่น ก็จะออกมาเป็นสินค้าพรีเมียมที่ทุกคนต้องการและมูลค่าจะสูงขึ้นมาในทันที และยืนยันว่าสาขาอาชีพนี้ยังมีอนาคตที่สดใส สามารถขยายไปสู่ธุรกิจในแง่มุมอื่น ๆ ได้อีกมากมาย หากน้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเรียนศาสตร์ด้านนี้ที่มทร.กรุงเทพก็สมัครเข้ามาได้เลย เราจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพ สร้างคนที่เป็นซอฟท์พาวเวอร์ เป็นต้นแบบของสังคมได้อย่างแน่นอน

สอดคล้องกับความเห็นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยศักดิ์ คล้ายแดง รองอธิการบดีมทร.กรุงเทพ ได้กล่าวว่า ธรรมชาติของมนุษย์ต้องกินต้องดื่มทุกวัน โดยเฉพาะเครื่องดื่มจะเป็นสินค้าที่มีต้นทุนน้อย อุปกรณ์การผลิตก็น้อยชิ้น แต่ทำกำไรได้สูงมาก ยิ่งถ้าหากใครได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบจากผู้ที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ ก็จะทำให้บุคคลผู้นั้นพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ประสบความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น

“คณะศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ มีประสบการณ์ยาวนานในศาสตร์ด้านนี้ จุดเด่นของการเรียนการสอนคือเราเน้นให้นักศึกษาได้ออกสนามฝึกประสบการณ์จริง ได้แก้ปัญหาจริง จึงสามารถนำข้อมูลทุกอย่างมาพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยตามความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างในปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย เรื่องของสินค้า หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ เราจึงทำวิจัยและผลิตออกมาเพื่อสนองตอบต่อตลาดกลุ่มนี้”

รองอธิการบดีมทร.กรุงเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับงาน “น่าน เบฟเวอเรจ เฟสติวัล”  ซึ่งมทร.กรุงเทพได้มาร่วมจัดงาน โดยภายในงานจะมีการออกร้านจากกลุ่มเกษตกร ภาครัฐและภาคเอกชนและผู้ประกอบการ มากกว่า 50 บูธ มีการแข่งขันบาริสต้า และบาร์เทนเดอร์ ในระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ทั้ง การแข่งขัน Drip Battle กิจกรรม Workshop ด้านกาแฟและเครื่องดื่ม โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะระดับประเทศ ซึ่งงานนี้เราส่งคณาจารย์ บุคลากร รวมทั้งนักศึกษาเข้ามาร่วมกิจกรรมเต็มที่ ทั้งการจัดการและร่วมแข่งขันบนเวที ตรงนี้สิ่งที่เราได้นอกจากได้ใช้องค์ความรู้มาจัดการในงานแล้ว เรายังได้ประสบการณ์ตรง ได้รู้ปัญหา การแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน การทำงานร่วมกับผู้อื่น และอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวได้ ประสบการณ์ที่ล้ำค่าต่าง ๆ เหล่านี้จะสร้างให้นักศึกษามีความพร้อมทุกด้าน และสามารถออกไปทำงานแบบมืออาชีพได้ทันที

นอกจากนี้ อาจารย์ศิริมา  ศีลพัฒน์  คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำบุคลากรและนักศึกษางาน “น่าน เบฟเวอเรจ เฟสติวัล”  ในครั้งนี้ เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งซึ่งเรายึดเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของคณะศิลปศาสตร์คือการผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการปฏิบัติ และมีคุณธรรม โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีม และการทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก้าวไปสู่นักปฏิบัติมืออาชีพ การลงสนามจริงจะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากผู้ประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำว่ามีกระบวนการต่าง ๆ อย่างไร เมื่อเจอปัญหาจะจัดการอย่างไร และจะพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างไรให้ทัดเทียมกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ

“ที่สำคัญงานกิจกรรมต่าง ๆ ในสนามจริงที่นักศึกษาได้ออกมาสัมผัสจะเป็นการพิสูจน์ตัวตนของเขาว่าจริง ๆ แล้ว มีความชอบหรือความถนัดด้านนี้หรือไม่ เพราะการทำงานจริงโดยเฉพาะงานด้านบริการจะเจอปัญหาหลากหลาย ต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเพื่อให้งานออกมาดีและประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจของทุกคน หากผู้เรียนไม่ชอบหรือไม่ถนัดจริง ๆ ก็จะสามารถประเมินตัวเองระหว่างการฝึกปฏิบัติได้เป็นอย่างดี แต่น้อง ๆ ที่ต้องการเข้ามาเรียนในคณะศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเรามีคณาจารย์ที่คอยดูแลย่างใกล้ชิด พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำตลอดเวลา แถมยังมีรายได้ระหว่างเรียนอีกด้วย เอาเป็นว่าถ้าเข้ามาเรียนที่นี่ ได้เป็นมืออาชีพออกไปทุกคนอย่างแน่นอน”

ดร.สุทธิดา ปัญญาอินทร์ ผู้รับผิดชอบหลักสูตร วิชาเอกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ซึ่งร่วมสนับสนุน “น่าน เบฟเวอเรจ เฟสติวัล”  กล่าวว่า มทร.ล้านนา น่าน เน้นการเรียนการสอนด้านการแปรรูปผลิตผลการเกษตร ซึ่งจะตอบสนองผลผลิตชุมชนในจ.น่าน ที่มีหลากหลายให้มีการพัฒนาคุณภาพดียิ่งขึ้น  ดังนั้นบัณฑิตของเราจึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในย่านนี้ จบมาจะมีงานรองรับอย่างแน่นอน ในขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครในระบบ TCAS หากน้อง ๆ ที่สนใจสามารถเข้าไปสมัครได้ที่ https://nan.rmutl.ac.th/

นายยศธพล ไชยเบ้า ผู้ชนะเลิศการแข่งขันรางวัลพิเศษ Senorita Syrup Coffee DIY หนุ่มน้อยจากหนองบัวลำภู แต่มาทำธุรกิจร้านกาแฟ “ก๋างโต้ง” ในจ.เชียงราย เปิดใจว่าจบปริญญาตรีด้าน Geography จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกาแฟแต่ด้วยความรักและหลงใหลในศิลปะด้านนี้จึงทุ่มเทฝึกฝนและเรียนรู้จากสื่อโซเชียลมีเดีย ประกอบกับได้ทำงานในร้านทุกวันจึงถือเป็นการฝึกไปในตัว จนคว้ารางวัลในการแข่งขันครั้งนี้

นายสกลพศิษฏ์ ศรีเพ็ชวงศ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาการโรงแรม ปี 3 มทร.กรุงเทพ ผู้ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  ประเภทพนักงานผสมเครื่องดื่ม (bartender) ระดับอุดมศึกษา เผยว่า เริ่มต้นจากความชอบบาร์เทนเดอร์ เลยฝึกฝนจากสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะยูทูป และเมื่อได้รับโอกาสเข้ามาศึกษาต่อที่มทร.กรุงเทพ ก็ได้พัฒนามากยิ่งขึ้น ทั้งความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งการเข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ฝึกฝนมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว มันเกิดจากความชอบมาก่อน ถ้าน้อง ๆ ที่อยากเดินเส้นทางสายนี้ อย่างแรกควรสำรวจตัวเองว่าชอบเส้นทางนี้จริง ๆ หรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องทุ่มเทฝึกฝนอย่างจริงจัง แต่ไม่ต้องถึงกับเครียด เพราะถ้าเครียดจะทำให้เราฝึกได้ไม่เต็มที่ ต้องขอขอบคุณท่านผู้บริหารมทร.กรุงเทพที่กรุณาให้โอกาส ทั้งทุนการศึกษา รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทุกด้าน ก็อยากเชิญชวนน้อง ๆ ที่สนใจในสาขาอาชีพการโรงแรม หรืออยากเป็นบาร์เทนเดอร์ ให้สมัครเข้ามาเรียนที่มทร.กรุงเทพเพื่อจะได้พัฒนาตนเองให้ดียิ่ง ๆ ต่อไป

หมิว  – นางสาวกัญญาพัชญ์ จิรพัทธ์ปรสิน ผู้ชนะประเภทพนักงานให้บริการกาแฟ (Barista) และคว้ารางวัลพิเศษ Nan Best Signature Drink อีกรางวัล เป็นศิษย์เก่าวิศวกรรมโยธา มทร.กรุงเทพ เผยว่า มาแข่งครั้งนี้ถือเป็นเกียรติในชีวิตอย่างมาก ที่ได้เข้ามาร่วมในรายการชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จริง ๆ ตนเองฝึกซ้อมไม่นานก่อนแข่งแค่ 7 วัน แต่ถือหลักว่าใช้เวลาฝึกให้เต็มที่ 8 โมงถึง 4 ทุ่ม เริ่มตั้งแต่เบสิกให้แน่น ๆ แล้วค่อยขยับไปฝึกแบบแอดวานซ์ จะทำให้เรามีทักษะที่เชี่ยวชาญ ผิดพลาดน้อย สำหรับสิ่งที่อยากจะฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังตัดสินใจเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาก็คือให้ทำตามฝัน ไม่ว่าจะเป็นแขนงวิชาสาขาอะไรก็ทุ่มเทให้เต็มที่ โดยนึกถึงสิ่งที่เป็นเป้าหมายของตัวเองเป็นหลักแล้วก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นให้จงได้ แม้อาจจะมีอุปสรรคบ้างก็ไม่ต้องท้อ มุ่งมั่นฝ่าฝันแก้ปัญหาให้ได้แล้วในที่สุดเราจะประสบความสำเร็จ ซึ่งตนเองก็ใช้หลักการนี้ในการเริ่มต้น และหากน้อง ๆ ที่สนใจอยากเข้าเรียนต่อที่มทร.กรุงเทพ ก็อยากแนะนำว่าที่นี่มีสาขาอาชีพที่น่าสนใจหลากหลาย ถ้าเราค้นหาตนเองเจอแล้วก็มาสมัครกันได้ รับรองว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพของเราให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

นายวรพล จงเสริมกลาง ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทพนักงานผสมเครื่องดื่ม (bartender) ระดับอุดมศึกษา  ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดอยุธยา เปิดใจว่าทำการฝึกซ้อมมากว่า 4 ปี และเตรียมตัวเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้มาเป็นอย่างดี จนทำให้ได้รับความสำเร็จในท้ายที่สุด ความประทับใจนอกจากนี้ก็คือทำให้เราได้เรียนรู้เทคนิควิธีการต่าง ๆ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์หลาย ๆ อย่างที่ผู้ร่วมแข่งขันต่างนำมาเสนอ ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองไปด้วย สำหรับเป้าหมายในชีวิตนั้น อยากพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนประสบการณ์ในเวทีที่ใหญ่ขึ้นไป เพื่อเตรียมตัวสู่อาชีพในอนาคตให้พร้อมอย่างเต็มที่ สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจเรียนศาสตร์ด้านนี้ ก็มั่นใจว่ายังมีอนาคตที่ดี และมีความต้องการบุคลากรด้านนี้อีกมากมาย หากเราตั้งใจเรียน ขยันและทุ่มเท เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

.

ขอบคุณภาพ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญสม ครึกครืน ที่ปรึกษารองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไปและที่ปรึกษาคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *