ปธ. บอร์ดปฏิรูปฯ การศึกษา ร่วมกับ กสศ. ยูนิเซฟ ประเทศไทย ยก “สมุทรสาครโมเดล” ห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Labz ฟื้นฟูการเรียนรู้ รับเปิดเทอมใหม่ปี 65

คณะกรรมการปฏิรูปฯ ด้านการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดความสำเร็จภารกิจบิ๊กร็อกสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ติดตามความคืบหน้า “สมุทรสาครโมเดล” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. ยูนิเซฟ ประเทศไทย ภาคีเครือข่าย และจังหวัดสมุทรสาคร มุ่งฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมความสำเร็จของห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Labz โรงเรียนบ้านยกกระบัตร เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเองหรือ TSQP ที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมและเครื่องมือฟื้นฟูกระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ

รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 สองปีที่ผ่านมาได้สะท้อนปัญหาช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยให้ชัดเจนขึ้น อันเป็นภารกิจสำคัญที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้กำหนดกรอบนโยบายแผนปฏิรูปการศึกษา 5 Big Rocks ในการสร้างความเสมอภาคและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาเพื่อติดตามสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนหลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 และติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัยนำร่องฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย หรือ “สมุทรสาครโมเดล” พร้อมเยี่ยมชมห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Labz ที่โรงเรียนบ้านยกกระบัตร จังหวัดสมุทรสาครโมเดล เพื่อเน้นย้ำความร่วมมือและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าวเสริมว่า การศึกษาอยู่บนพื้นฐานของการสื่อสารระหว่างบุคคล การเรียนออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องเรียนได้ เนื่องจากเด็กอยู่ในวัยที่ต้องการสังคมและการสร้างปฏิสัมพันธ์ ทุกโรงเรียนต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเยียวยาสิ่งที่เด็กสูญเสียไป พร้อมกับการสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้หลังจากปิดเรียนอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการอ่านและการวิเคราะห์ หัวใจสำคัญของการสร้างเสริมฟื้นฟูการเรียนรู้หลังเปิดภาคเรียนในครั้งนี้คือครู ต้องมีความรู้และความเข้าใจ เพื่อออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคลได้ นอกจากนี้ยังต้องให้ความสนใจกับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ โรงเรียนต้องให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม เพราะเด็กเหล่านี้เองที่จะเติบโตไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศในอนาคต

นายอาวุธ วิเชียรฉาย ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จากรายงานฉบับล่าสุดขององค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และธนาคารโลก พบว่าเด็กนักเรียนเกือบทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางความรู้ ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆ ได้สะสมไว้กำลังหายไป เป็นผลจากการปิดโรงเรียนอย่างยาวนานในช่วงโควิด-19 จึงเป็นความท้าทายของทุกฝ่ายที่ต้องเดินหน้าแก้ไขภาวะถดถอยทางการเรียนรู้อย่างจริงจัง เพื่อเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ที่สูญเสียไปให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านยกกระบัตร จ.สมุทรสาคร หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบฟื้นฟูการเรียนรู้ สมุทรสาครโมเดล จาก 40 โรงเรียนนำร่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจฟื้นฟูการศึกษาหรือ Learning Recovery ภายใต้ความร่วมมือของจังหวัดสมุทรสาคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  มีเป้าหมายมุ่งช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี และได้รับการชดเชยการเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการปิดโรงเรียน รวมถึงครูทุกคนต้องได้รับการอบรมเตรียมความพร้อม สามารถบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการเรียนรู้มาผสมผสานในการจัดการเรียนการสอน เพื่อจัดการเรียนรู้ซ่อมเสริมที่ตรงกับความต้องการของเด็กแต่ละคน

“ต้องยอมรับว่า วิกฤตโรคระบาด ได้สร้างโลกแห่งการเรียนรู้ใหม่ การปรับตัวของครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เอื้อให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ที่เป็นนวัตกรรม และจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการศึกษา โครงการนี้จะนำไปสู่การออกแบบมาตรการสนับสนุนครูและโรงเรียนให้สามารถรับมือกับพันธกิจฟื้นฟูการเรียนรู้ รวมถึงการวางทิศทางพัฒนาและปฏิรูปคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (School Transformation) ของจังหวัด โดยมีเป้าหมายคือผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ของเด็กทุกคน ซึ่งหัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่โรงเรียน ครู และผู้บริหารทุกท่าน” นายอาวุธ กล่าวสรุป

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวว่า เรื่องของการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss ไม่ใช่ประเด็นที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ละประเทศต่างพยายามค้นหาเครื่องมือและนวัตกรรมในการฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กๆ เนื่องจากจำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ รวมถึงความต้องการของแต่ละโรงเรียน สิ่งสำคัญคือการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และการถอดบทเรียนเพื่อหาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนนำไปประยุกต์ใช้กับโรงเรียนอื่นๆ ได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และตนหวังว่า “สมุทรสาครโมเดล” จะกลายเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลให้กับโรงเรียนที่ประสบปัญหาคล้ายกันในทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *