คณะอนุกมธ.การอุดมศึกษา วุฒิสภา เร่งหาแนวทางพัฒนากำลังคน รองรับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และพิจารณาโครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ

คณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา พิจารณาแนวทางการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการและกรอบระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน ตลอดจนแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ในแต่ละระยะ โดยเฉพาะด้านการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมพิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform)

เมื่อวันพุธที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา คณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการประชุมครั้งที่ ๘ (๘/๒๕๖๕) ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ หมายเลข CA 427 ชั้น ๔ อาคารรัฐสภาและผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Cisco Webex Meetings) โดยมี รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา เป็นประธานในการประชุม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

๑. พิจารณาแนวทางการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการและกรอบระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน ตลอดจนแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ในแต่ละระยะ โดยเฉพาะด้านการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๐ โดยเชิญผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

                 ตามแผนปฏิบัติด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๐ มีการกำหนดแผนปฏิบัติการ BCG สาขาพัฒนาคนหรือบุคลากร เพื่อสร้างความพร้อมของการผลิตคนที่มีความรู้ ความสามารถและทักษะทัดเทียมกับนานาประเทศ ตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละสาขา BCG โดยบูรณาการกลไกการพัฒนาคนทั้งแต่การเตรียมคน การผลิตคน จนถึงการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนเพื่อสร้าง และพัฒนาทักษะ ความรู้ใหม่ และสมรรถนะของคน (competency) เพื่อรองรับธุรกิจและอุตสาหกรรมอนาคต โดยได้กำหนดเป้าหมาย อาทิ บุคลากรได้รับการพัฒนาและเพิ่มเติมทักษะใหม่ เป้าหมาย  ๓๐๐,๐๐๐ คน การสร้างผู้ประกอบการ SMEs หรือ Startups เป้าหมาย ๑,๐๐๐ ราย เกิดนวัตกรรมใหม่กว่า ๖๐ นวัตกรรม การยกระดับชุมชนกว่า ๖๐ ตำบล การสร้างศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม จำนวน ๕๐ แห่งขึ้นไป เกิดความร่วมมือ/สร้างเครือข่ายผู้ประการด้าน BCG ในระดับ ๓,๖๐๐ แห่ง/ราย รวมถึงเกิดหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ หรือมีการปรับปรุง/เพิ่มเติมเนื้อหาจากหลักสูตรเดิม ตลอดจนเกิดการเพิ่มขึ้นของจำนวนบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาที่เกี่ยวกับ BCG จำนวนกว่า ๖,๐๐๐ ราย

                 คณะอนุกรรมาธิการมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ควรกำหนดบทบาทและมีส่วนในการนำแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ BCG สาขาพัฒนาคน หรือบุคลากร เพื่อผนวกให้สอดคล้องกับแผนงานของสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ ด้วย เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการผลิตและพัฒนากำลังคนในระดับอุดมศึกษาของประเทศ นอกจากนั้น ควรมีการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในระดับต่าง ๆ ตลอดจนควรดำเนินการในเฉพาะเรื่องที่สำคัญและได้เห็นสัมฤทธิผลได้อย่างแท้จริง

             ๒. พิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform) ครั้งที่ ๒ และพิจารณาความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ. ….  โดยเชิญผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

การดำเนินงานด้านการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform) ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งรับผิดชอบโดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดระยะดำเนินการ ๔ ระยะ (ปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๕) โดยในระยะที่ ๓ (ปี ๒๕๖๔) และระยะที่ ๔ (ปี ๒๕๖๕) ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นมา คือ กลุ่มประชาชนเข้าใช้งานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ สามารถใช้แพลตฟอร์มเพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ผ่านชุมชนออนไลน์เพื่อการศึกษาได้ เป็นการบูรณาการการเรียนรู้ (Integrative Learning) โดยจะเป็นการเชื่อมโยงระบบ รองรับการจัดการหลักสูตรจากแหล่งหรือระบบภายนอกและรองรับการใช้งานผ่าน Application ทั้งในระบบ IOS และ Android

ต่อมาในประเด็นพิจารณา เรื่อง การจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. ดำเนินการโดยคณะทำงานพิจารณาจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา พ.ศ. …  ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล มีอำนาจหน้าที่ในการยกร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เพื่อจัดตั้งหน่วยงานขึ้น หน่วยงานหลักในการวางระบบและกลไกในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ทําหน้าที่พัฒนา รวบรวม จัดทํามาตรฐานตรวจสอบ และกลั่นกรองสื่อเพื่อการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยความคืบหน้าในขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาศึกษา ซึ่งจะได้รายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

คณะอนุกรรมาธิการมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

การดำเนินงานด้านการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform) ตลอดจนการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. นั้น ควรพิจารณาและออกแบบให้รอบคอบ ทั้งในแง่วัตถุประสงค์และรูปแบบ ตลอดจนหน้าที่และอำนาจของสถาบันที่ดำเนินการจัดตั้งด้วย เพื่อไม่ให้เกิดองค์กรที่เข้ามาควบคุม (Regulator) ที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้การดำเนินการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform) ขาดความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการดำเนินการ ตลอดจนประสิทธิภาพในการพัฒนาต่อไปในระยะยาว

 

*************************************

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *