เจาะลึก “วันมาฆบูชา” วันสำคัญทางศาสนา – ประจำเดือน กุมภาพันธ์

 

วันมาฆบูชา หนึ่งในวันสำคัญสำหรับชาวพุทธศาสนา ซึ่งสำหรับปีนี้ 2565 ตรงกับ วันพุธ ที่ 16 กุมภาพันธ์ (วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) หลายคนคงทำการวางแพลนสำหรับการปิดทอง ไหว้พระ ทำบุญ เสริมสิริมงคลให้ตัวเองกันไว้แล้ว แต่สำหรับใครที่ยังไม่มีเวลา ก็สามารถทำการเวียนเทียนในรูปแบบออนไลน์ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าทำบุญรูปแบบใหม่ในยุค New Normal ทั้งการ ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ เรียกว่าครบครันกันเลยทีเดียว ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า วันมาฆบูชา มีความเป็นมายังไง แล้วทำไมจึงกลายเป็นวันสำคัญในปฏิทินไทยได้ เราจึงได้ทำการรวบรวมเกร็ดความรู้ใน วันมาฆบูชา เพื่อมาไขข้อสงสัยให้ทุกคนได้รู้กันค่ะ

  • ความสำคัญของวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา” เป็นวันที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา 2 ประการคือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโอวาทปาฏิโมกข์ และพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร โดยตรัสขณะแสดงธรรมว่า “ต่อไปนี้อีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน” หลังจากทรงสั่งสอนพระธรรมมาเป็นเวลา 45 ปี

 

  • ความหมายของวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา เดิมเรียกกันว่า วันมาฆปุณณมี หมายถึง วันที่พระจันทร์เพ็ญเต็มดวงในเดือนมาฆะ ส่วนมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ วันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งวันมาฆบูชานี้ เราทราบกันว่า เป็นวันที่พระภิกษุ ๑๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และมีเหตุอัศจรรย์พร้อมกัน ๔ ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ได้แก่ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูปนั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และในวันนี้ พระพุทธเจ้าทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเราถือกันว่า เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

“จาตุรงคสันนิบาต” มีความหมายดังนี้ 

 

จาตุร แปลว่า 4

องค์ แปลว่า ส่วน

สันนิบาต แปลว่า ประชุม

 

  • โอวาทปาฏิโมกข์

หลักคำสอนสำคัญและหัวใจของพระพุทธศาสนา

สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี

สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ

อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

 

แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะการไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

 

  • จุดเริ่มต้นของวันมาฆบูชา

ในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จำนวน 30 รูป มาฉันภัตตาหารในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลีและภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วย จีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา

 

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา เป็นวันกตัญญูแห่งชาติ อีกด้วย

 

  • สถานที่สำคัญเนื่องในวันมาฆบูชา

วัดเวฬุวันมหาวิหาร

“วัดเวฬุวันมหาวิหาร” เป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม คั่นอยู่ระหว่างกลาง นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน หลังถูกทอดทิ้งเป็นเวลากว่าพันปี และได้รับการบูรณะโดยกองโบราณคดีอินเดียในช่วงที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วัดเวฬุวัน ยังคงมีเนินดินโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้นอีกมาก สถานที่สำคัญ ๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ “พระมูลคันธกุฎี” ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำการขุดค้น เนื่องจากมีกุโบร์ของชาวมุสลิมสร้างทับไว้ข้างบนเนินดิน, “สระกลันทกนิวาป” ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้ทำการบูรณะใหม่อย่างสวยงาม, และ “ลานจาตุรงคสันนิบาต” อันเป็นลานเล็ก ๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม ลานนี้เป็นจุดสำคัญที่ชาวพุทธนิยมมาทำการเวียนเทียนสักการะ

จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา (ลานจาตุรงคสันนิบาต)

ในปัจจุบันกองโบราณคดีอินเดียได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในบริเวณลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป” โดยสันนิษฐานจากเอกสารหลักฐานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีพระสงฆ์ประชุมกันมากถึงสองพันกว่ารูป และเกิดในช่วงที่พระพุทธองค์พึ่งได้ทรงรับถวายอารามแห่งนี้ การประชุมครั้งนั้นคงยังต้องนั่งประชุมกันตามลานในป่าไผ่ เนื่องจากเสนาสนะหรือโรงธรรมสภาขนาดใหญ่ยังคงไม่ได้สร้างขึ้น โดยได้นำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็ก ๆ กลางลาน และเรียกว่า “ลานจาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริงอยู่ในจุดใด

 

  • แนะนำ 5 สถานที่ทำบุญในวันมาฆบูชา 2565

วัดแม่นางปลื้ม

วัดที่เต็มไปด้วยศาสนสถานที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยความยิ่งใหญ่และสวยงามในอดีต หนึ่งวัดเก่าแก่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีคนรู้จักไม่มากนัก ทำให้ภายในวัดมีความเงียบสงบ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีมนต์ขลัง และคลาสสิค และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ

ที่ตั้งวัดนางปลื้ม : ตำบลคลองสระบัว อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

วัดเนื่องจำนงค์

ความยิ่งใหญ่และสวยงามของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ณ วัดเนื่องจำนงค์ เป็นอีกวัดที่สวยงามเดินทางง่ายติดกับถนนใหญ่ สามารถมองเห็นได้แต่ไกลด้วยความโดดเด่น โดยเป็นวัดที่มีความกว้างขวาง เหมาะสำหรับคนที่ชอบความสงบๆ และชอบเดินสายทำบุญสามารถมาแวะสักการะที่วัดแห่งนี้ได้

ที่ตั้งวัดเนื่องจำนงค์ : ตำบล หนองชาก อำเภอ บ้านบึง จังหวัด ชลบุรี

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

หนึ่งในวัดสำคัญของกรุงเทพฯซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งในแง่ของการเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) และมีสถานที่สำคัญมากมาย  ภายในวัดมีพระพุทธรูปสำคัญสององค์คือ พระพุทธเทวปฏิมากร ซึ่งประดิษสถานอยู่ภายในพระอุโบสถ และ พระพุทธไสยยาส ที่ถือเป็นพระนอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย และมีความพิเศษตรงที่บริเวณพระบาทประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ ตรงกลางเป็นรูปจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ มีสีทองอร่ามไปทั่วทั้งองค์พระจนมีความงดงามเป็นอย่างสูง

ที่ตั้งวัดโพธิ์ : ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)

วัดสระเกศ วัดที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากภูเขาทอง หนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นในกรุงเทพฯ จากความสูงกว่า 59 เมตร หรือเท่าตึกสูง 19 ชั้น และสีทองอร่ามที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยภูเขาทองนั้นเริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ 5 ภายในตัวภูเขาทองมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับการถวายจากรัฐบาลอินเดียเอาไว้ และเปิดให้คนทั่วไปสามารถสักการบูชาได้ระหว่างทางเดินขึ้นไปยังยอดเจดีย์

ที่ตั้งวัดภูเขาทอง : แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

วัดราชนัดดารามวรวิหาร

วัดราชนัดดาราม วัดเก่าแก่ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น มีจุดเด่นที่ทำให้เป็นที่รู้จักจากโลหะปราสาท ซึ่งเป็นโลหะปราสาทแห่งเดียวในประเทศไทยและแห่งเดียวในโลกที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ภายในปราสาทมีการจัดแสดง”นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” เป็นการรวบรวมประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมในแขนงต่าง ๆ โดยนำเสนอในรูปแบบวิดีทัศน์ที่ทันสมัย และยังมีห้องสมุดสำหรับประชาชน รวมถึงพื้นที่สำหรับการทำวิปัสสนา หรือเดินจงกลม

ที่ตั้งวัดราชนัดดารามวรวิหาร : แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

  • หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ

หลักการ 3 คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ ได้แก่

การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)

การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตามกุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)

การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

ซึ่งทั้ง 3 หลักการข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”

 

อุดมการณ์ 4 ได้แก่

ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ

ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่น

ความสงบ คือ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา ใจ

นิพพาน คือ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

 

วิธีการ 6 ได้แก่

ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร

ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น

สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม

รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ

อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี

 

  • กิจกรรมสำคัญในวันมาฆบูชา

การปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันมาฆบูชา

ในช่วงเช้า ควรทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร

ช่วงบ่าย ฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา

ช่วงค่ำ นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปเวียนเทียน 3 รอบ ที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนควรบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่าง ๆ และรักษาศีล สำหรับตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ จะมีการประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

 

  • บทสวดสำหรับพระสงฆ์ก่อนเริ่มเวียนเทียน

บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย อรหัง สัมมา ฯลฯ)

บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ 3 จบ)

บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย อิติปิโส ฯลฯ)

บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)

บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย สวากขาโต ฯลฯ)

บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)

บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย สุปฏิปันโน ฯลฯ)

บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)

บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย อัชชายัง ฯลฯ)

 

 

จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

 

  • เวียนเทียนให้ถูกหลักต้องทำยังไง

ชำระร่างกายและจิตใจ ด้วยการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย

เตรียม 3 สิ่งคือ ดอกไม้ 1 คู่  ธูป 3 ดอก และ เทียน 1 เล่ม

ไหว้พระประธานก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียน

เวียนประทักษิณาวัตร คือการเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือ 3 รอบ พร้อมสวดมนต์

บทสวดมนต์ รอบที่ 1 ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยสวด “อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ” รอบที่ 2 ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยสวด “สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม”

รอบที่ 3 ให้ระลึกถึงพระสังฆคคุณ โดยสวด “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ”

 

ขณะเดินเวียนเทียนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ และต้องระวังธูปเทียนไปโดนผู้อื่น หลังจากเวียนเทียนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้

 

  • ระบบเวียนเทียนออนไลน์ วันมาฆบูชา 2565

เนื่องในวันมาฆบูชา 2565 ทางคณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงได้ร่วมกับ NextGen Solution, KAAB House (ค๊าปเฮาท์) และกลุ่มบริษัทเซิร์ช  เตรียมเปิดให้พุทธศาสนิกชนร่วมเวียนเทียน พร้อมทั้งปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นังสมาธิ ฟังเทศน์ เนื่องในวันมาฆบูชา โดยจะเริ่มเปิดระบบพร้อมกันทั่วโลกระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาตั้งแต่ 11.09 น.ทั้งนี้นอกจากจะร่วมทำกิจกรรมเวียนเทียนออนไลน์วันมาฆบูชา   โดยให้พุทธศาสนิกชนสามารถเลือกสถานที่เวียนเทียนได้ตามสะดวก ไม่ว่าจะเป็นวัดในประเทศไทย  สังเวชนียสถาน หรือ วัดไทยในต่างประเทศ พร้อมเลือกคำอธิษฐาน  และสามารถแชร์ออกไปให้เพื่อนๆ ได้มาร่วมเวียนเทียนออนไลน์ด้วยกันได้

ในครั้งนี้ยังได้เพิ่มระบบปฏิบัติธรรมออนไลน์ซึ่งสามารถร่วมสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ เป็นการผสมผสานระหว่างกิจกรรมทางพุทธศาสนาและนวัตกรรมในระบบออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยมีให้เลือกปฏิบัติตั้งแต่ บทสวดทำวัตรเช้า บทสวดทำวัตรเย็น ทั้งแบบแปล และไม่แปล บทสวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล ฝึกการนั่งสมาธิเบื้องต้น พร้อมฟังเทศน์จากพระนักเทศน์ วัดต่าง ๆ และมีข้อมูลความรู้ในทางพุทธศาสนาในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย สำหรับพุทธศาสนิกชนที่สนใจ  สามารถติดตามและเข้าร่วมระบบปฏิบัติธรรมออนไลน์ดอทคอม และระบบเวียนเทียนออนไลน์ดอทคอมตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป

สามารถเวียนเทียนออนไลน์ได้ที่ >>> https://xn--o3cdbaa3cc0al9da3gd2me5eth.com/

สามารถปฏิบัติธรรมออนไลน์ได้ที่ >>> https://xn--g3cmjeacf6cray8ga3c3bd3z8e.com/login?next=%2F 

 

………………………………

พวกเราชาว Eduzones หวังว่าพุทธศาสนิกชนทุกท่านจะได้รับความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรมต่าง ๆ ในบทความนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักต่อความสำคัญของพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ และยังเป็นการช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *