อยากเรียนหมอ ต้องทำอย่างไร ?

อยากเรียนหมอ ต้องทำยังไง ?

เมื่อพูดถึงอาชีพ “แพทย์” หรือ “หมอ” แน่นอนว่าต้องเป็นอาชีพอันดับต้น ๆ ที่น้องหลาย ๆ คนใฝ่ฝัน เพราะอาชีพหมอเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และได้ช่วยเหลือผู้อื่น อีกอย่างอาชีพแพทย์นั้นเป็นอาชีพที่มั่นคงและเรียกได้ว่ามีค่าตอบแทนค่อนข้างสูง ซึ่งแพทย์นั้นมีหลากหลายแขนงออกไป ไม่ว่าจะเป็น ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ สูตินรีแพทย์ พยาธิแพทย์ จิตแพทย์ จักษุแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ สัตวแพทย์ เป็นต้น แต่ละสาขาก็เรียนแตกต่างกันไป ซึ่งวันนี้พี่ ๆ ทีมงานเอ็ดดูโซนจะพาน้อง ๆ มาดูกันว่า อยากเป็นหมอต้องทำอย่างไร และเตรียมตัวอย่างไรบ้าง  เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปดูกันเลยค่ะ

อยากเป็นหมอ ต้องสอบอะไรบ้าง ?

  • 9 วิชาสามัญ โดยการการสอบคัดเลือกคณะแพทย์จะใช้ 7 วิชา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ 1 และสังคมศึกษา
  • O-NET ตามระเบียบจะต้องสอบทั้ง 5 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา
  • GAT/PAT ซึ่งตามระเบียบจะต้องสอบ GAT, PAT1, PAT2

GAT คือการสอบวัดความถนัดทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

       – ส่วนที่ 1 GAT เชื่อมโยง การอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง ภาษาไทย

       – ส่วนที่ 2 GAT อังกฤษ ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

PAT1 คือ ข้อสอบวัดความถนัดทางคณิตศาสตร์

PAT2 คือ ข้อสอบวัดความถนัดทางวิทยาศาสตร์

  • วิชาเฉพาะแพทย์ หรือ วิชาความถนัดทางแพทย์ เป็นการสอบวิชาเฉพาะเพื่อวัดความสามารถความถนัดทางแพทย์ของน้อง ๆ ซึ่งจะประกอบด้วย 3 PART ดังนี้

       – PART 1 คณิตศาสตร์และเชาว์ปัญญา จำนวน 45 ข้อ 100 คะแนน

       – PART 2 จริยธรรมทางการแพทย์ จำนวน 80 ข้อ 100 คะแนน

       – PART 3 ความคิดเชื่อมโยง จำนวน 20 ข้อ 100 คะแนน

  • BAMT ย่อมาจาก BioMedical Admissions Test จัดสอบโดย Cambridge Assessment  คือ การสอบเฉพาะทางที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเข้าคณะแพทย์ ซึ่งการสอบ BMAT จะใช้เวลาสอบทั้งหมด 2 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ

        – ตอนที่ 1 ความถนัดและทักษะ (ข้อสอบปรนัย)

        – ตอนที่ 2 ความรู้และการประยุกต์ด้านวิทยาศาสตร์ (ข้อสอบปรนัย)

        – ตอนที่ 3 สอบเขียนบรรยาย (ข้อสอบบรรยาย)

นอกจากการสอบที่พี่ได้แนะนำข้างต้นแล้ว บางมหาวิทยาลัยก็อาจจะใช้ GPAX/GPA และคะแนน TOEFL, IELTS , SAT ในการคัดเลือกอีกด้วย นอกจากนี้ยังมี Portfolio ซึ่งเป็นการยื่นผลงานของตนเอง ต้องบอกเลยว่าน้อง ๆ จะเต็มที่กับการเรียนอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ด้วยนะคะ

การสอบเข้าคณะแพทย์มีทั้งหมดกี่รอบ ?

การสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์นั้น แบ่งเป็น 3 รอบ ได้แก่

  1. Portfolio รอบการรับตรงโดยยื่น Portfolio เรียกได้ว่าเป็นรอบที่โชว์ความสามารถของน้อง ๆ ที่สะสมมาตั้งแต่เข้าเรียนเตรียมอุดมศึกษาเลยก็ว่าได้ ซึ่งใน Portfolio ของเรานั้นจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเรานั้นมีความสนใจในอาชีพแพทย์มากแค่ไหน เอาเป็นว่าใครมีผลงานอะไรก็ต้องควักออกมาโชว์ ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรม การเข้าค่าย การทำจิตอาสา ความสามารถพิเศษ และผลงานด้านอื่น ๆ ของน้อง ๆ นอกจากนี้ในรอบนี้ จะใช้คะแนน BMAT , TOEFL , IELTS , SAT ร่วมด้วย ในบางที่จะต้องใช้คะแนน GPAX ด้วย และใครที่สนใจรอบ Portfolio ก็ต้องให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมาก ๆ และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เยอะ ๆ นะคะ
  2. โควตา ในรอบโควตานี้จะแบ่งเป็นรอบรับตรงที่ใช้คะแนนหลากหลายแบบ คือ
  • ใช้คะแนนวิชา 9 วิชาสามัญ ซึ่งจำเป็นจะต้องเลือกสอบ 7 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ 1 และสังคมศึกษา
  • ใช้คะแนน 7 วิชาสามัญ + คะแนนวิชาเฉพาะแพทย์ หรือ วิชาความถนัดทางแพทย์
  • ใช้คะแนนวิชาเฉพาะแพทย์ + คะแนน GAT/PAT (GAT, PAT1, PAT2)
  • ใช้คะแนน GAT/PAT (GAT, PAT1, PAT2) + คะแนนวิชาเฉพาะแพทย์

สำหรับรอบโควตานี้นั้นเหมาะกับน้อง ๆ ที่อยากเรียนใกล้บ้าน เพราะแต่ละสถาบันมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครที่อยู่ในพื้นที่ แต่รอบนี้มีการแข่งขันสูง เพราะอัตราการรับสมัครในรอบโควตานั้นไม่ได้เปิดรับจำนวนมากเท่ากับรอบอื่น ๆ เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ต้องตั้งใจทำข้อสอบให้คะแนนออกมาดี และอย่าลืมติดตามข้อมูลการเปิดรับสมัครของมหาวิทยาลัยที่กำลังเล็งไว้อย่างสม่ำเสมอนะคะ

  1. กสพท ในรอบ กสพท และรับตรงร่วมกัน จะเป็นรอบที่มีการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาจำนวนมากกว่ารอบอื่น ๆ ในรอบนี้ถือได้ว่าเป็นรอบที่น้อง ๆ จะได้มีโอกาสในการเลือกอันดับคณะและมหาวิทยาลัยได้ถึง 6 อันดับ ซึ่งถือว่าเป็นรอบที่น่าอุ่นใจมาก ๆ ค่ะ และในรอบ กสพท (รับตรงร่วมกัน) ต้องใช้คะแนน ดังนี้
  • วิชาเฉพาะแพทย์ หรือ วิชาความถนัดทางแพทย์ ใช้เป็นสัดส่วนน้ำหนักคะแนน 30% ประกอบด้วย 3 PART ดังนี้

        – PART 1 คณิตศาสตร์และเชาว์ปัญญา

        – PART 2 จริยธรรมทางการแพทย์

        – PART 3 ความคิดเชื่อมโยง

ซึ่งสัดส่วนคะแนนของวิชาเฉพาะแพทย์ กสพท ถือว่ามีค่าน้ำหนักสูงที่สุด น้อง ๆ จึงต้องวางแผนและเตรียมตัวให้ดี หมั่นทำข้อสอบอยู่เสมอ

  • วิชาสามัญ คือการสอบที่จัดโดย สทศ. ใช้ 7 วิชา ในสัดส่วนน้ำหนักคะแนน 70% โดยน้ำหนักคะแนน ดังนี้

– วิชาวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) 40%

– วิชาคณิตศาสตร์ 1       20%

– วิชาภาษาอังกฤษ        20%

– วิชาภาษาไทย            10%

– วิชาสังคมศึกษา          10%

โดยมีเงื่อนไขว่าแต่ละวิชาจะต้องมีคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 30% ของคะแนนเต็ม

  • O-NET แต่คะแนน O-NET จะไม่ได้นำมาเป็นสัดส่วนในองค์ประกอบการคิดคะแนน แต่น้อง ๆ จะต้องทำคะแนนรวม O-NET 5 วิชา (วิทย์-คณิต-อังกฤษ-ไทย-สังคม) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 จึงจะผ่านเกณฑ์ หากไม่สามารถทำคะแนนให้สูงกว่าร้อยละ 60 ก็ถือว่าหมดสิทธิ์ในรอบ กสพท เลย

# ในระบบ TCAS ในรอบ 3 ที่มี กสพท ร่วมด้วย

การคัดเลือกในรอบที่ 3 สามารถเลือกได้ 6 อันดับ แบบเรียงลำดับ และแต่ละสาขาวิชาภายใน กสพท  ถือว่าเป็น 1 ใน 6 ตัวเลือก โดยประกาศผลเพียง 1 อันดับเท่านั้น

ซึ่งในการรับตรงร่วมกัน และ กสพท นี้ได้มีการกำหนดให้คะแนน 9 วิชาสามัญ ในการคัดเลือกถึง 70% กันเลยทีเดียว ถือว่าสูงมาก ๆ และน้อง ๆ จะต้องทำคะแนนในแต่ละวิชาให้ไม่ต่ำกว่า 30% ของคะแนนเต็ม และ O-NET ทั้ง 5 วิชา ไม่น้อยกว่า 60% ฉะนั้นพี่ ๆ อยากให้แนะนำให้น้อง ๆ เต็มที่กับทุกสนามสอบ และอ่านหนังสือกันเยอะ ๆ นะคะ

การเตรียมตัวสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเป็นหมอ

สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเรียนหมอ ต้องทำอะไร เตรียมตัวอย่างไรกันบ้างนะ วันนี้พี่ ๆ มีคำแนะนำมาบอกค่า

  • อันดับแรก น้อง ๆ ต้องถามตัวเองก่อนว่าจริง ๆ แล้วเราอยากเป็นหมอจริงหรือเปล่า เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าอาชีพหมอเป็นอาชีพที่ต้องมีความอดทนและเสียสละมาก
  • น้อง ๆ ควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับรายวิชาที่ต้องสอบอย่างรอบคอบ
  • น้อง ๆ ควรให้เวลากับการเตรียมตัวในการสอบเยอะ ๆ
  • การแบ่งเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นควรจัดสรรเวลาให้ดี
  • ขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากอาจารย์ รุ่นพี่ หรือผู้ที่เรียนโดยตรง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัว
  • ตั้งเป้าหมายคะแนนของเราให้ชัดเจน หมั่นทำโจทย์ และคำนวณคะแนนจริง
  • หาข้อสอบเก่า ๆ มาทำ จะช่วยให้เราได้รู้แนวข้อสอบ และสามารถเก็งข้อสอบได้
  • ศึกษาคะแนนที่ใช้ของแต่ละสนามสอบอย่างละเอียด ว่าใช้คะแนนเท่าไหร่ และเตรียมตัวดี ๆ
  • ตั้งใจเรียนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน หมั่นทบทวนและสรุปความรู้ที่เรียนอย่างสม่ำเสมอ

 

พี่หวังว่าน้อง ๆ จะได้รับความรู้ที่ทาง Eduzones ได้นำมาแบ่งปันในวันนี้ และนำคำแนะนำต่าง ๆ นี้ไปใช้ในการเตรียมตัวสอบ และพี่ ๆ ทีมงานเอ็ดดูโซน ขอเป็นกำลังใจให้กับว่าที่คุณหมอในอนาคตทุกคนนะคะ พี่เชื่อว่าความพยายามของเราไม่สูญเปล่าแน่นอนค่ะ ขอให้น้อง ๆ หมั่นฝึกฝน และพัฒนาตนเองอยู่เสมอนะคะ และสุดท้ายหากน้อง ๆ ไม่อยากพลาดข่าวสารดี ๆ เกี่ยวกับการศึกษา ต้องกดติดตาม Eduzones พี่ ๆ จะอัปเดตข่าวสารและแนะนำคณะไหนต่อไป คอยดูกันน้า

 

สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ยังไม่แน่ใจว่าคะแนนของเราอยู่ในเกณฑ์ใด หรืออยากรู้ว่าควรทำคะแนนในการสอบต่าง ๆ กี่คะแนนถึงจะมีโอกาสติดสาขาและมหาวิทยาลัยที่ตัวเองชอบ ก็สามารถคำนวณคะแนนได้ที่ โปรแกรมคำนวณคะแนน กสพท 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *