​EDUCA จับมือ TPF ชวนครูไทยแชร์การสอนแบบ New Normal เปิดโชว์เคสหลากไอเดีย ช่วยโรงเรียนเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม

จากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเปิดเทอมของปีการศึกษา 2563 ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะโรงเรียนต้องเตรียมการสอนแบบ New Normal ซึ่งต้องปรับตัวกันใหม่ทั้งรูปแบบการสอนที่ต้องผสมผสานระหว่างการเรียนทางไกลกับการเรียนแบบปกติให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ต้องจัดพื้นที่ในโรงเรียนกันใหม่ โดยยึดหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และดำเนินการตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ดี หลังจากที่หลายโรงเรียนได้ทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกลเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ สามารถสร้างแนวทางการสอนอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดรับกับการเปิดเทอมที่จะมาถึงในวันที่ กรกฎาคมนี้ ทาง EDUCA แพลตฟอร์มการสื่อสารเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู โดย บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จึงร่วมกับ กลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principals Forum: TPF) จัดสัมมนาออนไลน์ผ่าน Facebook Live ในหัวข้อ บทเรียนร่วมกัน รวมพลังโรงเรียนไทย ฝ่าวิกฤต COVID-19” ซึ่งมีโรงเรียนสมาชิกของกลุ่ม TPFมาร่วมแบ่งปันวิธีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ก่อนเปิดเรียน

เริ่มด้วยโรงเรียนขนาดใหญ่ อ.วิสา จรัลชวนะเพท ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ภูเก็ต ได้วางแผนงานไว้ว่า วันแรกของการเปิดเรียน จะให้เด็กอนุบาลเรียนเพียงครึ่งวันเช้า เพราะพื้นที่ของห้องเรียนไม่เพียงพอสำหรับการนอนในช่วงบ่ายของเด็กที่ต้องเว้นระยะห่างกัน ส่วนการทำกิจกรรมจะแบ่งเด็กแต่ละห้องออกเป็นสองกลุ่ม สลับกันทำกิจกรรมกลางแจ้งและในห้องเรียน ขณะที่เด็กชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จะแบ่งเด็กเป็นกลุ่มเอและบี เพื่อสลับวันเรียนกลุ่มละ วัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ โดยให้เด็กมาเรียนวิชาหลักเท่านั้น สำหรับวิชาพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพ จะมอบหมายงานไปทำที่บ้าน ขณะเดียวกันเด็กห้องโครงการพิเศษที่ต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเข้มข้น โรงเรียนได้เตรียมโปรแกรมการเรียนออนไลน์ไว้ให้

มาตรการอื่นๆ ในการดูแลนักเรียน เรามีการเตรียมเจลแอลกอฮอล์ เทอร์โมมิเตอร์ ฉากกั้นในโรงอาหารและห้องเรียน ซึ่งเราจะจัดประชุมออนไลน์กับผู้ปกครองก่อนเปิดเทอมด้วย เพื่อให้พวกเขาได้ทำความเข้าใจและรู้ว่าโรงเรียนได้เตรียมแนวทางการสอนเด็กในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อย่างไร ทั้งนี้จากการสำรวจของโรงเรียนพบว่า มีนักเรียน 22% ที่ไม่มีความพร้อมกับการเรียนออนไลน์ เพราะไม่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ ดังนั้นเราจึงมองถึงการเปิดเรียนตามปกติเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการเรียนรู้

สถานการณ์ดังกล่าวมีทิศทางคล้ายคลึงกับ โรงเรียนไทรโยคมณีกาญจน์วิทยา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนชายขอบและมีปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดย อ.ไชยพร มะลิลา ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียน   ไทรโยคมณีกาญจน์วิทยา กล่าวว่า โรงเรียนได้ทดลองการสอนทางไกลเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่ด้วยความที่นักเรียนส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ได้ จึงวางแผนการสอนเป็นสองระบบ คือ ออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งได้นำคู่มือการเรียนการสอนและแบบเรียนไปให้นักเรียนที่บ้าน และจากการสำรวจพบว่าที่อยู่อาศัยของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่บริเวณเดียวกันกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน, วัด และป้อมตำรวจ ซึ่งมีทีวีและอินเทอร์เน็ต โรงเรียนจึงสร้างเครือข่ายกับกลุ่มข้างต้นแล้วให้นักเรียนไปเรียนในพื้นที่นั้นๆ พร้อมกับครูที่นำสื่อการสอนเข้าไปทำกิจกรรมด้วย ทำให้โรงเรียนสามารถผสมผสานการจัดการเรียนการสอนออนไลน์และออฟไลน์ได้ในช่วงเปิดเทอมที่กำลังมาถึง

ในส่วนของ โรงเรียนเพลินพัฒนา ที่เปิดเทอมก่อนกำหนดการของกระทรวงศึกษาธิการไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โดยมีการจัดการเรียนรู้แตกต่างกันของระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในรูปแบบของ Home-Based Learning (HBL) ซึ่ง อ.วีณา ว่องไววิทย์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา กล่าวว่า โรงเรียนมีการจัดทำ Plearn Learning Box สำหรับเด็กอนุบาล ด้วยการบรรจุแผนงานการทำกิจกรรมและสื่อการสอน ผู้ปกครองสามารถสแกน QR Code ที่ให้ไว้เพื่อเจอกับคลิปวิดิโอการสอนของครูได้ทันที ส่วนระดับประถมศึกษานั้น นักเรียนจะใช้เครื่องมือออนไลน์ประสานกับครูและเพื่อนนักเรียนในบางช่วงเวลา โดยครูจะมีตารางเวลาเรียนที่ชัดเจน เน้นการแจกโจทย์ให้ไปทำโปรเจ็คต์ด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่ในบ้านแล้วมาแชร์ไอเดียกับเพื่อนๆ

สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจะเป็นการเรียนรู้ออนไลน์เต็มตัว ผสมผสานทั้งชั่วโมงโฮมรูม การเรียนรู้ ตามกำหนด และการเรียนเสริม โดยแอปพลิเคชั่นหลักที่ใช้ในการเรียนคือ Zoom เพราะเห็นหน้าเด็กพร้อมกันหมด อีกทั้งยังสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนของเราที่เน้นเรื่อง Collaborative ซึ่ง Zoom มีฟีเจอร์ Breakout Rooms  ที่เด็กสามารถรวมกลุ่มทำงานด้วยกัน และครูเวียนดูงานตามกลุ่มได้ นอกจากนั้นยังมีการใช้แอปพลิเคชั่น KahootPadlet และ Google Suite เข้ามาเสริมอีกด้วย

รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา และประธานกลุ่ม TPF กล่าวสรุปว่า การจัดสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นภาพการเตรียมความพร้อมของหลากหลายโรงเรียนภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจารย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่เข้ามาร่วมรับฟังสามารถนำกรณีศึกษาไปปรับใช้กับโรงเรียนของตนได้ เพื่อสร้างแนวทางการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาดิสรัปวงการการศึกษาให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตาม การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของเพื่อนครูจะช่วยให้ครูไทยสามารถพาโรงเรียนฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปได้ และอาจเป็นโมเดลการจัดการการเรียนการสอนสำหรับรองรับเหตุการณ์ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *