มจธ. จับมือพีอีซี เทคโนโลยี นำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเสริมศักยภาพระบบกักเก็บพลังงานให้อุทยานฯ 

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านระบบกักเก็บพลังงาน กับ บริษัท พีอีซี เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดย รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ.และ คุณเกษียร สุขีโมกข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีอีซี เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ดร.อรรณพ นพรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. และคุณปัณณวิชญ์  ฤทธิประภา ผู้จัดการฝ่ายขาย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว 

ผศ. ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด มจธ. กล่าวว่า กว่า 20 ปีที่ห้องปฏิบัติการฯ ได้ศึกษาวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการบูรณาการระบบพลังงานสะอาดที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งในด้านเทคนิค เศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นความร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ บนเกาะและหมู่บ้านที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ซึ่งที่มาของความร่วมมือกับบริษัท พีอีซี เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้เนื่องมาจาก การใช้แบตเตอรี่แบบเก่า (แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด หรือ lead-acid battery) ในการกักเก็บพลังงานนั้นมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น การใช้เชื้อเพลิงจำนวนมาก ใช้เวลานานในการเดินเครื่องเพื่อชาร์จไฟแบตเตอรี่ให้เต็ม และแบตเตอรี่กินพื้นที่มากด้วย ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Li-Ion battery) ซึ่งก่อนหน้านี้ทางห้องปฏิบัติการฯได้มีการเก็บข้อมูลการศึกษาการใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้ร่วมกับพีอีซี มาเป็นระยะเวลากว่าสามปี

คุณเกษียร สุขีโมกข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีอีซี เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าแนวคิดการนำแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนมาใช้งานแทนแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรดนั้นมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2556 โดยนำมาใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน เนื่องจากพลังงานสะอาดที่ได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมนั้นไม่เสถียร และจะสามารถแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้หากมีการใช้แบตเตอรี่เข้ามาเสริมในช่วงที่ไม่มีลมหรือแดดเพื่อที่จะสามารถเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่และนำออกมาใช้ได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *