DIRU นิเทศ จุฬาฯ เผยผลวิจัย 15 ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ของคนไทย

หน่วยปฏิบัติการวิจัย DIRU นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลวิจัย 15 ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ของคนไทยในแต่ละช่วงวัย พบว่า ความเสี่ยง 5 อันดับแรก เนื้อหาที่มีความรุนแรง โฆษณาสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัย เนื้อหาสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ ข่าวปลอม เนื้อหาลกมกอนาจาร โดยกลุ่มวัยทำงานช่วงต้น 23-39 ปี เป็นกลุ่มที่พบเจอความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุพบเจอความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์น้อยที่สุด

 รองศาสตราจารย์ ดร. พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ หรือ DIRU รายงานผลการวิจัย เรื่อง “การเพิ่มความสามารถในความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันที่มีต่อความผูกพันและความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน” โดยกล่าวว่า “การวิจัยเริ่มต้นจากการสัมภาษณ์ประชาชน 4 ช่วงวัย ได้แก่ วัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-22 ปี  วัยทำงานช่วงต้นอายุ 23-39 ปี ผู้ใหญ่วัยทำงานช่วงอายุ 40-59 ปี และผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป พบความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชนถึง 15 เรื่อง” และเมื่อนำความเสี่ยงทั้ง 15 เรื่องไปสำรวจกับกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 2,580 คน พบว่า ความเสี่ยง 15 เรื่องที่คนไทยมีโอกาสพบเจอจากการใช้งานสื่อออนไลน์ เรียงลำดับได้ดังนี้

1.เรื่อง “ภาพ คลิป คำพูดที่มีความรุนแรง” โดยพบเห็นภาพ คลิป คำพูดรุนแรง ถ้อยคำหยาบคาย

2.เรื่อง“โฆษณาสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัย สินค้าผิดกฎหมาย” โดยพบเห็นโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

3.เรื่อง“เนื้อหาสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ” โดยได้รับเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั่วไปที่ส่งต่อ ๆ กันมา ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์

4.เรื่อง“ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวลวง” โดยได้รับข่าวปลอมที่ส่งต่อกันมา หรือขึ้นในหน้าจอของตนเอง

5.เรื่อง“การเข้าถึงเนื้อหาด้านเพศ ลามก อนาจาร” โดยเห็นเน็ตไอดอล นุ่งน้อยห่มน้อย ไปในแนวโป๊ เปลือย อนาจาร

6.เรื่อง“หวยออนไลน์” โดยได้รับเลขเด็ด ใบ้หวยบนเฟซบุ๊ก หรือไลน์ แล้วเชิญชวนเข้ากลุ่มเล่นหวย

7.เรื่อง“การชักชวนเล่นการพนัน” โดยถูกชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิกเพจการพนัน บ่อนออนไลน์ หรือกลุ่มเล่นพนันออนไลน์

8.เรื่อง“การหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์” โดยสั่งซื้อสินค้าแล้วได้ของที่ไม่มีคุณภาพ

9.เรื่อง“การหลอกลวงโดยการชวนให้ไปทำงานหรือหารายได้ที่ให้ผลตอบแทนสูง” ถูกเชิญชวนให้สมัครงาน ทำอาชีพเสริมที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่กลับกลายเป็นการเสนอขายสินค้า

10.เรื่อง“ความเสียหายที่เกิดจากระบบคอมพิวเตอร์” โดยพบเห็นโฆษณาที่ส่งมาถึงเราโดยระบบคอมพิวเตอร์

11.เรื่อง“แชร์ออนไลน์” โดยถูกเชิญชวนจากสมาชิกในกลุ่มสนทนา ให้สมัครเข้ากลุ่มแชร์ออนไลน์

12.เรื่อง“การถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้า” โดยการแจ้งว่าได้รับโชค แล้วให้กดลิงค์ที่นำไปสู่เนื้อหาที่อาจนำไปสู่การหลอกลวงได้

13.เรื่อง“ข้อมูลส่วนตัวถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นจนเกิดความเสียหาย” โดยถูกบังคับให้ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เมื่อสมัครใช้งานเพจ หรือเข้ากลุ่มออนไลน์

14.เรื่อง“หุ้นออนไลน์” โดยถูกเชิญชวนให้เข้าร่วมเล่นหุ้นกับเว็บไซต์หุ้นออนไลน์จากในและต่างประเทศ

15.เรื่อง“การถูกกลั่นแกล้งจนเกิดความเสียหาย” โดยเพื่อน หรือคนอื่นแกล้งโพสต์เรื่องที่เสียหาย น่าอับอายเกี่ยวกับตัวเรา”

นอกจากนี้ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าในแต่ละกลุ่มวันมีความเสี่ยงที่เหมือนกันและแตกต่างกันไป คือ กลุ่มอายุ 23-39 ปี เป็นกลุ่มที่พบเจอความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในเกือบทุกเรื่อง อย่างไรก็ตามกลุ่มอายุ 15-22 ปี พบเจอความเสี่ยงเรื่องข่าวปลอม และ การถูกกลั่นแกล้ง มากกว่ากลุ่มอื่น และพบเจอความเสี่ยงเรื่อง ข้อมูลส่วนตัวถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นจนเกิดความเสียหาย ใกล้เคียงกับกลุ่มอายุ กลุ่มอายุ 23-39 ปี นอกจากนี้กลุ่มอายุ 40-59 ปี พบเจอความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้ามากกว่ากลุ่มอื่น ในขณะที่กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี พบเจอความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์น้อยที่สุดในทุกเรื่อง

“จากผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยทุกช่วงวัยมีโอกาสที่จะพบเจอความเสี่ยงบนโลกออนไลน์หลายเรื่องด้วยกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การเพิ่มความสามารถด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งต้องเน้นความรู้ ทักษะ ความสามารถในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์ ส่งเสริมให้ความรู้และฝึกทักษะที่จำเป็นที่จะนำไปสู่ความรอบรู้ทางดิจิทัล ได้แก่ ฝึกทักษะการใช้งานสื่อออนไลน์ ฝึกความเคยชินในการตั้งคำถามกับเนื้อหาในเรื่องความถูกต้อง อคติหรือความหมายแฝง ความน่าเชื่อถือ ซึ่งการตั้งคำถามกับเนื้อหาถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้เท่าทัน จากนั้นเพิ่มเติมด้วยการเรียนรู้วิธีการวิเคราะห์ ประเมิน ตรวจสอบความถูกต้องและคุณค่าของเนื้อหา รวมทั้งเรียนรู้วิธีการนำสื่อออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการดำรงชีพ การติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา เสริมสร้างความเป็นพลเมือง สุดท้ายคือมีการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงที่นำไปสู่อันตรายจากการใช้งานสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในด้านความรอบรู้ทางดิจิทัล ที่จะช่วยให้ประชาชนใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์” รองศาสตราจารย์ ดร. พนม คลี่ฉาย กล่าวสรุป

งานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มความสามารถในความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันที่มีต่อความผูกพันและความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน” ฉบับเต็ม รายงานวิจัยและบทความทางวิชาการด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นผลงานของหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ DIRU ได้นำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์หน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ DIRU www.diru.commarts.chula.ac.th ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-218-2197

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *