อดีตนายกฯ”อภิสิทธิ์”ตีแผ่สถานการณ์การเมืองในยุคชะงักงัน เศรษฐกิจถดถอย สังคมน่าเป็นห่วง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์การเมืองในยุค Disruption”ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษารายวิชา สังคมไทยในบริบทโลก (GEH0102) จัดโดยสำนักวิชาการศึกษาทั่วไปและนวัตกรรมการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ณ หอประชุมสุนันทานุสรณ์ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. ซึ่งมีท่านผู้บริหาร นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร สนใจเข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก

สาระสำคัญของการบรรยายในครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์บรรยายนำว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นภาวะ Disruption ที่หลายคนอาจให้ความหมายว่า การหยุดชะงัก แต่ในความเป็นจริงต้องขยายความให้ชัดว่า การหยุดชะงักนี้มาจากการถูกทำลายในสิ่งสำคัญบางประการ เช่นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบกันทั่วภูมิภาค หรือทั่วโลกก็ว่าได้ มิใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้น ความถดถอยนี้มาจากความผันแปรในรูปแบบของการใช้ชีวิต ที่เห็นได้ชัดคือ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านจำหน่ายสินค้าเวลานี้อยู่ในภาวะถดถอย แทบจะไม่มีลูกค้า เพราะผู้บริโภคมีช่องทางใหม่คือการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ และการชำระเงินด้วยระบบอิเล็คทรอนิคส์ ยกตัวอย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสังคมที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ เป็นสังคมที่ไร้เงินสดอย่างรวดเร็วมาก เป็นต้น หรือไม่นานมานี้ที่ประเทศอังกฤษ เพิ่งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือบอริส จอห์นสัน ท่านผู้นี้ได้พยายามออกนโยบายหาวิธีฟื้นฟูและรักษาวิถีชีวิตของ High street นั่นคือร้านค้า ตลาด ที่อยู่ริมถนนสายสำคัญๆ ในอังกฤษ ที่เคยมีผู้คนมาจับจ่ายอย่างหนาแน่น แต่ปัจจุบันแทบจะร้าง ไม่มีผู้คนซึ่งเป็นผลมาจากการซื้อขายออนไลน์นั่นเอง แม้ว่าจะได้ออกมาเป็นนโยบาย แต่หลายฝ่ายก็ออกมาให้ความเห็นว่าเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะกู้คืนวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจแบบเดิมให้คืนมา ที่กล่าวมานี้เป็นความหมายของ Disruption ที่อธิบายให้เห็นภาพชัดเจน

ภาวะชะงักงันถดถอยเหล่านี้ แม้มีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในส่วนของภาคธุรกิจก็จริง แต่ก็ส่งผลกระทบมาถึงเรื่องของการเมือง การบริหารอีกมากมาย เช่นรัฐบาลทั่วโลกพยายามอย่างยิ่งที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ประกอบธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะองค์กรสื่อออนไลน์ทั้งหลายที่น่าจะรู้จักกันดี องค์กรเหล่านี้มีสื่อโฆษณาเข้าไปทำธุรกิจด้วยมากมาย มีผลประโยชน์เม็ดเงินมหาศาลที่เป็นรายได้ แต่รัฐบาลของเกือบทุกประเทศเก็บภาษีจากองค์กรเหล่านี้ได้น้อยมาก หรือแทบจะไม่ได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเรื่องของการใช้สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่เข้ามามีบทบาททางการเงินในโลกใหม่แห่งทุนนิยม ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด เพราะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอย่างนี้ ประเทศไทย เศรษฐกิจไทย และสังคมไทยจะปรับตัวจากตรงนี้ จะใช้ประโยชน์จากตรงนี้ หรือผลักดันชีวิตความเป็นอยู่ในภาคประชาชนของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องที่น่าขบคิดอย่างยิ่ง นี่คือหัวใจของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในยุคนี้

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ในการที่จะก้าวผ่านปัญหาและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นี้ไปได้นั้น หากจะให้การเมืองเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหา ก็ต้องกลับมามองที่โอกาส นอกจากการปรับกระบวนทัศน์ในการกำหนดวิธีการวัดความก้าวหน้าของเศรษฐกิจและสังคมของเรา แสวงหาเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ ที่ไม่ให้มีการผูกขาด หรือรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจไม่ควรผูกขาด แต่ต้องหาวิธีการที่ทำให้เกิดความสมดุลในการแข่งขัน ถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจรายย่อยก็จะลำบากมากขึ้น ในบางประเทศได้กำหนดไว้เป็นกฎหมายเลยว่า องค์กรทางการค้าใดถ้ามีขนาดธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มากแล้ว รัฐจะออกกฎหมายมาควบคุมโดยการไม่อนุญาตให้ซื้อกิจการธุรกิจค้าปลีกในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งบ้านเรายังไม่ตระหนักตรงนี้ เมื่อสังคมเป็นเช่นนี้ ในความคิดของตนมีความเห็นว่า การเมืองที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้ จะต้องเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นอกจากจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว การเมืองที่จะแก้ปัญหานี้ได้จะต้องเป็นลักษณะของการแข่งขันกันในเชิงความคิด ชุดความคิดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ นี้ จะต้องเป็นชุดความคิดที่มีความก้าวหน้าพอสมควร หมายความว่าต้องสามารถขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าได้ หลุดจากกรอบเดิมๆ เพื่อตามให้ทันยุค Disruption ให้ได้ ซึ่งตนไม่เชื่อว่าผู้ที่มีความคิดในเชิงอนุรักษ์นิยมในยุคนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้ทุกอย่างดีขึ้นได้นั่นหมายถึงนโยบาย และกลไกต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศและสังคมในภาพรวม ทั้งต้องไม่ยึดติดเฉพาะผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย หากแต่ต้องคำนึงถึงภาพรวมของการพัฒนา ปรับเปลี่ยน ให้ก้าวผ่านความชะงักงันถดถอยนี้ไปให้ได้ อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวในที่สุด
………………..
รวีโรจน์ สิงห์ลำพอง : รายงาน
สุรชาติ ตรีโอษฐ์ / สโรชา บินอับดุลเลาะ : ถ่ายภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *