รู้ก่อนเรียน! คณะแพทยศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์

1.คณะแพทยศาสตร์ คือ ?

ใครอยากเป็นหมอยกมือขึ้น!! คณะแพทยศาสตร์ แทบจะเป็นอีก 1 คณะในดวงใจที่น้อง ๆ #Dek63 หลายคนใฝ่ฝันที่จะสอบติดและเข้าไปเรียนให้ได้ แต่บอกเลยว่า คณะแพทยศาสตร์ นอกจากจะเรียนหนักแล้ว ยังต้องมีความตั้งใจและความพยายามเป็นอย่างมาก เพราะคณะนี้นั้นเรียนถึง 6 ปีด้วยกัน สอบเข้าว่ายากแล้ว การเรียนนั้นยากยิ่งกว่า ถ้าใจไม่รักจริงอาจจะเหนื่อยสุด ๆ เลยก็ได้นะครับ โดยคณะแพทยศาสตร์นั้น จะเรียนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของคน เยียวยา รักษาอาการเจ็บป่วยหรือโรคต่าง ๆ ด้วยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวกับการรักษา แต่ถึงแม้ว่าการเรียนนั้นจะหนักหน่วงและยากมาก แต่ถ้าเราได้รักษาใครสักคนให้อาการบาดเจ็บหรือป่วยบรรเทาลงได้ มันก็น่าภูมิใจไม่ใช่น้อยเลยนะครับ

2.6 ปีที่คณะแพทยศาสตร์ เรียนอะไรบ้าง

ปี 1 ปรับพื้นฐาน

โดยจะนำความรู้ที่เคยเรียนมาช่วง ม.4 – 6 มาขมวดเข้าด้วยกัน จะเน้นวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ (ที่ใช้ในการแพทย์) เป็นหลัก แต่ว่าจะเรียนลงลึกมากยิ่งขึ้นและยากขึ้นกว่าเดิม

ปี 2 ก้าวแรกสู่การเป็นแพทย์

เรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ทางการแพทย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาในปีนี้จะได้เรียนเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายและระบบการทำงานของร่างกายอย่างละเอียด เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด ฯลฯ นอกจากนี้ยังจะต้องเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ อีก เช่น วิชาทางกายวิภาค สรีรวิทยา พันธุศาสตร์ เป็นต้น พร้อมทั้งจะได้พบกับอาจารย์ใหญ่และกล่าวคำปฏิญาณ อีกด้วย

ปี 3 ร่างกายของเรานั้นป่วยได้อย่างไร

เน้นการเรียนเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ร่างกายของเราเกิดอาการเจ็บป่วยหรือทำให้ร่างกายผิดปกติ ทั้งการเรียนรู้จักกับเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ สาเหตุของการเกิดโรค เช่น หลักภูมิคุ้มกันวิทยา, ปรสิตวิทยา, พยาธิทั่วไป, เวชศาสตร์ชุมชนฯ เป็นต้น และนอกจากนี้ยังเรียนเกี่ยวกับยาชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาโรค (ระดับพื้นฐาน) อีกด้วย

และที่สำคัญในชั้นปีนี้ยังจะต้องเจอเรื่องยากอีกหนึ่งเรื่องก็คือ การสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 1 ซึ่งจะทำการสอบตอนจบปี 3 เป็นการสอบความรู้ที่เราได้เรียนมาตลอดทั้ง 3 ปี โดยข้อสอบจะเป็นแบบตัวเลือกทั้งหมด แบ่งการสอบออกเป็นรอบเช้า 150 คะแนน และรอบบ่าย 150 คะแนน รวมเป็น 300 คะแนน ถ้าสอบไม่ผ่านในรอบแรกสามารถสอบซ่อมได้อีกหนึ่งรอบ (บอกได้คำเดียวเลยว่าเนื้อหาเยอะมาก น้อง ๆ จะต้องจำและทำความเข้าใจให้ดีเลย)

ปี 4 ก้าวแรกสู่คลินิก

บอกลาการปิดเทอมไปได้เลย เพราะการเรียนในปีนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ได้เรียนรู้บนหอผู้ป่วย (วอร์ด) ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้จากผู้ป่วยโดยตรงเลย โดยจะเป็นการแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อไปดูแลผู้ป่วยตามวอร์ดตลอดทั้งปี ในแต่ละวอร์ดจะมีเนื้อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น วอร์ดสูติ-นรีเวช ก็จะเน้นไปที่โรคของผู้หญิง, วอร์ดเด็กก็จะเน้นไปที่โรคที่เกิดขึ้นกับเด็ก เป็นต้น

นอกจากจะมีการเปลี่ยนวอร์ดตลอดทั้งปีแล้ว ยังต้องเข้าเวรอีกด้วย ซึ่งจะได้รับมอบหมายให้มีการอยู่เวรนอกเวลาราชการ วันเสาร์-อาทิตย์ หรือในเทศกาลหยุดยาว ทำให้เวลาว่างที่เคยมีก็จะหายไป มีเวลาส่วนตัวน้อยลง ดังนั้นควรที่จะต้องหาวิธีในการปรับตัวให้ดีเลย

ปี 5 ทุ่มเทอย่างหนักหน่วงเพื่อเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์แบบ

สำหรับรูปแบบการเรียนในชั้นปีที่ 5 จะเหมือนกับปี 4 คือแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ และวนไปตามวอร์ดต่าง ๆ ตลอดทั้งปี แต่ก็จะมีความแตกต่างกันตรงที่วอร์ดที่วนกันนั้น จะเป็นวอร์ดที่ยังไม่เคยเจอในตอนปี 4 เช่น แผนกจิตเวช, แผนกนิตเวช เป็นต้น (การวอร์ดในแต่ละสถาบันการศึกษาอาจจะมีความแตกต่างกันออกไป ตามที่สถาบันได้จัดเอาไว้)

แต่สิ่งที่สำคัญในชั้นปีนี้ก็คือการเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 2 ด้วย ซึ่งจะทำการสอบตอนเรียนจบชั้นปี 5 เป็นการสอบความรู้ในชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่ได้เรียนมา ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ แบ่งการสอบออกเป็นรอบเช้าและรอบบ่าย รวม 300 คะแนน (ข้อสอบเป็นตัวเลือกแบบขั้นที่ 1)

ปี 6 ชีวิต Extern

ปีสุดท้ายแล้วสำหรับการเรียนแพทย์ น้อง ๆ จะได้ทำงานจริงเหมือนแพทย์ตามโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคนไข้ ทำการรักษาโรค เย็บแผลเอง ทำคลอดเอง ทำการผ่าตัดเล็กเอง (โดยจะมีอาจารย์เป็นผู้ควบคุมดูแลอีกทีอย่างห่าง ๆ) เรียกได้ว่าเป็นปีสุดท้ายที่โหดมากเลยทีเดียว เพราะเมื่อเราขึ้นวอร์ดไปแล้วเราจะต้องทำทุกอย่างเหมือนแพทย์ที่จบไปแล้ว ใช้ความรู้ที่ได้เรียนทั้งหมด และในปีนี้เราสามารถออกไปฝึกที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดได้ด้วย

ที่สำคัญเรายังจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 3 (ขั้นสุดท้าย) ซึ่งจะทำการสอบตอนจบปี 6 ส่วนของข้อสอบนั้นจะไม่ได้เป็นแบบตัวเลือกเหมือนกับ 2 รอบที่ผ่านมา แต่จะเป็นการสอบแบบออสกี้ (OSCE) ซึ่งเป็นการสอบปฏิบัติแบบมีเสียงกริ๊งกำหนดเวลา มีทั้งหมด 30 ฐาน (มีฐานให้เราได้พักเหมือนกันนะ)

3.มีสถาบันไหนบ้างที่เปิดสอนหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล

กลุ่มนักศึกษาแพทยศาสตร์พระบรมราชชนก สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

 

ที่มา : campus-star.com

wikipedia.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *