สมศ.ส่งกฤษฎีกาตีความประเมินมหา’ลัย ได้หรือไม่

สมศ.ส่งเรื่องกฤษฎีกาตีความประเมินมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ เพราะพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 62ไม่ให้สมศ.ประเมินแล้ว ขณะที่กฎหมายอุดมศึกษากำหนดคณะกรรมการอุดมฯต้องประกาศชื่อและสถาบันอุดมศึกษาเลือก สมศ.ถึงจะประเมินได้
อังคารที่ 4 มิถุนายน 2562 เวลา 14.28 น.

วันนี้ (4 มิ.ย.)น.ส.ขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ. ) เปิดเผยว่า  ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มาตรา 49 ระบุให้มีสมศ. มีฐานะเป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์ วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษา ที่มิใช่การจัดการอุดมศึกษา ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  หรือกระทรวงอื่น เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำานึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน ซึ่งหมายความว่าสมศ.ไม่ต้องประเมินสถาบันอุดมศึกษา ขณะที่ก่อนกฏหมายฉบันนี้จะประกาศใช้มีสถาบันอุดมศึกษายังค้างที่ให้สมศ.ไปประเมิน

น.ส.ขนิษฐา กล่าวต่อไปว่า  ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่า สมศ.ยังสามารถทำให้หน้าประเมินสถาบันอุดมศึกษาได้หรือไม่ ทางสมศ.จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ตีความในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ หากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่าสมศ.ไม่สามารถประเมินได้ต้องดูว่าเหตุผลเพราะอะไร หรือถ้าตอบว่าสมศ.ประเมินได้ก็ต้องดูพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 64 การประเมินคุณภาพภายนอกอาจประเมินโดยหน่วยงานต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ หรือ อาจประเมินโดยหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน หรือ หน่วยงานในต่างประเทศ ที่คณะกรรมการมาตรฐานอุดมศึกษาประกาศกำหนดด้วย  ดังนั้นสมศ.ต้องรอดูว่าคณะกรรมการมาตรฐานฯจะประกาศรายชื่อให้สมศ.ประเมินสถาบันอุดมศึกษาได้หรือไม่ และสถาบันอุดมศึกษาเลือกให้สมศ.เข้าไปประเมินหรือไม่ด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/education/712873?fbclid=IwAR1yQfurf1A6HpU4CnReR9blGLwNUx9Rlrb8C8pDtjWVdoogJGOZus3nWiY