ที่นั่ง TCAS 62 เหลืออื้อ มหา’ลัยล้น ห้องเรียนร้าง วิกฤตอุดมศึกษาไทย

 

 

TCAS (Thai University Central Admission System) หรือ ทีแคส ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปี 2562 เผชิญปัญหาซ้ำรอยเดิม ที่นั่งว่างหลักแสน แม้เกิดมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก สุดท้ายทยอยปิดตัว สะท้อนวิกฤตอุดมศึกษาหากไม่ปรับตัวคงถึงการอวสาน

กล่าวสำหรับระบบทีแคสนั้น จะเปิดให้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด 5 รอบ รอบที่ 1 สมัครโดยใช้แฟ้มสะสม (Portfolio) รอบที่ 2 การรับแบบโควตาของมหาวิทยาลัย ใช้คะแนน GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ รอบที่ 3 เป็นรอบรับตรง รอบที่ 4 เป็นการรับแบบแอดมิชชัน และรอบที่ 5 รับตรงแบบอิสระ ของแต่ละมหาวิทยาลัย

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงการณ์ผลสอบคัดเลือกทีแคส รอบ 1 – 4 ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 70 สถาบัน มีสาขาวิชาที่ประกาศรับ 91,340 สาขาวิชา จำนวนรับรวม 5 รอบ มีจำนวน 445,364 ที่นั่ง 

รอบที่ 1 รับ 130,140 ที่นั่ง ยืนยันสิทธิ์ 58,364 ที่นั่ง คิดเป็น 44.85 % 

รอบที่ 2 รับ 99,033 ที่นั่ง ยืนยันสิทธิ์ 51,213 ที่นั่ง คิดเป็น 51.71 % 

รอบที่ 3 รับ 95,124 ที่นั่ง ยืนยันสิทธิ์ 42,229 ที่นั่ง คิดเป็น 44 % 

รอบที่ 4 แอดมิชชัน รับ 91,340 ที่นั่ง ผ่านการคัดเลือกและรอการยืนยันสิทธิ์ 52,315 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ค. 2562)

และสุดท้าย รอบที่ 5 การรับตรงอิสระ รับ 29,727 ที่นั่ง (อยู่ระหว่างการคัดเลือก)

จะเห็นว่าในแต่ละรอบมีจำนวนผู้สละสิทธิ์เป็นจำนวนมาก คำนวณคร่าวๆ มีผู้ยืนยันสิทธิ 4 รอบ ประมาณ 204,121 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 445,364 ที่นั่ง ซึ่งตัวเลขนี้ที่ยังไม่รวมในกลุ่มสถาบันที่ไม่เข้าร่วมกับ ทปอ. ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง

“สถานการณ์ของอุดมศึกษาไทยในปี 2562 มหาวิทยาลัยควรจะมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะดูจากจำนวนนักศึกษาที่รับสมัครผ่านระบบ TCAS 61 ซึ่งมีการรับสมัคร 5 รอบ พบว่าจำนวนนักศึกษาน้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่มหาวิทยาลัยจะรับ อีกทั้งในแต่ละรอบมีการสละสิทธิ์จำนวนมาก ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับมหาวิทยาลัยไทย เพราะหากจำนวนนักศึกษาน้อยลงเรื่อยๆ และหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานต่างชาติ ไม่มีนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียน มหาวิทยาลัยจะเจอวิกฤต” นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) วิเคราะห์สถานการณ์

สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวเกิดจากจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง อันเป็นผลมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ปี 2540 ที่เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ในช่วงเวลานั้นน้อยและลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีน้อยลง จาก 30 ปีก่อน เด็กเกิดเกิน 1,000,000 คนต่อปี ปัจจุบันเด็กเกิดใหม่ 600,000 – 700,000 คนต่อปีเท่านั้น รวมทั้ง การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย 

เป็นสัญญาณชัดเจนว่าหากมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัวย่อมประสบปัญหา กล่าวคือจำนวนนักศึกษาที่ลดลงหมายถึงรายได้ของมหาวิทยาลัยหดหาย บางแห่งหากปรับตัวไม่ทันแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหวก็จำต้องปิด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส ปี 2562 ผลการคัดเลือกในรอบที่ 3 รับตรงร่วม และรอบที่ 4 แอดมิชชัน พบว่า คณะยอดนิยมยังเป็นสายสังคม เช่น บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ มากกว่าคณะสายวิทยาศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คนเลือกเรียนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด 

พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ. วิเคราะห์สาเหตุที่นั่งเหลือเป็นจำนวนมาก นอกจากผลกระทบของอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาส่วนหนึ่งคือมีนักเรียนที่สมัครรอบที่ 1 และรอบที่ 3 ตัดสินใจสละสิทธิ เลือกมาสมัครในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 มากกว่าปี 2561 ผ่านมา ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยทำการเพิ่มจำนวนรับในรอบที่ 3 และที่ 4 ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยดังต่างๆ ยังคงต้องแข่งกันเอง หลักสูตรในที่ตั้งกับวิทยาเขต ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ต้องการเรียนในที่ตั้งมากกว่า ในส่วนนี้ส่งผลให้วิทยาเขตที่เปิดรับสาขาเดียวกันกับที่ตั้งมีที่นั่งเหลือเป็นจำนวนมาก

สำหรับทิศทางการเลือกเรียนของเด็ก พีระพงศ์ วิเคราะห์รายละเอียดเจาะลึกลงว่า รอบที่ 4 สาขาที่มีผู้สมัครจำนวนมาก คือ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่วนรอบที่ 3 เป็นสายสังคมศาสตร์ เนื่องจากมีกลุ่มเด็กเก่งที่รู้ตัวว่าไม่สามารถสมัครคัดเลือกในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) มาสมัคร ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะสอบติดและจำนวนมากสละสิทธิเพื่อลองสมัครรอบถัดไป 

ดังนั้น เด็กที่เรียนระดับกลางๆ จะข้าไปสมัครรอบที่ 4 เพราะเกณฑ์การคัดเลือกมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก รวมถึง ใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (ONET) และเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (GPAX) มาเป็นองค์ประกอบการพิจารณา ต่างกับรอบที่ 3 ที่ใช้คะแนนความถนัดทั่วไป (GAT) คะแนนความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) วิชาสามัญ 9 วิชา ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดเท่านั้น 

อีกทั้งพฤติกรรมของเด็กจะเลือกเรียนสาขาตามกระแสที่พูดถึงในโซเชียลมีเดีย ทำให้เทรนด์การเลือกเรียนมาทางสายสังคมมากกว่าสายวิทยาศาสตร์และการเกษตร ซึ่งเป็นค่านิยมที่สวนทางกับความต้องการของประเทศมาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทปอ. ได้ตั้งทีมวิเคราะห์การเลือกสาขาเรียนของนักเรียน ซึ่งมีผลต่อการกำหนดทิศทางการผลิตบัณฑิต ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

“เคยมีการทำนายว่า ปี 2563 มหาวิทยาลัยจะปิดตัวลงอีก และจะเหลือมหาวิทยาลัยทั้งระบบอยู่ไม่เกิน 120 แห่ง ในจำนวนที่เหลือแต่ละแห่งจะทยอยปิดคณะ/สาขาลงอีกจำนวนมาก” รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) กล่าวสะท้อนวิกฤตอุดมศึกษาโดยยกตัวอย่างการปรับตัวของ มสด. 


“มสด. เอง ที่ผ่านมา เปิดสอนทั้งหมด 60 สาขา ปัจจุบันปิดไปแล้วกว่า 36 สาขา ส่วนใหญ่เป็นสาขานิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์ เหตุผลเพราะไม่มีคนเลือกเรียน ล้าสมัย อย่าง มสด. สาขาครุศาสตร์ เหลือเฉพาะสาขาปฐมวัย และประถมศึกษา และเน้นสอนในหลักสูตรคู่ขนานมากขึ้น เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้รอบด้าน เพราะอนาคตการเรียนเพียงศาสตร์เดียวไม่เพียงพอต่อการทำงานในอนาคต 

“มหาวิทยาลัยเองต้องปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตรที่จะต้องมีความทันสมัย ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลายปีที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากกว่า 200 แห่ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปิดไปแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ปัจจุบันเหลือมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 150 แห่ง” รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ กล่าว

เกิดสถานการณ์จำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาลด ห้องเรียนร้าง มหาวิทยาลัยทะยอยปิดตัว ใบปริญญาบัตรเสื่อมค่า สอดคล้องกับทิศทางที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยคาดการณ์ไว้ว่า อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้ามหาวิทยาลัยไทยจำนวน 3 ใน 4 จะไปไม่รอด

ด้านนักวิชาการด้านการศึกษา ศ.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิตประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ทางสารัตถะ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ปัจจุบันเด็กนักเรียนเลือกเรียนในคณะที่จบมามีงานทำแน่นอน ต่างอดีตที่เลือกเรียนเพื่อต้องการทำงานราชการ ซึ่งระบบราชการทุกวันนี้ปรับโครงสร้างลดจำนวนข้าราชการลง จึงทำให้หันไปเลือกเรียนสายอาชีพเลี่ยงตกงาน วางแผนชีวิตแบบทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยมากขึ้น 

มหาวิทยาลัยต่างชาติระดับโลกมาเปิดหลักสูตรออนไลน์ เพื่อดึงนักศึกษาสร้างทางเลือกให้คนวัยเรียนมากขึ้น ระบบมหาวิทยาลัยออนไลน์ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่ เช่น บางสถาบันที่มีชื่อเสียงมากของสิงคโปร์ ดึงดูดผู้เรียนทุกกลุ่มด้วยการเปิดโอกาสว่าสามารถเรียนได้ โดยไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาจบชั้นมัธยม ใครก็ได้ที่ต้องการเรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจนครบจบการศึกษาได้ มีระบบออกแบบไว้รองรับ หลายประเทศมีการเรียนออนไลน์ที่แพร่หลาย เพราะตอบโจทย์คนวัยทำงาน สำหรับในประเทศไทยก็เริ่มมีบางสถาบันจัดหลักสูตรนี้อยู่ ซึ่งยังต้องมีหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแลและรับรอง 

อีกทั้ง อุดมศึกษาของไทยที่ผ่านมาไม่เน้นคุณภาพ เน้นธุรกิจกันมากไปมีการเปิดสอนนอกสถานที่กันมาก มีหลักสูตรพิเศษต่างๆ เน้นแต่ปริมาณหารายได้จากค่าเล่าเรียน ต่างจากในหลายประเทศการจะขออนุมัติเปิดหลักสูตรไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ญี่ปุ่น ถ้าจะขอเปิดปริญญาเอกสาขาใดสาขาหนึ่งรัฐบาลต้องอนุมัติ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางต่างๆ เป็นต้น

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเหตุผลที่มหาวิทยาลัยไทยต้องทบทวนและปรับตัว ไม่เช่นนั้นคงต้องปิดตัวไปตามๆ กัน

ที่มา https://mgronline.com/daily/detail/9620000051779?fbclid=IwAR2JL9hN804NHgHR32KyaCJ9UhjhF83GQjSDuW37ckjckakvZHQcAipAG5Q